หมอธีระชี้ BA.5 มาแน่ ย้ำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และใช้ชีวิตอย่างมีสติ ยกผลวิจัยเมืองผู้ดีเชื้อโควิด-19 สามารถแพร่ได้ไกลถึง 2 เมตร หน้ากากอนามัยสำคัญมาก
30 มิ.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ว่า ทะลุ 551 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 666,495 คน ตายเพิ่ม 1,189 คน รวมแล้วติดไป 551,459,345 คน เสียชีวิตรวม 6,355,191 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 68.25 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 53.57
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดต BA.5 จาก WHO
องค์การอนามัยโลกได้ออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สถานการณ์ระบาดในสัปดาห์ล่าสุดนั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยจำนวนการติดเชื้อใหม่ทั่วโลกสูงขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 18% และจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 3% ทั้งนี้คาดว่าจำนวนที่รายงานนั้นต่ำกว่าความเป็นจริงเนื่องจากบางประเทศมีการตรวจคัดกรองโรคลดลง เปลี่ยนแปลงระบบรายงาน หรือการติดตามเฝ้าระวัง
Omicron ยังเป็นสายพันธุ์หลักที่ครองการระบาดทั่วโลกถึง 94% แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ การเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ย่อยของ Omicron เพราะจากการตรวจสอบสายพันธุ์ พบว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่เคยครองการระบาดหลักทั่วโลก ได้ลดลงจากเดิม 30% เหลือเพียง 25%, โดยมี BA.2.12.1 ก็ลดลงจากเดิม 18% เหลือ 11% ในขณะที่ BA.4 เพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 12% และที่หนักสุดคือ BA.5 ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงเกือบ 2 เท่า คือจาก 28% ในสัปดาห์ก่อนหน้า มาเป็น 43% ในสัปดาห์ล่าสุด
ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นชัดเจนว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญการระบาดระลอกล่าสุดจาก Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 ซึ่งเชื่อกันว่ามีความแข็งแรง (Viral fitness) สูงกว่าทุกสายพันธุ์ที่เคยระบาดมา โดยสามารถแพร่ได้เร็วขึ้น และดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีน หรือจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน รวมถึงดื้อต่อยาแอนติบอดี้หลายชนิดที่ใช้รักษา
อาวุธที่เราทุกคนมีตอนนี้มี 2 ชิ้นหลักคือ
1. "การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น" โดยมุ่งหวังที่จะลดโอกาสป่วยรุนแรง และลดโอกาสเสียชีวิต
2. "การใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่ดำรงชีวิตประจำวัน" ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ เลี่ยงการไปสถานที่แออัดระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงที่ต้องคลุกคลีใกล้ชิดคนอื่น เช่น การไปปาร์ตี้สังสรรค์ การกินข้าวร่วมกัน
โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "การใส่หน้ากากเสมอ" เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน มีการติดต่อพบปะกันมาก ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน และเดินทางไปมาจำนวนมาก โอกาสที่จะเว้นระยะห่าง หรือหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดจะมีโอกาสเป็นไปได้ยาก
ล่าสุดวารสารทางการแพทย์ระดับโลกอย่าง British Medical Journal ก็ได้เผยแพร่ผลการทบทวนข้อมูลวิจัยอย่างเป็นระบบ ของ Duval D และคณะจากสหราชอาณาจักร วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
สาระสำคัญชี้ให้เห็นว่า โรคโควิด-19 นั้นมีโอกาสแพร่ผ่านทางอากาศในระยะไกล (long distance airborne transmission) กว่า 2 เมตรได้ในสถานที่ต่างๆ แม้จะไม่ใช่สถานพยาบาล เช่น ร้านอาหาร สถานที่ทำงาน โบสถ์(ที่มีการร้องเพลง) ขนส่งสาธารณะ ฯลฯ โดยมีหลักฐานจากการสอบสวนโรคในที่นั้นๆ ตอนเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน
ทั้งนี้การแพร่ผ่านทางอากาศระยะไกลนั้นเกิดขึ้นได้หากสถานที่นั้นๆ มีการระบายอากาศไม่ดี รวมถึงมีกิจกรรมเสี่ยง เช่น ร้องเพลง ตะโกนหรือพูดเสียงดัง ข้อมูลวิชาการนี้สะท้อนให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัวในชีวิตประจำวัน ทั้งระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัว ...ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
โควิดรายสัปดาห์ ป่วยนอนโรงพยาบาล 557 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2567 ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)
'หมอยง' ช้ำถูกวิกิพีเดียใส่ข้อมูลเท็จซ้ำเข้าไปแก้ไขไม่ได้
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา