1 เม.ย. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทะลุ 488 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,345,658 คน ตายเพิ่ม 3,698 คน รวมแล้วติดไปรวม 488,083,215 คน เสียชีวิตรวม 6,166,137 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 87.9 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 76.04 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 35.75 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 30.44
…สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก
…เรื่องสำคัญเพื่อการวางแผนของประชาชนในเดือนหยุดยาว
“ระลอกโอไมครอนเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าระลอกเดลตา 10 เท่า”
นี่เป็นข้อมูลจากสหราชอาณาจักร Office for National Statistics ร่วมกับมหาวิทยาลัย Oxford และ Manchester, Wellcome Trust, และ UK HSA เพิ่งเผยแพร่ผลวิเคราะห์จากการสำรวจประชาชนล่าสุด เมื่อ 30 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังพบว่า คนที่เดินทางไปต่างประเทศจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าคนที่ไม่ได้เดินทาง
ส่วนคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำ มากกว่าคนที่ฉีดวัคซีนครบ
ผลการศึกษาของสหราชอาณาจักรย้ำเตือนให้เราตระหนักว่า การระบาดของ Omicron ระลอกนี้มีการติดเชื้อซ้ำได้มาก ทั้งนี้การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงทั้งเรื่องการติดเชื้อ การติดเชื้อซ้ำ การป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ยังจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
หากเดือนเมษายนเป็นเดือนแห่งเทศกาลปีใหม่ไทย มีวันหยุดยาว ขอให้ไตร่ตรองให้ดี การระบาดในไทยยังรุนแรง กระจายทั่ว ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ
แต่ถ้าจำเป็นต้องไป ก็ควรเตรียมตัวป้องกันให้ดี ทั้งเรื่องอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากาก เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ รวมถึงการตรวจ ATK ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเดินทางกลับมา
โควิด-19 Omicron BA.2 ขณะนี้ ติดง่ายแพร่ไวกว่าเดิม 30% แม้ความรุนแรงจะไม่ต่างจาก BA.1 และน้อยกว่าเดลตา แต่ตัวเลขที่เราเห็นกันแต่ละวันก็ชัดเจนว่า ติดเชื้อมาก ป่วยมาก และมีตายกันกว่า 80 คนต่อวัน จำนวนคนป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ติดเชื้อมาแต่ละครั้งจะส่งผลกระทบไม่ใช่แค่ตัวคนที่ติดเชื้อ แต่ส่งผลต่อครอบครัว และคนใกล้ชิด
ติดเชื้อแล้ว ป่วยได้ ตายได้ แม้ได้รับวัคซีนมาก่อนก็ไม่ได้การันตี 100%
ติดเชื้อแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบบไม่มีอาการ มีอาการน้อย หรืออาการรุนแรง ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะผิดปกติระยะยาวที่เรียกว่า Long COVID ที่อาจส่งผลกระทบต่อสมรรถนะในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนอื่น รวมถึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง ที่จะนำไปสู่ภาวะทุพลภาพได้
การป้องกันตนเองอย่างเป็นกิจวัตร ดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท จะลดความเสี่ยงลงได้ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
อ้างอิง Coronavirus (COVID-19) Infection Survey, characteristics of people testing positive for COVID-19, UK: 30 March 2022. Office for National Statistics, UK.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
'คารม' บอกรัฐบาลเฝ้าระวังโรคไอกรนใกล้ชิดผู้ปกครองไม่ต้องห่วง
'คารม' เผยรัฐบาลร่วมบูรณาการเฝ้าระวังโรคไอกรนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในโรงเรียน เน้นย้ำเฝ้าระวัง ติดตามอย่างเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาด ขอผู้ปกครองอย่าเป็นกังวล
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป