“ปรีชา การมงคล”พลิกบทบาทชีวิต จากผู้ค้าสลากสู่การเป็นเกษตรกรตัวจริง!

อ.วังสะพุง จ.เลย ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีผู้ประกอบอาชีพค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลรายย่อยมากที่สุดในประเทศไทย และถือเป็นพื้นที่ที่มีบทบาทพอสมควรในการเรียกร้องและต่อรองโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งจะมีชื่อของ “ปรีชา การมงคล ประธานผู้ค้าสลากรายย่อยจังหวัดเลย” ออกมาให้เห็นอยู่บ่อยๆ ในยุคนั้น แต่ปัจจุบัน “ปรีชา” ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต โดยการหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่บ้านเกิด และยอมรับว่า ชีวิตทุกวันนี้มีความสุขและเพียงพอ

อาทิตย์เอกเขนก สัปดาห์นี้มีโอกาสติดตาม พันโทหนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ลงพื้นที่ไปฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการเกษตรผสมผสาน ที่น้อมนำศาสตร์พระราชา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิต จาก “ปรีชา การมงคล” ที่พลิกบทบาทจากประธานผู้ค้าสลากรายย่อยจังหวัดเลย สู่การเป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.วังสะพุง จ.เลย

ซึ่งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรแห่งนี้ เริ่มต้นจากการที่ “ปรีชา” ซึ่งเดิมประกอบอาชีพเร่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ต่อมาตัดสินใจผันตัวเองหันมาเป็นเกษตรกร โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกพืชสวนครัวและพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด ประกอบด้วย กล้วยหอมทอง แตงร้าน บวบเหลี่ยม บวบหอม บวบลาย มันเทศญี่ปุ่น เสาวรส หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วฝักยาว น้ำเต้า มะเขือ พริก มะเขือเทศ ข้าวโพด ขนุน ยางพารา และยังทำปศุสัตว์ เลี้ยงเป็ดไข่ เป็ดเทศ ไก่พื้นเมือง พร้อมกับทำโรงปุ๋ยหมักเอง ทำให้มีรายได้เกิดขึ้นทุกวันจากการขายสินค้าเกษตร ขณะที่ค่าใช้จ่ายมีน้อยมาก สามารถปลดหนี้สิน ครอบครัวอบอุ่นและมีความสุข

“ปรีชา” เล่าว่า เมื่อก่อนมีหนี้สินเป็นหลักล้านบาทจากการกู้เงินเพื่อไปลงทุนซื้อสลากมาขาย ด้วยการจ้างลูกน้องขาย แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีปัญหา สลากขายไม่หมด จากเมื่อก่อนมีรายได้ 15 วันอยู่ที่ราว 7-8 หมื่นบาท แต่พอเหตุการณ์บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลง จากรายได้ระดับดังกล่าวก็เหลือราว 7-8 พันบาทเท่านั้น ทำไปทำมารายได้ไม่เพิ่ม แต่หนี้สินที่มีกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าชีวิตมีความไม่แน่นอนสูง ต้องต่อสู้ดิ้นรน จนถึงจุดหนึ่งที่ผมคิดว่า อยากมีชีวิตที่มีความสุข และบังเอิญได้มีโอกาสไปเห็นคลิปเกี่ยวกับการทำเกษตรด้วยการเดินตามรอยเท้าพ่อหลวง การนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งทำให้ชีวิตมีความสุข ผมเองก็อยากมีความสุขแบบนั้นบ้าง จึงเริ่มมาลองทำเกษตรแบบในปัจจุบันนี้

โดยเริ่มต้นจากการได้มีโอกาสเข้าไปอบรมในโครงการหลวงเป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน มีการนำหลักการคิด การลงมือทำ การเป็นผู้นำที่ดีและการเปลี่ยนแปลง จากศาสตร์ของพระราชาที่ได้จากการเรียนรู้ตลอดระยะเวลา มาปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ซึ่งได้มี “สำนักงานสลากฯ” เข้ามามีส่วนร่วมในการให้การสนับสนุนในหลายๆ ด้าน หลายๆ ฐานการเรียนรู้

“แรกเริ่มเลยผมลองทำควบคู่กันไป คือการขายสลากไปด้วย และทำเกษตรแบบเดินตามรอยเท้าพ่อไปด้วย แต่กลับกลายเป็นว่า หนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะเราต้องเอาเงินมาลงในที่ดิน เงินทุนมันจึงหายไปๆ ผมเลยลองใช้หลักการเข้าใจและเข้าถึงแก่นแท้ของคำว่า ศาสตร์พระราชาดู มาลองทำจริงๆ จังๆ จึงพักเรื่องการขายสลากที่ปัจจุบันผมยังได้รับโควตา 3 เล่ม แล้วหันมาทำเกษตรอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการเขียนแบบบนพื้นที่ที่เรามี ผมทำมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นอย่างที่เห็นในทุกวันนี้”

“ปรีชา” เล่าอีกว่า เมื่อก่อนต้องไปกู้เงินเพื่อไปซื้อสลากมาขาย แต่ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องกู้เงินแล้ว แต่เราใช้ของดีที่ผมมีอยู่ในพื้นที่มาทำให้มันเป็นเงินงอกเงยขึ้นมา โดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก ด้วยการเอาจุดเด่น จุดแข็งที่อยู่ในพื้นที่ของผม มาพัฒนาให้เป็นเงิน พอเรามีเงินมากๆ ก็เอาส่วนนี้ไปพยุงจุดอ่อนของเรา และดึงจุดอ่อนตรงนั้นขึ้นมา นั่นหมายความว่า สิ่งแรกที่เราจะต้องรู้คือ จุดอ่อนของเราคืออะไร และจุดแข็งของเรามีอะไร ตรงไหนบ้าง อย่างผมเอง จุดแข็งคือ ผมเป็นคนขยัน และมีแม่บ้านที่ทำอาหารอร่อย ผมก็ดึงจุดแข็งตรงนี้มาใช้ โดยการเปิดร้านขายอาหาร ทำให้ครอบครัวมีรายได้เข้ามาทุกวัน อย่างน้อยๆ วันละ 500 บาทถึง 1,000 บาท ครอบครัวมีรายได้ส่วนนี้เข้ามาทุกวัน และเราแบ่งรายได้จากส่วนนี้มาเสริมจุดอ่อน เช่น ผมยังขาดความรู้เรื่องการทำเห็ด ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยสอน ให้ความรู้ ทำให้ต่อไปผมจะมีรายได้จากเห็ดเข้ามาเสริม อย่างน้อยๆ วันละ 200-300 บาทแน่นอน

ผมวางแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างเรียบร้อย คิดว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีรายได้ประจำวัน ทำอย่างไรเราถึงจะมีรายได้ประจำสัปดาห์ ทำอย่างไรเราถึงจะมีรายได้ประจำเดือน และทำอย่างไรเราถึงจะมีรายได้ประจำปีที่เพียงพอ ไม่เดือดร้อน การหันมาใช้ชีวิตด้วยการเดินตามรอยเท้าพ่อ ด้วยการทำเกษตรแบบพอเพียง ทำให้ทุกวันนี้ครอบครัวของ “ปรีชา” มีรายได้ประจำวันจากร้านอาหารตามสั่ง มีรายได้ประจำอาทิตย์จากยางพารา มีรายได้ประจำเดือนจากผลผลิตบนพื้นที่เกษตรที่ออกมาแต่ละรอบ และมีรายได้ประจำปีจากการทำเกษตรแปลงใหญ่ เช่น อ้อย จนทำให้ทุกวันนี้แทบจะไม่ต้องหาซื้อวัตถุดิบมาทำกิน และยังมีรายได้เข้ามาทุกวันอีกด้วย

“ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ หลักๆ เลยไม่ได้มีแค่ไร่นาสวนผสมเท่านั้น แต่เรามีมากกว่าคำว่า 1 ไร่ 100,000 เพราะมีการเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน มีการเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ดเทศ เลี้ยงควายงาม และทำอาหารพืชใช้เอง มีสวนยางพารา 400 กว่าต้นที่สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 กว่าบาท ผมทำน้ำหมัก ทำปุ๋ยใช้เอง บนพื้นที่ 17 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวาตรงนี้ ผมมีความสุข” ปรีชาระบุ

“ตอนนี้ผมมีความสุขมากขึ้น กินอิ่ม นอนอุ่น หลับสบาย ไม่ต้องไปคิดวิตกกังวลว่าวันพรุ่งนี้เราจะขายสลากหมดไหม เราจะไปขายที่ไหน และพรุ่งนี้จะมีคนซื้อสลากเราไหม หรือพรุ่งนี้เราจะไปเอาสลากที่ไหนมาขาย ช่วงนั้นผมคิดไปหมดเลย แต่ตอนนี้เราคิดแค่ว่า ตื่นเช้ามา เรามาช่วยกันกรีดยางดีไหม ถ้าเรากรีดยางแปลว่าเรามีรายได้แน่ๆ แล้ว 2,000 บาท”

ทั้งนี้ ปัจจุบันศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพสินค้าการเกษตรแห่งนี้ มีเกษตรกรในพื้นที่ จ.เลย และจังหวัดใกล้เคียงเดินทางมาเรียนรู้และศึกษาดูงาน สามารถถ่ายทอดความรู้การทำเกษตรพอเพียงไปในวงกว้าง โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้สนับสนุนเงินบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ในการดำเนินงานของศูนย์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องด้วย

