นวัตกรรมที่อยู่อาศัยรักษ์โลก “เสนา”เดินหน้าการพัฒนาบ้านพลังงานเป็นศูนย์

ปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์รักษ์โลกกำลังได้รับความนิยมจากต่างประเทศทำให้ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA ตระหนักถึงการตอบสนองที่จะทำให้การพัฒนาบ้านเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย คือ สามารถรองรับกิจกรรมการใช้ชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น มีความทันสมัยไม่ตกเทรนด์ สามารถลดภาระค่าครองชีพได้ ดูแลมิติด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ฯลฯ จากปัจจัยเหล่านี้จึงนำมาสู่ “บ้านพลังงานเป็นศูนย์” และ “คอนโด Low-Carbon” เพื่อรองรับภาวะโลกร้อน จนทำให้เกิดกระแสการตื่นตัวจากทั่วโลกในการร่วมกันก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero และยังรองรับมาตรการต่างๆ ที่จะออกมาใช้บังคับ โดยเฉพาะในไทยที่จะเตรียมออก พ.ร.บ. Climate Change

ทั้งนี้ ดร.ยุ้ย เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริษัท SENA เล่าว่า SENA มีจุดเริ่มต้นจากความมุ่งมั่นพัฒนาหมู่บ้านแถมไอเทมโซลาร์เซลล์ให้กับบ้านทุกหลังและคอนโดมิเนียมทุกโครงการ ซึ่งได้รับการตอบสนองจากลูกค้าเป็นอย่างดีในการลดค่าใช้จ่าย จึงทำให้เกิดการต่อยอดการพัฒนาด้วยการนำหลักคิดจาก บริษัท ฮันคิว ฮันชิน คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มาปรับและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและอากาศ รวมถึงรายจ่ายประจำเดือนของลูกบ้าน โดยมุ่งที่จะทำให้การใช้จ่ายด้านพลังงานใกล้เคียงศูนย์บาทมากที่สุด ด้วยการลดใช้ไฟฟ้าจากรัฐแต่ยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ

โดยได้ร่วมมือกับ ศูนย์บริการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและวิจัยการสร้างแบบจำลองบ้าน เพื่อออกแบบบ้านด้วยการศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของคนไทย แล้วคำนวณหาค่าไฟฟ้าจากรูปแบบบ้านที่แตกต่างกัน ซึ่งผลจากการวิจัยได้ข้อสรุปว่า บ้านแนวคิดพลังงานเป็นศูนย์ สามารถประหยัดพลังงานได้สูงสุด 38% โดยที่ลูกบ้านยังคงชีวิตได้ตามปกติ

พร้อมทั้งย้ำว่า “ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจกระแสรักษ์โลก SENA ต้องก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง ไม่ใช่แค่ติดโซลาร์ จากในอดีตมองว่าโลกร้อนเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว เกิดจากบ้านที่อยู่อาศัยเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 60% ของโลก เราไปทำอะไรกับโรงงานอุตสาหกรรมได้ไม่มาก ในฐานะเราเป็นคนสร้างที่อยู่อาศัย ทำให้มองเห็นว่าที่อยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตคาร์บอน ขณะที่โรงงานผลิตเป็นช่วงเวลา แต่บ้านที่อยู่อาศัยสามารถผลิตคาร์บอนได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

ดร.ยุ้ย ยังย้ำว่า การพัฒนาบ้านพลังงานเป็นศูนย์ ต้องมองอนาคตที่ไทยประกาศไว้ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะก้าวไปสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอนปี ค.ศ.2050 และไปสู่ Net Zero ปี ค.ศ.2065 และขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาจะออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไว้แล้ว หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า พ.ร.บ.โลกร้อน ซึ่งต่อไปจะเป็นภาคบังคับให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งออกใบอนุญาตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมและก่อสร้างบ้าน ในการหาสิทธิพิเศษเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการหันมาใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ญี่ปุ่นได้บังคับให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทุกรายทำบ้านรักษ์โลก หากไม่ทำจะถูกบทลงโทษ แต่หากผู้ประกอบการรายใดทำได้ตามเงื่อนไขจะมีงบประมาณสนับสนุนให้

