ศบค. เผยเปิดเทอมไม่ต้องตรวจ ATK แบบปูพรม หากพบเชื้อให้สอบสวนโรคทันที

1 พ.ย.2564 - ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงตอนหนึ่งว่า วันที่ 1 พ.ย. เป็นวันที่หลายโรงเรียนเปิดเทอม สิ่งที่ครูและผู้ปกครองต้องปฏิบัติอย่างไรนั้น ตามข้อกำหนดฉบับที่ 34 ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศไว้ เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน ระบุเรื่องของการคัดกรองและตรวจหาเชื้อโควิดในโรงเรียน คือ ต้องให้คณะกรรมการโรงติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกทม.กำหนดได้ตามความเหมาะสมของการระบาดในพื้นที่แยกระดับอำเภอและจังหวัด  ข้อสรุปของแต่ละพื้นที่จะมีหน่วยงานคือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่จะต้องประชุมพิจารณาให้มีการตรวจ ATK รวมถึงความถี่ในการตรวจ ซึ่งต้องพิจารณาในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า นอกจากระดมฉีดวัคซีนให้กับครูร่วมถึงบุคลากรในสถานศึกษาแล้วจะมีการประเมินตนเอง ไทยเซฟไทย ของกรมอนามัย ตรงนี้ครูต้องประเมินตนเองว่ามีไข้ มีอาการผิดปกติระบบทางเดินหายใจหรือไม่ รวมไปถึงประวัติผู้ใกล้ชิดหรือเดินทางไปสัมผัสบุคคลเสี่ยง มีคนในครอบครัวติดเชื้อหรือไม่ และขอให้ผู้ปกครองประเมินตนเองทุกวันเช่นกัน 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนการตรวจ ATK นั้น เน้นย้ำว่าไม่ใช่การตรวจ ATK นักเรียนทุกคน ไม่จำเป็นต้องตรวจแบบปูพรม ไม่จำเป็นต้องตรวจอาทิตย์ละ 2 ครั้ง แต่จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ ทั้งประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยที่แต่ละอำเภอแต่ละจังหวัดนั้นอาจจะมีประกาศที่แตกต่างกัน ซึ่งในแต่ละโรงเรียนกันไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดเดียวกันจะยึดมาตรฐานเดียวกันไม่ได้

“ความเห็นของกรมควบคุมโรคที่ได้มีการหารือในที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ในการตรวจ ATK เด็กไม่จำเป็นต้องตรวจปูพรมหรือเป็นระยะทุกสัปดาห์ การตรวจแนะนำให้ตรวจในนักเรียนกลุ่มเสี่ยงอย่างมีประวัติที่คนในบ้านติดเชื้อก็จะต้องให้นักเรียนคนนั้นตรวจ ATK ดูว่าเป็นผู้ติดเชื้อด้วยหรือไม่ หรือข้อแนะนำที่ดีที่สุดคือ หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโรงเรียนก็อาจจะใช้มาตรการขอให้นักเรียนหยุดเรียน ซึ่งอาจจะต้องสื่อสารกับผู้ปกครอง และหากมีการติดเชื้อในครอบครัวเด็กอาจต้องอยู่บ้านกักตัวให้ครบ 14 วัน”พญ.อภิสมัย กล่าว

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า และขอเน้นย้ำในเรื่องของมาตรการทางสาธารณสุขในโรงเรียน โดยจำเป็นต้องจัดเก้าอี้ โต๊ะให้มีการนั่งเว้นระยะห่าง จัดสถานที่ให้มีความเหมาะสม อากาศระบายถ่ายเท รวมทั้งการทำกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มอย่าง เช่นกีฬาหรือกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เด็กหลายๆ ชั้นมาร่วมกิจกรรม อาจจำเป็นต้องงดกิจกรรมไว้ก่อน

ฉะนั้น เมื่อมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดแล้วหากเกิดการติดเชื้อในโรงเรียน ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการปิดโรงเรียนอาจจะไม่ใช่คำตอบ แต่จะต้องมีการสอบสวนโรค ยกตัวอย่าง เช่น มีการติดเชื้อของนักเรียนคนหนึ่งมีการติดต่อไปยังเพื่อนอีกห้อง ซึ่งอาจจะยังไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน แต่ขอให้มีการสอบสวนโรคอย่างทันท่วงที เข้าไปตรวจสอบว่าเป็นชั้นเรียนใด มีคุณครูคนใดที่เข้าไปสอนหรือมีความเสี่ยง การสอบสวนโรคจะทำให้เกิดแนวทางมาตรการในการครอบคลุมไปที่ชั้นเรียนที่มีความเสี่ยง หรือกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยง ก็จะเลือกปิดเฉพาะชั้นเรียน หรือเฉพาะครูที่มีความเสี่ยงในการสัมผัส 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เชียงใหม่' พบผู้ป่วยอาการลองโควิดเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่อ่อนเพลีย หายใจลำบาก ไอ

นายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นสถานการณ์หลังการระบาดใหญ่ หรือ Post-Pandemic ซึ่งยังคงพบการระบาดกระจายในชุมชนอยู่บ้าง ตามความหนาแน่นของประชากรในแต่ละพื้นที่