11 ก.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 385,329 คน ตายเพิ่ม 484 คน รวมแล้วติดไป 560,585,603 คน เสียชีวิตรวม 6,372,845 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก ออสเตรเลีย และไต้หวัน เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 68.5 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.53
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…อัปเดต Omicron BA.5
“BA.5 มีแนวโน้มติดเชื้อในเซลล์ปอดได้มากขึ้นและแพร่ได้ไวกว่าสายพันธุ์ย่อยเดิม (BA.1, BA.2)”
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการ ลงใน medRxiv เมื่อวานนี้ 10 กรกฎาคม 2565
สาระสำคัญคือ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นมีกลไกการเข้าสู่เซลล์ที่ต่างไปจาก BA.1, BA.2 โดยผ่านตัวรับ TMPRSS2 คล้ายคลึงกับสายพันธุ์เดลตา
การใช้กลไกตัวรับ TMPRSS2 นี้สะท้อนแนวโน้มที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างได้มากขึ้น คล้ายกับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดมาก่อนหน้า Omicron
นี่อาจใช้เป็นอีกหนึ่งคำอธิบายสำหรับปรากฏการณ์ที่เราเห็นการติดเชื้อ BA.5 แล้วทำให้มีอัตราการเข้ารับการดูแลรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
การระมัดระวังตัว ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่าการใช้ชีวิตด้วยความประมาท
โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก…
แม้ฉีดวัคซีนจะช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่หากไม่ป้องกันตัวให้ดี ก็ยังติดเชื้อได้ ยังป่วยรุนแรงได้ เสียชีวิตได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติอย่าง Long COVID ตามมา
สถานะปัจจุบัน ความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับ Long COVID นั้นยังไม่แจ่มชัดเรื่องธรรมชาติของโรค รวมถึงการรักษาและการป้องกัน แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังคอนเฟิร์มว่า Long COVID is real ซึ่งส่งผลทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาวได้
ใช้ชีวิตได้ ทำมาหากิน ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียนได้ แต่ต้องมีสติ ไม่ประมาท และป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ควรงมงายกับวาทกรรมแบบดราม่าว่า “ยอมติดดีกว่ายอมอดตาย” เพราะปัจจุบันรัฐเค้าเปิดให้ใช้ชีวิตทำมาหากินได้
แต่ต้องคอยเตือนให้ป้องกัน เพื่อให้รักตัวเอง ป้องกันตัวเองขณะทำมาหากินด้วย จะได้อยู่รอดปลอดภัย ทำมาหากินไปได้นานๆ ไม่ต้องเจ็บป่วยจนเสียงาน เสียการ เสียเงิน และพาลนำเชื้อไปแพร่ให้ครอบครัว ลูกหลาน และคนสูงอายุในบ้าน
ควรระลึกไว้ว่า หากตัวเองติด ไม่ใช่แค่ตัวเองที่เป็น แต่คนใกล้ชิดและคนอื่นในสังคมก็พลอยที่จะต้องรับผลกระทบไปด้วย
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้
อ้างอิง Aggarwal A et al. SARS-CoV-2 Omicron BA.5: Evolving tropism and evasion of potent humoral responses and resistance to clinical immunotherapeutics relative to viral variants of concern. medRxiv. 10 July 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป