“นพ.ธีระ” เผยยอดติดเชื้อไทยยังเป็นที่ 1 ในอาเซียน เผยมติของคณะกรรมการวิชาการภายนอกของ US CDC มีมติเอกฉันท์ให้ปรับสูตรไฟเซอร์ให้เด็ก 5-11 ปี
03 พ.ย.2564 - ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทะลุ 248 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 337,144 คน ตายเพิ่ม 6,006 คน รวมแล้วติดไปรวม 248,208,588 คน เสียชีวิตรวม 5,027,301 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ตุรกี และยูเครน จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.66 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 96.42
...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 7,574 คน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก หากรวม ATK อีก 2,113 คน จะขยับเป็นอันดับ 10 ของโลก และไม่ว่าจะเป็นแค่ยอดที่รายงานทางการ หรือจะรวม ATK ก็ยังคงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
...อัพเดตเกี่ยวกับวัคซีนในเด็ก 5-11 ปี ล่าสุดเมื่อคืนนี้ Advisory committee on immunization practice (ACIP) ซึ่งเป็นคณะกรรมการวิชาการภายนอกของ US CDC ได้ทำการพิจารณาเรื่องวัคซีนในเด็ก 5-11 ปี
ผลโหวตชัดเจน 14:0 โดยได้พิจารณาข้อมูลวิชาการอย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ความปลอดภัย ประโยชน์ต่อตัวบุคคลและสังคม มีมติว่าควรให้วัคซีน Pfizer/Biontech ขนาด 10 ไมโครกรัม (ขนาดต่ำกว่าผู้ใหญ่ 1/3) 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
ทั้งนี้มีข้อมูลหลายอย่างที่น่าสนใจและนำมานำเสนอในที่ประชุม เช่น การเปรียบเทียบให้เห็นอัตราการนอนโรงพยาบาล และอัตราการตายจากโรคอื่นๆ ที่เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เปรียบเทียบกับโรคโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ จากการที่เด็กๆ ต้องติดโรคโควิด-19 เช่น เกิดอาการคงค้างที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Long COVID, การต้องหยุดเรียน การติดเชื้อแพร่เชื้อภายในครอบครัวจนทำให้สมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต รวมถึงผลกระทบด้านอื่นๆ อีกมาก ผ่านขั้นตอนของ ACIP ไปแล้ว จะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ US CDC เพื่อนำไปสู่การประกาศนโยบายเพื่อใช้ในอเมริกา ซึ่งคาดว่าคงจะใช้เวลาถัดจากนี้ไปอีกไม่กี่วัน
ทั้งนี้ขนาดของวัคซีนที่ใช้ในเด็กเล็กนั้นจะน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยให้เหตุผลคือปรับตามระดับวุฒิภาวะ (maturity) ของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ไม่ได้ปรับตามส่วนสูงหรือน้ำหนักแบบยาทั่วไป
ประเทศไทยคงต้องมีการติดตามข้อมูล และปรับนโยบายวัคซีน ระบบการจัดซื้อจัดหา เพื่อให้ได้วัคซีนสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นที่ยอมรับของสากล ด้วยรักและห่วงใย
อ้างอิง ACIP Presentation Slides: November 2-3, 2021 Meeting. US CDC.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'
หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง
'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล