หมอธีระเตือนสติ บอกการประกาศให้โรคใดเป็นโรคประจำถิ่นนั้น สิ่งที่ต้องรู้ก่อนคือธรรมชาติของมัน แต่โควิด-19 ขนาด ตปท.ยังไม่แน่ใจ ระวังจะซ้ำรอยปลดล็อกกัญชา
19 พ.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด19 ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ว่า ทะลุ 524 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 752,159 คน ตายเพิ่ม 1,521 คน รวมแล้วติดไปรวม 524,630,463 คน เสียชีวิตรวม 6,294,383 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน เยอรมัน และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.29 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 60.02
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 54.23 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 13.34
...สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 22.16% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...Endemic diseases...
การประกาศให้โรคใดโรคหนึ่งเป็นโรคที่พบได้ประจำในท้องถิ่นนั้น สิ่งที่ต้องบรรลุก่อนคือ การรู้จักธรรมชาติของมันว่าระบาดอย่างไร สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อโรคนั้นได้ แต่สำหรับโควิด-19 นั้น ตราบจนถึงปัจจุบันยังคาดการณ์ได้ยากว่าตัวเชื้อไวรัสนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอ่อนแอลง หรือแข็งกร้าวมากขึ้น แม้ในประเทศตะวันตกพอจะสังเกตเห็นได้จากสองปีที่ผ่านมาว่าจะระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว แต่ก็ยังฟันธงไม่ได้แน่นอนนัก
นอกจากปัจจัยข้างต้น ยังต้องประเมินดูสถานะที่แท้จริงของประเทศว่า ตัวเลขที่เห็นจากรายงานทางการทุกวันนั้นมันสะท้อนสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในสังคมจริงหรือไม่? เพราะหากเป็นภาพจริง ก็ย่อมทำให้ประเมินสถานะตนเองได้ดีว่า การระบาดนั้นเอาอยู่ ทรัพยากรเพียงพอ และสูญเสียน้อย จนควบคุมโรคอยู่หมัดได้จริง
แต่หากเป็นภาพที่ไม่ตรงกับความจริง ตัวเลขติดเชื้อน้อย ทั้งที่จริงแล้ว คนตรวจด้วยตนเองแต่ไม่รายงาน หรือไม่ตรวจแม้จะมีอาการไม่สบาย เพราะรู้ว่ารายงานเข้าระบบไปก็ไม่ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น วิ่งหาหยูกยา หรือรักษาตนเองดูจะสะดวกกว่า หรือไม่รายงาน เพราะรู้ว่าหากเลเบลตนเองว่าติดเชื้อ จะต้องหยุดงาน ไม่มีกลไกสนับสนุนช่วยเหลือเยียวยาอย่างเพียงพอ หรือหากตัวเลขตายลดลงสวยงาม แต่โดยแท้จริงแล้วไม่สะท้อนสถานการณ์จริงที่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตายโดยพบว่าติดเชื้อแต่มีโรคอื่นประจำตัว ไม่รวมไว้ในรายงานสถานการณ์ให้สังคมได้ทราบ ก็ย่อมส่งผลต่อการประเมินสถานการณ์ และการรับรู้ความเสี่ยงที่บิดเบือนไป จนอาจเกิดผลต่อพฤติกรรมป้องกันตัว และการวางแผนนโยบายและมาตรการต่างๆ รวมถึงการผลักดันให้เป็น endemic disease ได้เช่นกัน
ที่สำคัญมากคือ การประเมินระบบสุขภาพของตนเองว่า จริงๆ แล้ว หยูกยาที่มีใช้นั้นเป็นไปตามหลักฐานทางการแพทย์มาตรฐานสากล มีปริมาณเพียงพอ เข้าถึงได้สะดวกหรือไม่ รวมถึงวัคซีนป้องกัน และสัดส่วนประชากรทุกช่วงวัยที่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนที่ดีมีมาตรฐานสากลอย่างเพียงพอ
ทุกเรื่องข้างต้นล้วนมีความสำคัญในการกำหนดย่างก้าวของแต่ละประเทศท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่ได้สิ้นสุด หลายเรื่องในสังคมนั้น เปรียบเหมือนการขึ้นรถไฟที่ไม่หวนกลับ เช่น การปลดล็อกกัญชา ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว การตัดสินใจเรื่องโรคโควิด-19 ก็เช่นกัน ธรรมดา...เอาอยู่...เพียงพอ...ประจำถิ่นรวดเร็วดังสายฟ้าแลบ ผลลัพธ์ที่ผ่านมา ประชาชนในแต่ละประเทศย่อมทราบดีว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่
มันใช่จริงหรือ? สวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนทุกคนในสังคม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
ย้อนดู 5 ปี 'โควิด 19' ความสับสนของข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬา โพสต์เฟซบุ๊กว่า
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์