'หมอธีระ' ยกผลวิจัย 2 เรื่องทำหนาว! โอมิครอน BA.2 ไม่ใช่กระจอกอย่าลดการ์ดป้องกัน ผู้สูงอายุเสี่ยง Long COVID มากกว่าวัยรุ่น
25 พ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 588,905 คน ตายเพิ่ม 1,406 คน รวมแล้วติดไปรวม 528,711,453 คน เสียชีวิตรวม 6,303,280 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 73.92 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 50.21 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.93 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 11.73
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 13 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 21.81% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...Omicron B.2 อาการมากกว่า และกระทบต่อการใช้ชีวิตมากกว่า BA.1
Whitaker M และคณะจาก Imperial College London สหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา
1.ไวรัสโควิด-19 แต่ละสายพันธุ์จะส่งผลให้เกิดอาการป่วยที่แตกต่างกันไป
2.Omicron นั้นมีอาการรับรสและดมกลิ่นผิดปกติ น้อยกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ระบาดมาก่อนหน้า
3.แต่ Omicron นั้นทำให้คนที่ติดเชื้อป่วยโดยมีอาการคล้ายไข้หวัด/ไข้หวัดใหญ่มากกว่าสายพันธุ์อื่น (แต่ต้องขอเรียนเน้นย้ำตรงนี้ไว้ก่อนว่า โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัด ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ และไม่กระจอก)
4.ความเชื่องมงายว่า Omicron กระจอก หรืออ่อนกว่าสายพันธุ์อื่นๆ นั้นไม่จริง หากพิจารณาอาการป่วยที่เกิดขึ้น งานวิจัยจากสหราชอาณาจักรนี้ชี้ให้เห็นว่า Omicron ทำให้เกิดอาการป่วยในกลุ่ม 26 อาการที่ทำการศึกษา มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา
5. นอกจากนี้ Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้นจะทำให้ติดเชื้อแล้วป่วยมีอาการมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่าด้วย
คณะผู้วิจัยได้เน้นย้ำว่า ยิ่งในปัจจุบันที่ประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการป้องกันลง และมีจำนวนการตรวจคัดกรองโรคที่จำกัด จำเป็นต้องกระตุ้นเตือนให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง คอยสังเกตอาการที่ผิดปกติ และต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อแพร่เชื้อกันในสังคม
...Long COVID พบในผู้ใหญ่ที่เคยติดเชื้อ ได้มากถึง 20-25% Bull-Otterson L และคณะจาก US CDC เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดใน MMWR เมื่อวานนี้ 24 พฤษภาคม 2565 ติดตามดูผู้ที่เคยมีประวัติติดเชื้อโรคโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคม 2563-พฤศจิกายน 2564 อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวนกว่า 350,000 คน ดูอัตราการเกิดอาการผิดปกติจำนวน 26 อาการ เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อจำนวนกว่า 1,600,000 คน
สาระสำคัญที่พบคือ
1. คนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่เคยติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 มาก่อน จะมีโอกาสเกิดภาวะ Long COVID ได้สูงถึง 1 ใน 5 (20%) ทั้งนี้หากเป็นผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โอกาสเป็น Long COVID จะสูงขึ้นอีก โดยเกิดได้ถึง 1 ใน 4 (25%)
2. โดยเฉลี่ยแล้ว คนที่เคยติดโควิด-19 มาก่อน จะมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือลิ่มเลือดอุดตันในปอด เพิ่มขึ้นราว 2 เท่า
คณะผู้วิจัยชี้ให้เห็นความสำคัญของการตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการติดเชื้อโควิด-19 และเน้นย้ำให้มีการออกนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมถึงการตรวจประเมินภาวะ Long COVID อย่างเป็นประจำในระบบบริการสุขภาพด้วย
...ความรู้ที่นำมาเล่าให้ฟังทั้งสองเรื่องในวันนี้ ต้องการสะท้อนให้เราทุกคนเห็นความสำคัญของการเอาตัวรอด ด้วยตัวของเราเอง ในยามที่สังคมไทยยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ติดอันดับโลก ทั้งจำนวนติดเชื้อ และจำนวนเสียชีวิต
เศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนไปได้ มีการเปิดเสรีท่องเที่ยว ทำมาหากิน และศึกษาเล่าเรียน แต่ก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจะปะทุรุนแรงขึ้นมาได้ หากป้องกันตัวไม่ดีพอ อย่าหลงตามคำลวง หรือกิเลส ที่จะให้ถอดหน้ากากทิ้ง ใช้ชีวิตแบบในอดีตในเร็ววัน ทั้งๆ ที่การระบาดทั่วโลกยังไม่สงบ อย่าลืมความจริงที่ว่า คนเดินทางไปมากันระหว่างพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แม้พื้นที่หนึ่งจะมีเคสน้อย ดูจะคุมได้ แต่สถานการณ์จะพลิกผันได้อย่างรวดเร็ว หากมีคนในพื้นที่ไร้เกราะป้องกันตัว เพราะสุดท้ายเวลาติดเชื้อ ป่วย ตาย หรือประสบปัญหาสุขภาพกายและใจระยะยาวอย่าง Long COVID ขึ้นมาแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือตัวท่าน ครอบครัวของท่าน และคนรักคนใกล้ชิดของท่านเอง
ส่วนกลุ่มที่ออกนโยบายหรือมาตรการรณรงค์ให้ลดการ์ดลง ย่อมไม่ได้มารับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้นระดับบุคคลหรือครอบครัว ...ใช้ชีวิต ทำมาค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน อย่างปลอดภัย ด้วยการมีสติ ใช้ปัญญา และหมั่นป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ...แล้วจะสามารถลดความเสี่ยง ประคับประคองกันไปได้อย่างปลอดภัยครับ ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก
อ้างอิง
1.Whitaker M et al. Variant-specific symptoms of COVID-19 among 1,542,510 people in England. medRxiv. 23 May 2022.
2.Bull-Otterson L et al. Post–COVID Conditions Among Adult COVID-19 Survivors Aged 18–64 and ≥65 Years — United States, March 2020–November 2021. MMWR. 24 May 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018
การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์
เทพไท ชี้ อุ๊งอิ๊ง ปัดสวะ โยนเรื่องนิรโทษกรรม เป็นเรื่องของสภาฯ
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง