ศูนย์จีโนมฯ ชี้กลุ่ม 608 - ผู้มียีนกลายพันธุ์ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

27 มิ.ย. 2565 – ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ว่า คำถามที่สอบถามศูนย์จีโนมฯ เกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 และไวรัสฝีดาษลิง

คำถาม-ตอบที่ 6

Q6: เราจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อยู่อีกหรือไม่

A6: จำเป็นโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง “608” และผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ (gene variant)

รายละเอียด

-จากข้อมูลทางคลินิกพบว่ากลุ่มเปราะบาง “608” มักมีอาการโรคโควิด-19 ที่รุนแรงมากกว่าคนทั่วไป จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ซึ่งบางรายอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต รวมทั้งควรได้รับยาต้านไวรัสในทันทีเมื่อติดเชื้อ ส่วนการป้องกันการติดเชื้อนั้นหน้ากากอนามัยจะให้ผลดีที่สุด

-กลุ่ม 608 ประกอบด้วยกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวในกลุ่ม 7 โรค ได้แก่ I.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง II.โรคหัวใจและหลอดเลือด III.โรคไตวายเรื้อรัง IV.โรคหลอดเลือดสมอง V.โรคอ้วน VI.โรคมะเร็ง VII.โรคเบาหวาน VIII.และ+1 คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์

-จากข้อมูลทางจีโนมมนุษย์พบว่าในกรณีของผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ (gene variant) ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ “อันดับที่สี่” – รองจาก อายุ โรคอ้วน และเพศ

ผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งจะง่ายหรือมีแนวโน้ม (prone) ต่อการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำและเมื่อติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง และบางรายถึงขั้นเสียชีวิตทั้งที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง “608” เช่น อายุน้อยกว่า 50 ปีและไม่มีโรคประจำตัวใดๆ (susceptible to severe/ life-threatening COVID-19)

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯร่วมมือกับกลุ่ม “นักวิจัยนานาชาติ” ที่ร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมจีโนมมนุษย์ของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันประกอบด้วยโครโมโซม 23คู่ จำนวน3,000 ล้านเบส โดยมียีนทั้งหมดจำนวน 25,000 ยีนที่สร้างโปรตีน พบว่ากว่า 20 % ของผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 ที่มีอาการปอดบวมรุนแรง ในร่างกายกลับมีการสร้าง “แอนติบอดีต่อร่างกายตนเอง (Auto-antibodies)” เข้าทำลาย “อินเตอร์เฟียรอน” และปริมาณของ Auto-antibodies จะถูกสร้างเพิ่มขึ้นตามอายุและจะพบมากในผู้มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ส่วนอีกประมาณ 3.5 เปอร์เซ็นต์พบว่าเป็นผู้ติดเชื้อที่มียีนกลายพันธุ์มาแต่กำเนิด ทำให้ร่างกายสร้างอินเตอร์เฟียรอนได้เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับคนปรกติ หรือไม่สร้างเลย (inborn errors of immunity) ซึ่งในทั้งสองกรณี (Auto-antibodies และ inborn errors of immunity) ส่งผลให้ร่างกายผู้ติดเชื้อผลิตอินเตอร์เฟียรอนลดลง ทำให้ไวรัสสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีอะไรมายับยั้งก่อให้เกิดอาการติดเชื้อที่รุนแรง (ภาพ 1-2)

ตัวอย่างที่ชัดเจนของยีนมนุษย์ที่มีการกลายพันธุ์ (human genetic/genomic variation) คือ ยีนที่มีชื่อว่า “LZTFL1” ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีโอกาสล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 เกิดอาการปอดอักเสบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในอัตราที่สูงกว่าคนทั่วไป 2 เท่า ประชากรในยุโรบ เช่นประเทศโปแลนด์พบยีน LZTFL1 กลายพันธุ์ในประชากรถึงร้อยละ 14 ประชากรในเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศ มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 60 ประเทศในเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น หรือลงมาทางใต้เล็กน้อย เช่นที่ เวียดนาม พบยีน LZTFL1 กลายพันธุ์น้อย ในขณะที่ข้อมูลจากการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยสุขภาพดีกว่า 1,000 คน ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้ดำเนินการไปแล้ว พบว่าใน “ประชากรไทยมียีน LZTFL1 อยู่บ้างร้อยละ 7” ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 ของในแต่ละประเทศที่กล่าว (ภาพ3)

ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลอันสำคัญที่ผู้สูงวัยและผู้ที่มียีนบางตำแหน่งกลายพันธุ์ที่ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเนื่องจากการฉีดวัคซีนรวมเข็มกระตุ้นที่ช่วยให้ผู้ติดเชื้อไม่ป่วยรุนแรงและเสียชีวิต โดยสามารถชดเชย (compensate) การกลายพันธุ์ตั้งแต่เกิดของผู้ติดเชื้อที่ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน (primary immunodeficiency) และการสร้าง Auto-antibodies ต่อต้านอินเตอร์เฟียรอนในผู้สูงวัยอันส่งผลให้เกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างรุนแรง

หมายเหตุ เมื่อไวรัสรุกรานเข้าไปในร่างกายของผู้ติดเชื้อ “จีโนมบางส่วนของไวรัส” จะไปกระตุ้นให้เซลล์ผู้ติดเชื้อ เช่นเซลล์ปอดสร้างสารโปรตีนขึ้นมาต่อต้านในทันทีอย่างไม่จำเพาะ(ต่อต้านไวรัสทุกสายพันธุ์) ซึ่งเรียกกันว่า “อินเตอร์เฟียรอน (Interferon: IFN)” โดยมีฤทธิ์ขัดขวางการเพิ่มจำนวนของไวรัส (ภาพ 3) อินเตอร์เฟียรอนจะเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาก่อน“แอนติบอดี”เพื่อจัดการกับไวรัส ทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง

ผู้ที่มียีนกลายพันธุ์มาแต่กำเนิดส่งผลให้ไวต่อการติดเชื้อมากกว่าคนปรกติ (inborn errors of immunity) โดยจะก่อให้เกิดอาการของโรคที่เกิดการอักเสบด้วยตัวเอง โรคภูมิแพ้ หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเองร่วมด้วย ปัจจุบันพบแล้ว ประมาณ 431 อาการของโรค

ในอนาคตหากมีงานวิจัยออกมายืนยันเป็นจำนวนมาก อาจมีการให้อินเตอร์เฟียรอนแก่ผู้ที่มีภาวะ “อินเตอร์เฟียรอนบกพร่อง” ก็เป็นได้

-วัคซีนเข็มกระตุ้นรุ่นใหม่ที่ผู้ที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอาจรอฉีด

ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะคงได้ประมาณ 3-4 เดือน ส่วนภูมิคุ้มการจากการติดเชื้อตามธรรมชาติอาจคงอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน -1 ปี จากนั้นภูมิทั้งสองก็จะลดประสิทธิภาพลง ปัญหาในอีกลักษณะคือไวรัสโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่นที่นำมาผลิตเป็นวัคซีน ร่างกายจึงสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านหรือปกป้องการติดเชื้อไม่ทันการ คาดว่าปัญหาดังกล่าวอาจถูกแก้ไขลงได้ระดับหนึ่งเมื่อมีการนำวัคซีน “bivalent vaccine” ซึ่งใช้ทั้งไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่นและโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) เป็นต้นแบบอยู่ในเข็มกระตุ้นเข็มเดียว ข้อมูลจากบริษัทผู้ผลิตพบว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้ต่อ BA.4 และ BA.5 สูงขึ้นถึง 5 เท่า ในขณะที่กระตุ้นภูมิต่อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม (B.1.1.529) สูงถึง 8 เท่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

คู่มือฉบับเร่งด่วนที่เจ้าของควรรู้ 'ไข้หวัดนก' ในแมว-สุนัข

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "31 รัฐในสหรัฐ เผชิญไข้หวัดนกในแมวและสุนัข