ยังไม่ใช่เวลาถอดแมสก์! แนะ 3 สิ่งที่ควรทำรับมือ 'ลองโควิด'

27 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 530 ล้านคนไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 524,556 คน ตายเพิ่ม 1,179 คน รวมแล้วติดไปรวม 530,082,845 คน เสียชีวิตรวม 6,307,296 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 69.42 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 62.84 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.89 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 21.54

…สถานการณ์ระบาดของไทย

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 14.56% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

…อัพเดตสถานการณ์การเสียชีวิตเฉลี่ยรายสัปดาห์ต่อประชากรล้านคน

ข้อมูลจาก Ourworldindata ชี้ให้เห็นว่าไทยเรายังมีอัตราตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทวีปเอเชีย

นอกจากนี้หากจำแนกตามรายได้ของแต่ละกลุ่มประเทศ จะพบว่าอัตราตายเราก็ยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle income countries) อีกด้วย

…ประเมินเรื่อง Long COVID

จากความรู้ล่าสุดที่ได้จากงานวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่เผยแพร่วันก่อน ซึ่งพบภาวะ Long COVID ในประชากรวัยผู้ใหญ่ตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เฉลี่ย 1/5 หรือราว 20% และหากสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสเสี่ยงเป็น Long COVID มากขึ้น เป็น 1/4 (25%)

ในขณะที่งานวิจัยในกลุ่มประชากรขนาดใหญ่อีกชิ้นก็พบว่า การฉีดวัคซีนนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Long COVID ได้ราว 15%

นำมาประเมินสถานการณ์ในประเทศ ซึ่งเรามีจำนวนคนติดเชื้อ (รวม ATK) ไปแล้วกว่า 6.4 ล้านคน

แม้ลองหักลบจำนวนเด็กหรือเยาวชนที่ติดเชื้อไป และหวังใจว่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในประเทศเราเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้ว

จำนวนคนที่จะประสบภาวะ Long COVID อาจมีสูงถึง 1,000,000 คน

สิ่งที่ควรทำคือ

หนึ่ง ทุกภาคส่วนควรช่วยกันกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ รวมถึงคนที่ติดเชื้อแล้วก็ควรป้องกันไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ

สอง รัฐควรลงทุนสนับสนุนทรัพยากรให้เพียงพอสำหรับระบบสุขภาพ เพื่อจัดบริการให้คำปรึกษา ดูแลรักษา และฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดความรู้ทั้งเรื่องธรรมชาติของโรค การรักษา และการจัดทำระบบฐานข้อมูลระดับชาติ

สาม ประชาชนที่เคยติดเชื้อมาก่อน ควรหมั่นอัพเดตความรู้อย่างสม่ำเสมอ และประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยและดูแลตั้งแต่เนิ่นๆ

โควิด…ไม่ได้จบที่หาย แต่ติดแล้วป่วยได้ ตายได้ ที่สำคัญคือเกิดภาวะผิดปกติระยะยาว Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และประเทศ

ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด… ยังไม่ใช่เวลาที่จะถอดหน้ากาก ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่หลงไปกับคำลวงหรือกิเลส ควรป้องกันตัวให้เป็นกิจวัตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป

สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว

สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ

ไทยติดโควิดรอบสัปดาห์ 353 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 6 - 12 ตุลาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่