'หมอธีระ' ยกตัวเลข Worldometer ชี้ไทยมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มาก และที่น่าห่วงอัตราการเสียชีวิตรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 23% แนะ 4 ข้อควรปฏิบัติเพื่อสู้โควิด
21 เม.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิดประจำวันที่ 21 เมษายน 2565 ว่าทะลุ 506 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 865,395 คน ตายเพิ่ม 2,945 คน รวมแล้วติดไปรวม 506,751,160 คน เสียชีวิตรวม 6,231,019 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ อิตาลี และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 83.41 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 78.5 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 24.68 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 16.87
...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 25.75% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...ดูสถิติจำนวนการเสียชีวิตรายสัปดาห์จาก Worldometer ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากใน 10 อันดับแรกของโลก ทั้งนี้ที่น่ากังวลคือ ใน 10 ประเทศนั้น มีไทยเพียงประเทศเดียว ที่มีอัตราการเสียชีวิตรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 23% ส่วนอีก 9 ประเทศนั้นล้วนมีอัตราการเสียชีวิตลดลงทั้งสิ้น
...นโยบายและมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคที่จำเป็น เปรียบเทียบเรื่องอุบัติเหตุจราจรกับโควิด-19 ในการจัดการปัญหาอุบัติเหตุจราจร การขับขี่รถอย่างปลอดภัยนั้น จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎจราจร, ศึกษาเส้นทางให้ดี, ใช้รถที่มีถุงลมนิรภัย, และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย 4 ข้อนี้คือสิ่งจำเป็นต้องทำพร้อมกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิต
การจัดการเรื่องโควิด-19 ก็เช่นกัน... การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (เว้นระยะห่าง เลี่ยงกิจกรรม/สถานที่เสี่ยง ปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ตรวจคัดกรองโรค), การหาความรู้ที่ถูกต้องเพื่อใช้ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ และเข้าใจเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้, การฉีดวัคซีน, และการใส่หน้ากาก นี่คือ 4 ข้อที่จำเป็นต้องทำในระยะยาวตราบเท่าที่การระบาดยังดำเนินอยู่ หากเข้าใจสิ่งที่อธิบายมาข้างต้น ก็จะทราบได้ว่า ทั้ง 4 ข้อต้องทำพร้อมกัน เพื่อเสริมกัน ไม่สามารถเลือกทำ หรือทดแทนกันได้ และเราก็สามารถประเมินได้ว่า เหตุใดการระบาดของไทยเราในช่วงที่ผ่านมาจึงยังคงรุนแรงต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว เหตุย่อมเกิดมาจากการไม่สามารถดำเนินการทั้ง 4 ข้อข้างต้นได้อย่างดีเพียงพอ การแก้ไขปัญหาจึงต้องทบทวนนโยบาย มาตรการ กลไกการบริหารจัดการ และวิธีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีทัศนคติผลักดันนโยบายและมาตรการที่ทำให้ย่อหย่อนมากขึ้นในประการใดก็ตาม ความเสี่ยงย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และโอกาสที่จะควบคุมโรคได้ย่อมริบหรี่ ประชาชนในสังคมจึงจำเป็นต้องดูแลจัดการตนเองและครอบครัวให้ดี เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต
โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ โควิด...ติด...ไม่จบแค่หายกับตาย แต่จะเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ที่จะบั่นทอนสมรรถนะการดำเนินชีวิต และการทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก เพราะเป็นปราการสุดท้ายสำหรับตัวคุณ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน