'นพ.ธีระ' ยกผลวิจัยย้ำ Long COVID น่าเป็นห่วง

'หมอธีระ' ชี้ยอดติดเชื้อไทยติดอันดับ 10 ของโลก ตอกย้ำเรื่อง Long COVID ผลวิจัยจากซาอุฯ และสหรัฐชี้ชัดจะมีความผิดปกติในด้านต่างๆ สูง

17 มี.ค.2565 - นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2565 ว่าทะลุ 463 ล้าน เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,623,730 คน ตายเพิ่ม 4,807 คน รวมแล้วติดไปรวม 463,182,124 คน เสียชีวิตรวม 6,079,600 คน 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 88.77 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 67.77 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 35.5 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 23.27

...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชียในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 66 คน สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก

...อัพเดต Long COVID
1.งานวิจัยจากซาอุดิอาระเบียพบ Long COVID สูงถึง 47.5% Garout MA และคณะ จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ศึกษาในคนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 744 ราย ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคม 2564 โดยมีเพศชายและหญิงจำนวนพอๆ กัน และประกอบด้วยกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ 11%, อาการน้อยถึงปานกลาง 67% และอาการรุนแรง 22% ผลการศึกษาพบว่า คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้นประสบปัญหา Long COVID หรือ Post-COVID syndrome สูงถึง 47.5% โดยครึ่งหนึ่งจะมีอาการผิดปกติตั้งแต่ 2 อย่างขึ้นไป งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เราต้องระมัดระวัง ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

2. American College of Cardiology ออกแนวทางการจัดการภาวะ Long COVID ที่ส่งให้เกิดปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เมื่อวานนี้ 16 มีนาคม 2565 วารสารการแพทย์โรคหัวใจของอเมริกา (Journal of the American College of Cardiology) เผยแพร่บทสรุปการหารือของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจจาก The American College of Cardiology เป็นแนวทางสำหรับใช้ในการประเมินผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดตามมา ใช้ชื่อว่า Post-acute Sequelae of SARS-CoV-2 Infection (PASC) ซึ่งหมายถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือหลังจากการติดเชื้อมาแล้วตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป และเกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย ดังที่เรารู้จักในชื่อที่ใช้กันบ่อยคือ Long COVID โดยความผิดปกติด้านหัวใจและหลอดเลือดนั้นแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ โรค (PASC-CVD) และอาการ (PASC-CVS)

ทั้งนี้มีการระบุรายละเอียดแนวทางการตรวจประเมิน วินิจฉัย และดูแลรักษาภาวะต่างๆ ข้างต้นไว้อย่างละเอียด นี่จึงเป็นเรื่องตอกย้ำให้เรารู้ว่า Long COVID หรือ PASC นั้นเป็นเรื่องสำคัญ จริงจัง ส่งผลต่อคนจำนวนมาก และจำเป็นที่ทุกประเทศต้องมีการวางแผนรับมือ ทั้งในแง่บุคลากรทางการแพทย์ ทรัพยากรในระบบสาธารณสุข รวมถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ทันสมัย แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความตระหนักในการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ นอกจากนี้กลุ่มประชากรที่เคยติดเชื้อมาก่อนจำนวนมากนั้นก็จำเป็นจะต้องหมั่นตรวจตราตรวจสอบตนเองว่าเกิดความผิดปกติในร่างกายและจิตใจ อันน่าจะมาจาก Long COVID หรือ PASC หรือไม่ หากมี ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาโดยเร็ว จะได้ลดความเสี่ยงต่อการทุพพลภาพและเสียชีวิต ด้วยความห่วงใย

อ้างอิง
1. Garout, M.A., Saleh, S.A.K., Adly, H.M. et al. Post‐COVID-19 syndrome: assessment of short- and long-term post-recovery symptoms in recovered cases in Saudi Arabia. Infection. 16 March 2022.
2. 2022 ACC Expert Consensus Decision Pathway on Cardiovascular Sequelae of COVID-19 in Adults: Myocarditis and Other Myocardial Involvement, Post-Acute Sequelae of SARS-CoV-2 Infection, and Return to Play: A Report of the American College of Cardiology Solution Set Oversight Committee. J Am Coll Cardiol. 16 March 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จุฬาฯ เดินหน้ายุทธศาสตร์ใหม่ สร้าง Siam Square ให้เป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน รวมพลคนพิการโชว์พลังครั้งใหญ่ที่สุด!

อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีม PMCU (สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ) และ มูลนิธิ Five for All เปิดงาน Siam Square Walking Street For All ครั้งแรก! บนพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับคนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม

เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018

การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้

'มันชินี' ปฏิเสธรับเงินชดเลย 20 ล้านยูโร หลังยกเลิกสัญญาซาอุฯ กลางคัน

โรแบร์โต มันชินี อดีตกุนซือทีมชาติอิตาลี ออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องที่เขาได้รับค่าชดเชยสูงถึง 20 ล้านยูโร เมื่อแยกทางกับทีมชาติซาอุดีอาระเบีย แต่ยืนยันว่าทั้งสองฝ่ายจบกันไม่สวย ต่างฝ่ายต่างมองกันคนละทิศทาง

'มันโช่' ฟันเงินอื้อ แม้แยกทาง 'ซาอุฯ' พร้อมรับค่าชดเชย 16.7 ล้านปอนด์

โรแบร์โต มันชินี เทรนเนอร์ชาวอิตาลี ที่คุมทีมชาติซาอุดีอาระเบียไม่ถึง 14 เดือน และแยกทางกันในที่สุด ถูกเปิดเผยว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเขาทำเงินให้ตัวเองได้สูงลิ่ว นับตั้งแต่มากุมบังเหียนเศรษฐีบ่อน้ำมัน