ดร.อนันต์ เตือนอย่าประมาท 'โควิด' ชี้อันตรายคาดเดาไม่ได้ ประเมินโอมิครอน BA2.2 จากฮ่องกง

Covid Hong kong / AFP

15 มีนาคม 2565 – ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักไวรัสวิทยา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า บทความนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการระดับ Nature Reviews Microbiology ฉบับล่าสุด บอกว่า โอมิครอนเป็นไวรัสที่ก่อโรคไม่รุนแรง เป็นเพียงแค่ “coincidence” หรือ เหตุบังเอิญเท่านั้น การอนุมานคิดต่อว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ตัวต่อไปถ้ามีจริงคงไม่รุนแรงมากไปกว่าโอมิครอนอีกแล้ว เป็นความคิดที่อันตรายและผิดต่อหลักการทางไวรัสวิทยาอย่างค่อนข้างชัดเจน จากหัวข้อของบทความนี้จะเห็นว่า เราคงเดาไม่ได้ว่าไวรัสสายพันธุ์น่ากังวลตัวต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงของไวรัสในปัจจุบันเป็นไปในทิศทางที่ไม่มีใครรู้ว่าไวรัสจะไปทางไหน ความรุนแรงของไวรัสเป็นสิ่งที่เกินคาดการณ์ –“unpredictable”

ทำไมเค้าถึงคิดอย่างนั้น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สามารถอ่านได้จาก link ครับ https://www.nature.com/articles/s41579-022-00722-z

อีกโพสต์ ดร. อนันต์ เขียนว่า หลายคนเห็นพาดหัวข่าวเรื่องไทยพบโอมิครอน BA2.2 คล้ายกับที่ระบาดหนักในฮ่องกงจึงเริ่มเกิดความกังวลว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้จะเข้ามาระบาดและเป็นปัญหาในไทยเหมือนในฮ่องกงหรือไม่ ไวรัส BA.2.2 หน้าตาเหมือน BA.2 มาก โดยตำแหน่งบนโปรตีนหนามสไปค์ของ BA.2.2 ที่ตำแหน่ง 1221 เกือบจะถึงปลายของโปรตีนแล้ว เปลี่ยนจาก I (Isoleucine) ไปเป็น T (Threonine) เรียกว่า I1221T การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนี้อยู่นอกตำแหน่งที่มีผลต่อการหนีการจับของแอนติบอดี

ดังนั้น เชื่อว่าความสามารถในการหนีภูมิของวัคซีนของ BA2.2 ไม่แตกต่างไปจาก BA.2 ปกติ ส่วนหน้าที่อื่นๆของโปรตีนสไปค์ที่อาจมีผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ครับ เริ่มมีคำอธิบายออกมาบ้างว่า I1221T นี้ อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือ ไม่มีนัยสำคัญอะไรทางชีววิทยา แต่บทบาทของกรดอะมิโนดังกล่าวยังไม่ชัดครับว่าจะทำให้ไวรัสเปลี่ยนไปอย่างไร

ประเด็นเรื่องคุณสมบัติการแพร่กระจายของไวรัส BA.2.2 ถ้าดูเฉพาะในฮ่องกง จะเห็นว่า เกือบ 100% ของไวรัสที่ระบาดเป็น BA2.2 ทั้งสิ้น ทำให้มีการมองว่าเป็นไวรัสที่แพร่กระจายได้ไวมาก แต่ ถ้าดูการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์นี้ในประเทศอื่นๆที่มี BA.2 ปกติระบาดอยู่แล้วด้วย จะเห็นภาพที่แตกต่างกันชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น UK หรือ USA ที่พบ BA.2.2 เช่นกัน ก็ไม่พบการเพิ่มของเคสแบบกรณีของฮ่องกง

ลักษณะนี้ทำให้คิดได้ว่า ปรากฏการณ์ในฮ่องกงไม่ใช่เป็นเพราะ BA.2.2 ที่แพร่ไว แต่เป็นเพราะไวรัสตัวแรกที่เข้าไปสร้างปัญหา และ แพร่กระจายก่อนไวรัสตัวอื่นๆคือ BA.2.2 หรือที่รู้จักกันคือปรากฏการณ์ Founder Effect พูดง่ายๆคือ BA.2.2 เข้าไปจองพื้นที่ในฮ่องกงก่อนใคร ทำให้สายพันธุ์อื่นที่ตามมาทีหลังวิ่งตามไม่ทันนั่นเอง

ประเทศไทยบริบทต่างจากฮ่องกงครับ ผมคิดว่า BA.2.2 เข้ามาตอนนี้คงไม่มีที่ให้ขยายตัวมาก เพราะ BA.1 และ BA.2 ครองพื้นที่ในประเทศไทยไปมากพอสมควรแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน