23 มี.ค.2565 - นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12-18 มี.ค. 2565 จำนวน 1,982 ราย เจอสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) 1 ราย คิดเป็น 0.05% ที่เหลือทั้งหมด 1,981 รายเป็นโอมิครอน คิดเป็น 99.95% เรียกว่าโอมิครอนครองประเทศไทยเกือบ 100% แล้ว ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน พบ BA.2 จำนวน 1,479 ราย คิดเป็น 78.5% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นจากที่พบ 51.% และ 67.6% ขณะที่ตัวอย่างจากการติดเชื้อภายในประเทศ เป็น BA.2 ถึง 82.9% ซึ่งคาดว่าจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความแตกต่างเรื่องความรุนแรง แต่แพร่เร็วกว่า ทำให้ตรวจจับได้มากกว่า โดยขณะนี้เกือบทุกเขตสุขภาพเป็น BA.2 มากกว่า BA.1 ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 ที่อาจมีการตรวจน้อย ทำให้พบสัดส่วนที่น้อยกว่า ส่วนเขตสุขภาพที่ 4 พบสัดส่วน BA.2 สูงสุด 90%
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากการตรวจสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เราสุ่มตรวจจากทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนทั่วไป เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งทุกกลุ่มมีสัดส่วนการติดเชื้อเป็น BA.2 ใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แตกต่างจากภาพรวม อย่างกลุ่มที่เสียชีวิตพบ BA.2 ประมาณ 60% ดังนั้น BA.2 จึงไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชทำให้เสียชีวิตมากขึ้น
ส่วนกรณีสายพันธุ์ BA.2.2 ในฮ่องกง ขณะนี้ก็เงียบไปแล้ว และไม่ได้มีการยืนยันว่า การเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นมาจาก BA.2.2 หรือไม่ นอกจากนี้ ทาง GISAID ก็ยังไม่ได้ประกาศชื่อ BA.2.2 หรือ BA.2.3 อย่างเป็นทางการ และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่เร็ว ความรุนแรง หรือการหลบวัคซีน ส่วนประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 500-600 รายต่อสัปดาห์ พบว่า BA.2.2 ในประเทศ 14 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย และ BA.2.3 ในประเทศ 27 ราย ต่างประเทศ 34 ราย ซึ่งสัดส่วนก็สอดคล้องกับ GISAID ที่พบ BA.2.2 น้อยกว่า BA.2.3 ซึ่งการกลายพันธุ์ส่วนนี้ไม่ได้มีผลอะไรก็อาจจะหายไป
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนเดลตาครอนช่วงแรกที่พบในไซปรัสเป็นการปนเปื้อน ซึ่งการพบ 2 เชื้อนั้นจะมี 2 กรณี คือ ตรวจพบ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน คือ เชื้อ 2 เชื้ออยู่ในคนเดียวกัน และกรณีเชื้อ 2 สายพันธุ์ผสมกันและออกลูกหลาน โดยมีทั้ง 2 สายพันธุ์ในนั้น เรียกว่าไฮบริด หรือ Recombinant ซึ่งเดลตาครอน ที่พบมาจากทั้งโอมิครอนในส่วนของ BA.1 และเดลต้า AY.4 ซึ่งรายงานเข้า GISAID ประมาณ 4 พันกว่าราย แต่มีที่ตรวจสอบและยอมรับอย่างเป็นทางการ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส50 กว่าราย ที่เหลืออีก 4 พันกว่ารายยังต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนหรือไม่ ซึ่งในส่วนนี้มีข้อมูลจากไทยที่ส่งเข้าไปด้วยประมาณ 70 กว่าราย กรณีนี้ไม่ต้องตกใจ ถ้าใช่เดลตาครอนก็คือใช่ แต่ขณะนี้ประเทศไทยเดลต้าลดลงเรื่อยๆ โอกาสที่เจอแบบ Recombinant ก็จะเกิดน้อยลง เพราะไม่มีเดลต้าเหลือให้ไปผสมแล้ว จึงขึ้นกับว่าเดลตาครอนที่มีอยู่จะมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรหรือไม่ ถ้าเดลตาครอนแพร่เร็วขึ้นก็จะเห็นมาครองแทนโอมิครอน ก็ต้องรอดู แต่วันนี้ยังไม่เห็นวี่แวว ก็คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนความรุนแรงก็ไม่มีข้อมูล ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังจัดชั้นของเดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตามดูข้อมูล ยังไม่จัดชั้นว่าเป็นสายพันธ์ุที่น่าสนใจหรือน่ากังวล
นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า สรุปแล้วประเทศไทยเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด เดลต้าหายาก ส่วนอัลฟ่า (อินเดีย) และเบต้า (แอฟริกาใต้)หายไปหมดแล้ว สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนเป็น BA.2 ขึ้นมาเกือบ 80% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วน BA.2.2 และ BA.2.3 เจอประปรายจากการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยจะตรวจว่ามีการเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ขณะที่เดลตาครอน GISAID ยืนยันทางการ 64 ราย ยังรอการวิเคราะห์ทวนสอบข้อมูลอีก 4 พันกว่าราย ซึ่งรวมถึงของไทยที่ส่งไป 73 ราย แต่ยังเป็นแค่สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิ ส่วนมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ได้ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะโอมิครอนหลบภูมิได้เยอะ หากมีภูมิไม่พออาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน
เมื่อถามถึงเดลตาครอนของไทย 73 รายเป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า GISAID ยอมรับเดลตาครอนแล้ว 64 ราย เหลืออีก 4 พันรายที่รอตรวจสอบข้อมูล จริงๆ ที่ได้ยินข่าวเจอที่อังกฤษมาก แต่ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไป ส่วนของไทยเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็นเดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค. 2564- ม.ค. 2565 ซึ่งยังมีเดลต้ากับโอมิครอนกันมาก ทำให้มีโอกาสผสมกันได้มาก โดยคนไข้ทั้ง 73 รายหายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนา และถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จบ และแม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนักแต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเบตาก็จะหายไป
"เท่าที่เห็นโอมิครอนมีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ หลบภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี จะเห็นคนติดเดลตามาแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอมิครอนซ้ำ จึงเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ว่าอะไรฉีด 2 เข็มนานพอควร ภูมิคุ้มกันจะตก ป้องกันติดเชื้อไม่ได้จะต้องมากระตุ้น แต่ช่วยป้องกันป่วยตายได้พอสมควร แต่ถ้าภูมิคุ้มกัน ยิ่งสูงยิ่งช่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งอัตราการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูง” นพ.ศุภกิจกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอยง' เผยสถาการณ์โควิดเปลี่ยนไปมากคำแนะนำก็ต้องเปลี่ยนตาม
ศ.นพ.ยง ภู่รวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018
การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