 

สำหรับ SENA นั้นได้ร่วมกับฮันคิว ฮันชิน คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการที่อยู่อาศัยแบบครบวงจร ซึ่งนำนวัตกรรมการใช้วัสดุอุปกรณ์ผนวกกับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใกล้การมีที่อยู่อาศัยแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ และคอนโด Low-Carbon ได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ว่าแนวคิดดังกล่าวคืออะไร เพราะไม่มีประสบการณ์ Before และ After เพราะไม่เคยอยู่บ้านประเภทนี้มาก่อน แต่ทางเสนาได้สร้างให้หมดแล้วภายใต้หลักการ 1. Active Design คือ การออกแบบอาคารให้มีความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน โดยการนำเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ทันสมัยเข้ามาช่วยในการออกแบบ 2. Passive design การออกแบบอาคารให้มีความสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม 3.การมีระบบผลิตพลังงานใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน

ส่วนของคอนโด Low-Carbon ดร.ยุ้ยเล่าว่า จะเน้นการออกแบบที่อาศัยแนวคิดเรื่องสมาร์ทซิตี้มาประยุกต์ปรับใช้กับฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อให้เป็นชุมชนเมืองน่าอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ประหยัดรายจ่าย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่สำคัญยังมีระบบการให้บริการที่มีความสะดวกสบายใกล้แหล่งงาน โดยใช้แอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอย่างชาญฉลาด ด้วยการใช้เทคโนโลยี วางแผนการเดินทาง ที่สามารถช่วยในการลดมลภาวะ ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

“เราจะบอกว่า SENA ทำบ้านรุ่นใหม่ที่คุณอยู่แล้วใช้พลังงานน้อยมาก พลังงานที่คุณใช้เข้าใกล้ศูนย์ ก็เปรียบเหมือนกับการซื้อไฟจากหลวงน้อยมาก เหมือนกับคุณอยู่บ้านทั่วไปต้องจ่ายค่าไฟเดือนละ 4,000 บาท แต่อยู่ที่นี่จ่ายค่าไฟเดือนละ 1,500 บาท ตลอดระยะเวลา 20 ปี” ดร.ยุ้ย กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสียงเตือนของธรรมชาติ คือ สัญญาณที่โลกแสดงออกมา ถึงเวลาที่มนุษยชาติ ต้องเอาใจใส่รักษ์โลก

ปัจจุบัน “โลก” ของเราเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งเดียว เพราะแต่ละปีที่ผ่านมาได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งอย่างต่อเนื่อง

3 เทคนิคเลือกซื้อแอร์ติดผนังให้ประหยัดไฟและรักษ์โลก

สภาพอากาศเมืองไทยนั้นใครๆ ก็รู้ดีว่าเป็นเมืองร้อน ดังนั้นแอร์หรือเครื่องปรับอากาศย่อมเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญแทบจะทุกๆ สถานที่ Indoor แต่วิธีการเลือกซื้อแอร์ติดผนังนั้นก็มีเคล็ดลับหรือวิธีการเลือกอยู่เหมือนกัน

ชี้เป้าไอเดียของขวัญปีใหม่ยุครักษ์โลก

เทศกาลปีใหม่นับเป็นช่วงเวลาดี ๆ ของการเริ่มต้นใหม่และรับสิ่งดี ๆ ตั้งแต่ต้นปี หลายคนจึงกำลังมองหาของขวัญของฝากสำหรับเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้

"เสนา"ปักหมุดพัฒนาบ้านรักษ์โลกปี'66 ตอบโจทย์ลดค่าครองชีพ-หนุนNet Zero

กระแสการตื่นตัวที่สังคมพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆ คือปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพราะทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและธรรมชาติ