'หมอธีระ' เผยสถานการณ์โควิด-19 ยังเอาไม่อยู่ ตัวเลขยังพุ่งต่อเนื่อง แนะช่วงสงกรานต์ฉลองอยู่กับบ้าน แต่หากจะกลับภูมิลำเนาต้องการ์ดสูง
07 เม.ย.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 7 เมษายน 2565 ว่าทะลุ 494 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,183,978 คน ตายเพิ่ม 3,314 คน รวมแล้วติดไปรวม 494,999,056 คน เสียชีวิตรวม 6,190,368 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.33 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.73 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 38.72 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 28.45
...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก
...อัพเดตจากองค์การอนามัยโลก จากรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก WHO Weekly Epidemiological Update วันที่ 5 เมษายน 2565 สถิติจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ล่าสุดของทั่วโลกนั้นลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 16% และจำนวนเสียชีวิตลดลง 43% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า แต่หากดูข้อมูลของไทยรายสัปดาห์จาก Worldometer พบว่าจำนวนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 3% (ยังไม่ได้รวม ATK) และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19%
...สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก WHO รายงานว่าล่าสุดยังคงเป็นสายพันธุ์ Omicron ครองการระบาดทั่วโลก 99.8%ทั้งนี้สายพันธุ์ Omicron นั้น พบว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่ครองสัดส่วนการระบาดหลัก มากถึง 93.6% ส่วนสายพันธุ์ย่อยอื่นนั้นน้อยลงมาก เช่น BA.1.1 มีเพียง 4.8% ทั้งนี้ BA.1 และ BA.3 มีน้อยกว่า 0.1%
เรื่องที่หลายคนสนใจเกี่ยวกับสายพันธุ์ผสม หรือ recombinant นั้น ขณะนี้มีการติดตามอยู่หลายตัว เช่น XD (พันธุ์ผสมระหว่างเดลต้า AY.4 และ Omicron BA.1) ดูจะมีการแพร่ค่อนข้างจำกัดและสมรรถนะในการแพร่นั้นไม่ได้มากไปกว่าสายพันธุ์ที่มีการระบาดอยู่เดิม
XE (พันธุ์ผสมระหว่าง Omicron BA.1 และ BA.2) พบครั้งแรกที่สหราชอาณาจักรวันที่ 19 มกราคม 2565 ก็กำลังมีการติดตามประเมินอยู่ โดยข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ามีสมรรถนะในการแพร่มากกว่า BA.2 ราว 10% แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน
...สำหรับไทยเรานั้น การระบาดเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ยังคุมไม่อยู่ คำแนะนำสำหรับสงกรานต์ที่จะมาถึงในสัปดาห์หน้า
1.ควรฉลองสงกรานต์อยู่กับบ้าน ไม่ตะลอนท่องเที่ยว ไม่ร่วมกิจกรรมรดน้ำสาดน้ำประแป้งนอกบ้าน
2.หากจำเป็นต้องเดินทางกลับไปต่างจังหวัด หรือไปหาญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านกัน ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
- เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่ตะลอน ก่อนออกเดินทางอย่างน้อย 3-5 วัน
- ก่อนเดินทางสัก 1-2 วัน ควรโทร ถามสารทุกข์สุกดิบ กับคนที่อยู่ปลายทางว่าทุกคนสบายดี ไม่มีอาการเจ็บป่วย และประเมินตนเองด้วย หากมีใครมีอาการไม่สบายใดๆ แม้เล็กน้อย ก็ควรงดเดินทางไปพบปะกัน
- วันเดินทาง ควรตรวจ ATK ตนเอง หากเป็นผลบวก ก็หยุดแผนเดินทาง
- ออกนอกบ้านควรใส่หน้ากากเสมอ เดินทางตามแผนที่กำหนด ไม่เฉไฉตะลอนหลายที่ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและนำไปแพร่ให้คนที่ปลายทาง
- การไปกราบสวัสดีผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ปู่ย่าตายายนั้น ควรเว้นระยะห่างก็จะปลอดภัยกว่า แต่หากจะไปกอดหรือคลุกคลีใกล้ชิด ถ้าใส่หน้ากากได้จะดีกว่า และอย่าลืมล้างมือให้สะอาดก่อนไปสัมผัสกัน
- การกินข้าวสังสรรค์กันในหมู่สมาชิกในครอบครัวนั้น ควรนั่งห่างกันกว่าปกติ และเลือกนั่งกินดื่มในที่โล่ง ระบายอากาศดี
- หลังเสร็จกิจกรรมวันหยุดยาว ควรสังเกตอาการผิดปกติ และควรตรวจ ATK อีกครั้งหลังกลับมา
- ในกรณีของคนที่กลับมาจากการเดินทาง แต่มีสมาชิกในบ้านที่ไม่ได้เดินทางไปด้วย หากแยกจากกัน ไม่สุงสิงกันในช่วง 3-5 วันหลังกลับมาก็จะปลอดภัยกว่า
การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้น ไม่ได้จบแค่เป็น รักษา แล้วหาย...แต่มีโอกาสเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ที่จะบั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตและการทำงาน และส่งผลให้เกิดภาวะทุพลภาพหรือโรคเรื้อรังได้ และที่สำคัญคือ โควิด...ติด...ไม่ใช่แค่คุณ บางคนติดแล้วไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่บางคนติดแล้วป่วยรุนแรงหรือตายได้ ดังที่เห็นจากสถิติรายวัน ขอให้ปลอดภัยไปด้วยกันทุกคน...
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดพิกัดเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืนในจุฬาฯ
ปีนี้งาน Night Museum at Chula เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดภายใต้แนวคิด “เสน่ห์ Science” ชูเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในธรรมชาติรอบตัวเรา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันและเป็นแรงขับเคลื่อนทุกย่างก้าวของคนในปัจจุบัน
จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!
อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม
'หมอยง' แนะแนวทางแก้ไขหลุดพ้นจากกับดักผลงานวิชาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
อ.ไชยันต์ยกตัวอย่างการอภัยโทษในต่างประเทศที่น่าสนใจ!
ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์