ผลวิจัยชี้ผู้ป่วยลองโควิดระบบประสาท แค่ 33.3% หายใน 6 เดือน

17 มิ.ย. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 504,270 คน ตายเพิ่ม 1,011 คน รวมแล้วติดไป 542,937,367 คน เสียชีวิตรวม 6,337,534 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ไต้หวัน ฝรั่งเศส อิตาลี และบราซิล เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 73.83 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 55.88

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…อัปเดตความรู้ Long COVID

1.ลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตัน การติดเชื้อไวรัสระยะยาว และระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ คือสามสาเหตุหลักที่อธิบาย Long COVID

วารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลก Science ฉบับวันที่ 16 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ได้นำเสนอบทความสรุป 3 ทฤษฎีหลักที่อธิบายการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ในปัจจุบัน ได้แก่ การเกิดลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตันในระบบต่างๆ ของร่างกายภายหลังจากการติดเชื้อ (Tiny blood clots), การคงอยู่ของไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสในเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย (Viral persistence), และความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง (Haywire immune system)

2.ผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการทางระบบประสาทนั้น มีเพียง 1/3 ที่หายใน 6 เดือน

Shanley JE และคณะจากมหาวิทยาลัย University of California, San Diego ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอผลการศึกษาติดตามผู้ป่วย Long COVID ที่มีอาการทางระบบประสาท จำนวน 56 คน และติดตามดูแลไปตั้งแต่ตุลาคม 2563 ถึงตุลาคม 2564

สาระสำคัญคือ มีเพียง 33.3% ที่หายในระยะเวลา 6 เดือน

…ความรู้ทางการแพทย์ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ชี้ให้เห็นว่าปัญหา Long COVID เป็นเรื่องสำคัญมาก และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิต การดูแลตนเอง และการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพ ทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ย้ำดังๆ ว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ตัวเลขทางการที่รายงานไม่ได้สะท้อนสถานการณ์การติดเชื้อที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด ความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตมีมาก การใส่หน้ากากคืออาวุธสำคัญที่สุดที่จะป้องกันตัวของทุกคน

ใช้หน้ากากเป็นอวัยวะที่ 33 ของร่างกายให้คุ้นชินเป็นวิถีชีวิตใหม่ จะช่วยให้ลดความเสี่ยง และมีโอกาสประคับประคองให้เรารอดปลอดภัยจนกว่าจะผ่านสถานการณ์ระบาดทั้งโลกไปด้วยกัน

อ้างอิง

1.Couzin-Frankel J. Clues to Long COVID. Science. 16 June 2022

2.Shanley JE et al. Longitudinal evaluation of neurologic-post acute sequelae SARS-CoV-2 infection symptoms. Annals of Clinical and Translational Neurology. 15 June 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอมนูญ’ เผยข้อมูลระบาดวิทยา พบ ‘โควิด-ไข้หวัดใหญ่’ ยังแพร่เชื้อต่อเนื่อง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ยังมีต่อเนื่อง ไวรัสไข้หวัดใหญ่กำลังพุ่งสูงขึ้นตามฤดูกาล เข้าฤดูฝนแล้ว เชื้อไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิดจะกลับมาระบาดหนักอีก

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน