13 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 580,059 คน ตายเพิ่ม 1,836 คน รวมแล้วติดไปรวม 519,612,798 คน เสียชีวิตรวม 6,284,218 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 66.65 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 69.17 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 29.96 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 12.79
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก ถึงแม้ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนเสียชีวิตที่รายงานนั้นลดลงก็ตาม ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 25.1% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
…ภาพรวมในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย แอฟริกา และโอเชียเนีย มีจำนวนติดเชื้อเพิ่มขึ้นกันตั้งแต่ 10-46% ซึ่งหลายประเทศจะเป็นผลจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ย่อย Omicron ได้แก่ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1
ในขณะที่ทวีปแอฟริกาและโอเชียเนียนั้นมีจำนวนการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ทวีปอื่นยังมีแนวโน้มลดลง
…มูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียจาก Long COVID
Culter D ได้เผยแพร่บทความวิชาการวิเคราะห์เรื่องนี้ใน JAMA Forum วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา คาดประมาณว่าสหรัฐอเมริกาจะมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID โดยมีอาการผิดปกติตั้งแต่ 3 อาการขึ้นไป อย่างน้อย 9.6 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ถึง 10 เท่า
เคยมีการสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID นั้น มีถึง 44% ที่ไม่สามารถทำงานได้ และ 51% ต้องจำกัดระยะเวลาทำงานลง
เมื่อประเมินภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ คาดว่าจะทำให้แรงงานต้องออกไปจากระบบมากกว่า 1,000,000 คน ทำให้แรงงานเหล่านั้นสูญเสียรายได้ไปอย่างน้อยปีละ 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ
ภาวะ Long COVID มีหลากหลายอาการ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างครบถ้วนในเวลาอันสั้น แต่หากดูอาการที่พบบ่อย เช่น อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าอย่างเรื้อรัง ซึ่งหากพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเทียบเท่ากับโรค Chronic fatigue syndrome ก็จะยังมีค่าใช้จ่ายสูงราวคนละ 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี แต่หากเป็นโรคอื่นที่รุนแรง ทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคทางระบบประสาท ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้มาก
ทั้งนี้จึงเห็นได้ว่า ผลกระทบจะไม่หยุดอยู่แค่การขาดแคลนแรงงาน การขาดรายได้จากการทำงานของแต่ละคน แต่จะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะ Long COVID และค่าชดเชยหรือสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่ต้องช่วยเหลือ ทำให้มีการประเมินมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจาก Long COVID ที่อาจสูงถึง 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
…สำหรับประเทศไทยนั้น
ส่วนตัวแล้วประเมินว่า หากพิจารณาจำนวนผู้ติดเชื้อที่รายงานทางการ (RT-PCR) รวมกับจำนวนที่ตรวจ ATK แล้ว จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงราว 5-6 ล้านคน แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้วและหวังว่าจะมีผลในการลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้บ้าง ก็ยังอาจมีผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID ราว 600,000-1,200,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก และจำเป็นต้องมีการเตรียมระบบรองรับ ทั้งเรื่องการดูแลรักษา ให้คำปรึกษา และระบบสนับสนุนทางสังคมต่างๆ
การให้ความรู้อย่างทันท่วงทีแก่ประชาชนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ตระหนักว่าปัญหา Long COVID นั้นมีอาการมากมายหลายหลายระบบของร่างกาย เรื้อรัง แนะนำวิธีประเมินสถานะสุขภาพของตนเอง และแนวทางการเข้าถึงบริการ ควรมีระบบเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาใช้วางแผนนโยบายและมาตรการในอนาคต
และที่สำคัญที่สุดคือ การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันสถานการณ์ระบาดว่ายังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน ทำงาน ค้าขาย ศึกษาเล่าเรียน เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเป็นกิจวัตร
ใส่หน้ากากนะครับ เลี่ยงกิจกรรมเสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด โควิด…ติด…ไม่ใช่แค่คุณ โควิด…ไม่จบที่หายและตาย แต่ที่ทรมานระยะยาวคือ Long COVID.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
'เส้นเลือดแตกในสมอง' ทำไมพบบ่อยมากและรุนแรงขึ้น
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญทางอายุรกรรมและสมอง และที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์ตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เส้นเลือดแตกในสมอง