'หมอธีระ' อัปเดตสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน ย้ำยังไม่มีทางรักษาป้องกันลองโควิด

2 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 414,237 คน ตายเพิ่ม 1,251 คน รวมแล้วติดไปรวม 513,219,474 คน เสียชีวิตรวม 6,260,260 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.92 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 85.18 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 37.61 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.37

…สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 26.3% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 45 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมาแล้ว 16 วัน

…อัปเดตสายพันธุ์ย่อยของ Omicron

สายพันธุ์ที่พบเพิ่มขึ้นเร็วในอเมริกา BA.2.12.1 นั้นมีข้อมูลชี้ให้เห็นแล้วว่ามีสมรรถนะในการแพร่ไวขึ้นกว่าเดิม โดยแพร่ไวขึ้นกว่า BA.2 ซึ่งครองการระบาดทั่วโลกตอนนี้ถึง 25% (Credit: Topol E)

ในขณะที่อีกสองสายพันธุ์ย่อยที่องค์การอนามัยโลกเฝ้าระวังดูคือ BA.4 และ BA.5 นั้นก็มีรายงานจากทีมวิจัยแอฟริกาใต้และอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของ Omicron อย่าง BA.1 หลายเท่า

ดังนั้นทั้ง BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 จึงมีสมรรถนะที่จะทำให้การระบาดในแต่ละประเทศรุนแรงขึ้นได้ แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงขาลงของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่ก็ตาม

การป้องกันตัวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ

…อัปเดต Long COVID

Umesh A และคณะได้ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับ Long COVID ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเชื่อว่ามีหลายกลไกที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะ Long COVID ทั้งเรื่องผลจากการที่ไวรัสทำลายเซลล์โดยตรง (direct damage) การกระตุ้นภูมิคุ้มกันและกระบวนการอักเสบในร่างกาย (immune activation and inflammation) รวมถึงกระบวนการตอบสนองทางสรีรวิทยาของร่างกายภายหลังจากการติดเชื้อ (counter physiological response)

อาการผิดปกติเกิดขึ้นได้แทบทุกระบบในร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และอื่นๆ

ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางมาตรฐานในการรักษาหรือป้องกัน Long COVID การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่าการติดเชื้อแล้วรอเสี่ยงดวงว่าจะเป็น Long COVID หรือไม่

โควิด…ติด…ไม่ใช่แค่คุณ

โควิด…ติด…ไม่จบแค่หายหรือตาย แต่อาจเป็นปัญหาเรื้อรังระยะยาว บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

อ้างอิง 1.Khan K et al. Omicron sub-lineages BA.4/BA.5 escape BA.1 infection elicited neutralizing immunity. medRxiv. 1 May 2022

2.Umesh A et al. Evidence mapping and review of long-COVID and its underlying pathophysiological mechanism. Infection. 30 April 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอมนูญ’ เผยข้อมูลระบาดวิทยา พบ ‘โควิด-ไข้หวัดใหญ่’ ยังแพร่เชื้อต่อเนื่อง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ยังมีต่อเนื่อง ไวรัสไข้หวัดใหญ่กำลังพุ่งสูงขึ้นตามฤดูกาล เข้าฤดูฝนแล้ว เชื้อไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิดจะกลับมาระบาดหนักอีก

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19