สำนักงานสลากฯ เข้ามาสนับสนุนเรื่องฐานการเรียนรู้ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ โดยเฉพาะจุดอำนวยความสะดวกเพื่อให้คนเข้ามาศึกษาดูงาน เช่น การสร้างอาคารอเนกประสงค์หลังใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนที่เข้ามาศึกษาดูงานจำนวนเยอะๆ 100-120 คนได้มีที่พักผ่อน มีโต๊ะ มีเครื่องฉายโปรเจกเตอร์สำหรับให้ความรู้ และที่ดีที่สุดคือ หน่วยงานอื่นๆ ยังได้อานิสงส์จากการสนับสนุนของสำนักงานสลากฯ อีกด้วย โดยเขาไม่ต้องหิ้วโน้ตบุ๊กหรืออุปกรณ์การทำงานมาเลยเวลาพาคนมาศึกษาดูงานที่นี่ นำเพียงอุปกรณ์เก็บข้อมูลมาเท่านั้น ตรงนี้คือสำนักงานสลากฯ มาสนับสนุนให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะให้ความรู้แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงานตรงนี้

อย่างไรก็ดี “ปรีชา” ฝากถึงคนที่อยากมาศึกษาดูงานที่นี่ อยากเชิญชวนพี่น้องที่ขายสลาก หรืออาชีพอื่นๆ ลองมาศึกษาแนวทางการทำเกษตรโดยใช้ศาสตร์พระราชา เดินตามรอยเท้าพ่อในการใช้ชีวิตแบบผม โดยใช้หลักคำว่าเข้าใจ เข้าถึงแก่นแท้ของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รับรองว่าชีวิตจะมีความสุขเหมือนที่ผมมีในทุกๆ วันนี้

“ทุกวันนี้ผมกล้าพูดและกล้าการันตีได้เลยว่าชีวิตผมมีความสุข เพราะว่าเงินที่อยู่ในบัญชีมันมากขึ้น จากเมื่อก่อนเงินอยู่ในบัญชีแทบไม่มี แถมยังติดลบ แต่ทุกวันนี้มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง ทำให้มีเงินในบัญชีเพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายแทบจะไม่มีเลย และอยากฝากพี่น้องที่ใครอยากจะเข้ามาทำจริงๆ คุณต้องเปลี่ยนวิธีคิด พลิกชีวิตด้วยสติปัญญา และลงมือทำ โดยใช้แนวคิด ท ท ท คือ ทำ ทัน ที อย่าช้า และต้องทำแบบผู้นำ!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มองภาพสะท้อนการออกแบบ เมือง‘ไต้หวัน’ผ่าน‘ไทจง-ไทเป’

“ไต้หวัน” หนึ่งในจุดมุ่งหมายที่ใครหลายคนอยากมาสัมผัส เพราะเป็นประเทศที่เหมาะกับการท่องเที่ยว ผู้คนเป็นมิตร มีวินัย เดินทางง่าย อากาศกำลังสบาย สะดวก ปลอดภัย

สรรพสามิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน ชู “แพร่โมเดล” ต้นแบบ โครงการ1ชุมชน1สรรพสามิตแชมเปี้ยน

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและยกระดับสินค้าชุมชน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “สุราชุมชน หรือสุราพื้นบ้าน” ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้านเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน

TSBถอดโมเดลระบบคมนาคม 'ไต้หวัน’ ปรับใช้กับ HOP Card ต่อยอดเพิ่มระบบชำระค่าสินค้า-บริการ

‘ไต้หวัน’ เมืองใหม่ตอบโจทย์การท่องเที่ยว หนึ่งในประเทศที่มีลักษณะโครงสร้างการคมนาคมขนส่งใกล้เคียงกับประเทศไทย ที่ในปัจจุบันก็มีการพัฒนาระบบรุดหน้าเป็นอย่างมาก

‘พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล’หวังกระทรวงอุตฯเป็นที่พึ่งของทุกคนอย่างแท้จริง

การเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงต่างๆ ในประเทศไทยนั้นต้องผ่านด้านการบริหารงานมาเข้มข้น และยังต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน์อย่างจริงจัง

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ลุยบิ๊กอีเวนต์ปลุกกระแสท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง

หลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเพิ่มศักยภาพจังหวัดท่องเที่ยว 55 จังหวัด (เมืองน่าเที่ยว) แก่ผู้ราชการจังหวัด 55 จังหวัดและผู้บริหารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยส่วนภูมิภาค

เชฟรอนชู4กลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างพันธมิตร-พัฒนาชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

จังหวัดสงขลา เป็นเมืองท่าและเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของภาคใต้ และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้