โควิดโลกทะลุ 498 ล้าน! อัปเดตผลวิจัยลองโควิด เจอภาวะอ่อนล้ารุนแรง

11 เม.ย. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 498 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 619,688 คน ตายเพิ่ม 1,657 คน รวมแล้วติดไปรวม 498,965,496 คน เสียชีวิตรวม 6,202,920 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และเยอรมัน (แต่ไทยจะเป็นอันดับ 5 ของโลก หากรวม ATK) เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.64 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.55 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 48.06 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 47.67

…สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก

…หน้ามือเป็นหลังมือ ผลลัพธ์ของระลอกสองเป็นต้นมา เปลี่ยนไปจากระลอกแรกแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

การประเมินสถานการณ์ระบาดต่ำกว่าความเป็นจริงทำให้เห็นผลลัพธ์คือ ผู้ติดเชื้อจำนวนเกือบสี่ล้านคน (ยังไม่รวม ATK) ป่วยจำนวนมาก และเสียชีวิตไปจำนวนหลายหมื่นคน

จวบจนกระทั่งระลอกสี่จาก Omicron ในปัจจุบัน ที่มีการประชาสัมพันธ์ทำให้คนในสังคมรู้สึกว่าติดเชื้อแล้วไม่รุนแรง โอกาสตายน้อย แคมเปญว่าเอาอยู่ ยา วัคซีน และเตียงมีเพียงพอ โดยจะทำให้เป็นโรคประจำถิ่นในเวลาไม่กี่เดือน

บัดนี้เราจึงเห็นสถิติทั้งจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวันและจำนวนเสียชีวิตต่อวัน ติดอันดับ Top 5 ของโลก

…ผลกระทบของสึนามิ Long COVID ในสหราชอาณาจักร

ล่าสุด Financial Times เผยแพร่บทความเกี่ยวกับผลกระทบของ Long COVID ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก ที่แม้หายจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในระยะแรกแล้ว แต่มีอาการผิดปกติทางกายและใจ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียน การดูแลครอบครัว และที่สำคัญมากคือการทำงาน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระบบอย่างมาก

เฉกเช่นเดียวกัน หากประเทศใดที่คุมการระบาดไม่ได้ มีคนติดเชื้อจำนวนมาก ก็จะมีโอกาสประสบปัญหาแบบเดียวกันในอนาคต รวมถึงประเทศไทยด้วย

…ความชุกของภาวะอ่อนเพลียอ่อนล้ารุนแรงหลังติดโควิด-19

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เผยแพร่ผลการศึกษาแบบติดตามไปข้างหน้านาน 12 เดือน ในกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 303 คน ตั้งแต่พฤษภาคม 2563-กรกฎาคม 2564

พบว่าเกิดภาวะอ่อนเพลียอ่อนล้ารุนแรง (severe fatique) บ่อย โดยเกิดในกลุ่มคนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการน้อย 17.4% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 6.7%-38.3%), ติดเชื้อแล้วมีอาการปานกลาง 21.6% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 11.2%-37.7%), และติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง 44.8% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 28.0%-62.9%)

ข้อมูลข้างต้นจากเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นเพียงแค่อาการเดียวจากกลุ่มอาการอีกมากมายหลายระบบที่เกิดขึ้นได้ในภาวะ Long COVID ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความคิด ความจำ เครียด ซึมเศร้า ระบบประสาท อาการปวด ระบบหัวใจและหลอดเลือด ลื่มเลือดอุดตัน ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ต่อมไร้ท่อ ผิวหนัง และกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ

ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด สถานการณ์ไทยเราตอนนี้ รุนแรง กระจายทั่ว ยังคุมไม่ได้ สงกรานต์นี้ การใส่หน้ากากสำคัญมาก ควรงดตะลอนท่องเที่ยว และงดกิจกรรมสังสรรค์ต่างๆ ขอให้ปลอดภัยครับ

อ้างอิง

1.Long Covid: the invisible public health crisis fuelling labour shortages. Financial Times. 10 April 2022

2.Verveen A et al. Severe Fatigue in the First Year Following SARS-CoV-2 Infection: A Prospective Cohort Study. Open Forum in Infectious Diseases, Volume 9, Issue 5, May 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน