วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จำเป็นแค่ไหน?

15 มีนาคม 2565 -จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดและกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้แก่ประชาชนไทยในสูตรต่างๆ โดยขณะที่มีการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า 21.1 ล้านโดส พบว่าหลายคนยังสงสัยว่าวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีความจำเป็นเพียงใด และควรเลือกวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 อย่างไร
ในประเด็นนี้ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและรองผู้อำนวยการสถาบัน สถาบันบำราศนราดูร ได้ให้คำแนะนำเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น และแนวทางการพิจารณาวัคซีนเข็มที่ 3 ที่เหมาะสม

ฉีดครบ 2 เข็ม…เพียงพอหรือไม่ในวันนี้?

การฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 มีความสำคัญอย่างมากในการช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สามารถป้องกันการติดเชื้อรวมถึงป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบจำนวน 2 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป และในปัจจุบันมีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน จึงจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อให้ร่างกายสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เว้นห่างจากวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และบุคลากรด่านหน้าของสังคม

เลือกวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3…ควรพิจารณาอย่างไร?

สิ่งสำคัญคือความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีน ประสิทธิภาพของวัคซีน (Efficacy) คือผลการป้องกันของวัคซีนที่ทำการศึกษาในโครงการวิจัยที่มีการควบคุมปัจจัยต่างๆ อย่างเข้มงวด ขณะที่ประสิทธิผลของวัคซีน (Effectiveness) เป็นการดูผลการป้องกันของวัคซีนในชีวิตจริงที่มีการใช้ในประชากรในวงกว้าง หากจะเปรียบเปรยให้เห็นภาพมากขึ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนก็คือผลการเรียนของเราในรั้วโรงเรียน ส่วนประสิทธิผลก็คือผลการทำงานในชีวิตจริง ดังนั้น ประสิทธิผลของวัคซีนจึงเป็นตัวสะท้อนถึงผลของการป้องกันของวัคซีนในสถานการณ์จริงมากกว่า และควรเป็นตัวชี้วัดประกอบการพิจารณาเลือกวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เหมาะสม

ระบบภูมิคุ้มกันที่ดี…ต้องดูที่ไหน?

นอกเหนือจากระบบภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดี (Antibody) ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี ในความเป็นจริงยังมีระบบภูมิคุ้มกันอีกชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นก็คือ “ระบบภูมิคุ้มกันชนิดทีเซลล์ (T-cells)” อันเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในระบบภูมิคุ้มกันชนิดจำเพาะเจาะจง ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญในการจดจำเชื้อโรคหรือไวรัสที่เข้ามาสู่ร่างกายได้ในระยะเวลายาวนาน และสามารถตอบสนองต่อเชื้อโรคตัวเดิมในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดย T-cells มีหน้าที่ช่วยกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อในร่างกาย และช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานอื่นๆ ในร่างกายให้ตอบสนองดีขึ้น จึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการลดความรุนแรงของโรคและลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ วัคซีนป้องกันโควิด-19 เช่น วัคซีนชนิด Viral Vector มีคุณสมบัติในการกระตุ้น T-cells ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยาวนานเป็นเวลาหลายเดือน จึงสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3…จะมีผลข้างเคียงอย่างไร?

อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 นั้นพบได้น้อย ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง โดยเป็นอาการที่มักหายได้เอง อาทิ ปวดบริเวณที่ฉีด บวมแดง หรือมีไข้ เป็นต้น โดยหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ควรเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเอง จนครบ 30 นาที หากพบว่ามีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์ทันที

วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ในประเทศไทย…ตอบโจทย์ไหมในวันนี้?

จากการศึกษาในชีวิตจริงหรือในสถานการณ์จริงทั้งในประเทศและต่างประเทศ พบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กระตุ้นเข็มที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นชนิด mRNA หรือชนิด Viral Vector ก็ตาม สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ การเจ็บป่วยหนักในระดับที่ต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้สูง ในทุกสายพันธุ์ที่มีการระบาด รวมถึงสายพันธุ์โอมิครอน จึงสรุปได้ว่ามาตรการจัดสรรวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ของกระทรวงสาธารณสุขไทยตอบโจทย์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ดังนั้นประชาชนทุกคน ควรต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด-19 อย่างมีประสิทธิผล

ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตลอดไปไหม?

ยังไม่สามารถสรุปได้ ต้องรอข้อมูลการศึกษาเพิ่มเติม ทว่าแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้นในระยะยาวนั้นมีความเป็นไปได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริง 'ลิ่มเลือดสีขาว' ไม่เกี่ยวฉีดวัคซีนโควิด

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง ลิ่มเลือดสีขาว (White clot) และวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA จากกรณีที่มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการพบสิ่งแปลกปลอมซึ่งมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดสีขาว (White clot) ในหลอดเลือดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19

'หมอยง' ไขข้อข้องใจ 'วัคซีนโควิด' กับผลได้ผลเสีย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 วัคซีนโควิด 19

โควิดยังไม่แผ่ว! 'กลุ่มเสี่ยง' ยังต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิฯ

โควิดยังอยู่ แพทย์ชี้กลุ่มเสี่ยงยังต้องฉีดวัคซีนโควิด เน้นฉีดกระตุ้นภูมิฯ โดยสามารถฉีดฟรีได้ที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา