นักไวรัสวิทยา โชว์ผลวิจัยออสเตรเลีย เปรียบเทียบคุณสมบัติไวรัส BA.5 กับ BA.1-BA.2

11 ก.ค.2565-ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า ทีมวิจัยในออสเตรเลียได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของไวรัส BA.5 เทียบกับ BA.1 และ BA.2 ในห้องปฏิบัติการ และ พบว่าไวรัส BA.5 มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไปจากเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้านซึ่งก่อนหน้านี้หลายทีมวิจัยพบว่า โอมิครอน โดยเฉพาะ BA.1 อาจจะติดเซลล์ปอดได้น้อยกว่าเดลต้าเพราะโอมิครอนใช้วิธีเข้าเซลล์ไม่เหมือนเดลต้า ซึ่งเซลล์ปอดจะเข้ายากกว่าเดิมด้วยกลไกที่ BA.1ใช้… เป็นการเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่ช่วยให้ความรุนแรงของไวรัสลดลงได้ในระดับนึง

ผลการศึกษาของทีมออสเตรเลียพบว่า BA.5 อาจจะปรับตัวเองให้กลับมาใช้กลไกเดิมเหมือนเดลต้า หรือ ใช้กลไกใหม่ที่ผสมๆกันระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน ที่ส่งผลให้เข้าเซลล์อย่างเซลล์ปอดได้ง่ายขึ้น…เป็นข้อมูลที่บอกว่า BA.1 เปลี่ยนได้ BA.5 ก็เปลี่ยนกลับได้ ไม่มีอะไรที่คาดการณ์ได้กับไวรัสที่มีโอกาสติดโฮสต์ได้มหาศาลขนาดนี้ กลไกใดๆที่ช่วยให้ไวรัสอยู่รอด เพิ่มจำนวนได้ดีที่สุด ไวรัสจะปรับตัวเองไปทางนั้น ความรุนแรงเป็นของแถมจะมากขึ้นหรือน้อยลงตอบอะไรไม่ได้

อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ ทีมวิจัยเทียบปริมาณไวรัสที่ติดเชื้อได้ต่อค่า RT-PCR ที่นิยมวัดกันเป็น Ct (จำนวนรอบของปฏิกิริยาที่จำเป็นต้องใช้ในการให้ผลบวก) ตัวเลขง่ายๆนะครับสำหรับ BA.2 (จุดสีเขียว) ค่า Ct ที่ 20 อาจจะมีไวรัสที่ติดเชื้อไปต่อได้ 100 อนุภาค(ที่เหลือ RNA อาจจะมาจากซากเชื้อ) แต่ BA.5 (จุดสีม่วง) ค่า Ct ที่ 20 เหมือนกัน อนุภาคไวรัสที่ยังคงความสามารถในการติดเชื้อได้มีสูงถึง 10,000 อนุภาค หรือมากกว่าเดิม 100 เท่า ซึ่งเป็นลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสตัวก่อนเกิดโอมิครอน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งคุณลักษณะของไวรัสที่ปรับตัวย้อนกลับไปเหมือนสายพันธุ์เก่ากว่าโอมิครอน

ตั้งแต่โควิดอุบัติมาทำให้ผมเชื่อว่าการทำนายหรือคาดการณ์ไวรัสในอนาคตว่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้คงจะเป็นการใช้องค์ความรู้เดิมจากไวรัสตัวอื่นมาใช้ เมื่อองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกวันและขัดจากความเชื่อเดิมๆว่าไวรัสจะปรับเปลี่ยนไปแบบเดิมที่เชื่อกัน ถ้าเราปรับทันจะช่วยให้ตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน แต่ถ้ายังยึดติดกับอะไรเดิมๆบางครั้งอาจจะไม่มีประโยชน์ที่จะยอมรับอะไรภายหลังครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018

การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้

'นักไวรัสวิทยา' สรุป 3 สายพันธุ์ 'โรคฝีดาษลิง' ความรุนแรงอาจขึ้นอยู่กับช่องทางการติดเชื้อ

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า