นพ.ธีระยกผลวิจัยบอกโควิดทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย-เหนื่อยมากกว่าไวรัสชนิดอื่น ส่วนผู้ฉีดวัคซีนหากติดเชื้อโอมิครอนแทบไม่ต่างจากผู้ไม่ฉีดวัคซีน!
20 เม.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิดประจำวันที่ 20 เมษายน 2565 ว่าเมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 564,918 คน ตายเพิ่ม 1,991 คน รวมแล้วติดไปรวม 505,726,683 คน เสียชีวิตรวม 6,227,080 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 80.15 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 73.12 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 37.36 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 22.55
...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 28.73% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย
...อัพเดตงานวิจัย
1.อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าหลังติดเชื้อโควิด-19 พบบ่อยกว่าไวรัสชนิดอื่น Khatib S และคณะจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์สากล Irish Journal of Medical Science เดือนเมษายน 2565 นี้ โดยทำการประเมินผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มานานเกินกว่า 4 สัปดาห์จำนวน 157 คน ตั้งแต่พฤษภาคม 2564 ถึงมกราคม 2565 พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีปัญหาเรื่องอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้ามากถึง 43.3% ด้วยอัตราความชุกที่พบนี้ ถือว่าสูงกว่าไวรัสชนิดอื่นๆ ที่เคยมีการศึกษามาถึง 3.6 เท่า เช่น EBV, Coxiella burnetii (Q fever) และ Ross River virus ซึ่งพบปัญหาอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าราว 12%
ในขณะที่เคยมีการศึกษาในคนที่เคยติดเชื้อไวรัส Ebola ก็พบอาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าประมาณ 28% ซึ่งก็น้อยกว่าที่พบในโควิด-19
ทั้งนี้ งานวิจัยในช่วงที่ผ่านมาจากประเทศไอร์แลนด์ ก็เคยรายงานว่าพบความชุกของอาการนี้ในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ถึง 52.8% ซึ่งก็อยู่ในระดับเทียบเคียงกับงานวิจัยนี้จากอเมริกา ดังนั้นปัญหา post-viral fatique หรืออ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า หลังการติดเชื้อจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และเป็นเรื่องหนึ่งที่เราน่าจะนำมาใช้ประเมินสถานะสุขภาพของตนเองได้ด้วย หากเคยติดเชื้อมาก่อน
2. ถ้าติดเชื้อ Omicron ผู้ที่ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนล้วนมีระดับปริมาณไวรัสไม่แตกต่างกัน Hirotsu Y และทีมงานจากประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ศึกษาในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron จำนวน 611 คน (199 คนไม่ได้รับวัคซีน 370 คนได้รับไป 2 เข็ม และ 42 คนได้รับไป 3 เข็ม) พบว่าทั้งสามกลุ่มนั้นมีปริมาณไวรัส (viral load) และค่า Cycle threshold (Ct values) ไม่แตกต่างกัน
งานวิจัยนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า แม้การฉีดวัคซีนนั้นมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต แต่หากไม่ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ และเกิดการติดเชื้อขึ้นมา ปริมาณไวรัสก็อยู่ในระดับเทียบเท่ากันกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้กับคนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคมได้
...ด้วยสถานการณ์ระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว จำนวนการติดเชื้อและจำนวนการเสียชีวิตในแต่ละวันก็ติด Top 5-10 ของโลก การใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันในช่วงเวลานี้และในอนาคต
ปัญหา Long COVID จะพบมากขึ้น และบั่นทอนสมรรถนะการดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ และสมรรถนะการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาว คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ยังต้องป้องกันตัว เพราะจะติดเชื้อซ้ำ (reinfection) ได้ และควรประเมินสถานะสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะความเสี่ยงของ Long COVID อาจไม่ได้เกิดแบบปุ๊บปั๊บ แต่เป็นความเสี่ยงระยะยาว
อ้างอิง
1. Khatib S et al. Post‑COVID‑19 fatigue as a major health problem: a cross‑sectional study from Missouri, USA. Irish Journal of Medical Science. April 2022.
2. Hirotsu Y et al. Similar viral loads in Omicron infections regardless of vaccination status. medRxiv. 19 April 2022.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม