หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที และรัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ คณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 นายกรัฐมนตรี (พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา) ได้ขอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ทรงแถลงทำการแทน
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงกล่าวว่า
ปัญหาเฉพาะหน้าสภาผู้แทนราษฎรก็คือ พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสละราชสมบัติ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่จะพิจารณาก็คือว่า สภาผู้แทนราษฎรจะมีส่วนอย่างไรในเรื่องนี้ คือ กิจการที่สภาผู้แทนราษฎรจะปฏิบัติในเรื่องนี้มีอย่างไรบ้าง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามก็ดี หรือรัฐธรรมนูญอื่นๆก็ดี ย่อมไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการสละราชสมบัติ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า แอบดิเคชั่น (Abdication) ความก็ตรงกัน แอบดิเคชั่น (Abdication) ก็แปลว่า สละ สละตำแหน่งสูงๆ สิทธิสูงๆ คือสละราชสมบัตินั่นเอง แต่ว่าการสละราชสมบัตินี้ก็ได้เคยมีมาในประวัติศาสตร์ การสละราชสมบัตินั้น ถ้าเป็นไปด้วยความจำนงของผู้สละ ฝรั่งเรียกว่า วอลันตารี แอบดิเคชั่น (Voluntary abdication) สละโดยสมัคร ถ้าเช่นนั้นแล้วก็เป็นผลอันสมบูรณ์ได้ เพราะถือว่าราชสมบัติเป็นสมบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับทอดมาจากพระราชบรรพบุรุษ เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ทรงสิทธิในสมบัตินั้นจะสละก็ย่อมสละได้ โดยเทียบกับหลักกฎหมายธรรมดาว่า ผู้ที่ทรงสิทธิอยู่ย่อมสละได้
แต่ปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ในต่างประเทศนั้น ก็เนื่องมาจากว่า การสละราชสมบัติโดยสมัครนั้นมีตัวอย่างน้อยเต็มที หรือจะว่าไม่มีก็ได้ โดยมาก พระมหากษัตริย์ที่ทรงสละราชสมบัตินั้น เนื่องมาจากมีเหตุบังคับ คราวนี้เมื่อสละราชสมบัติในกรณีเช่นนั้น รัฐสภาในประเทศนั้นๆมักอยากจะกระทำการรุนแรงขึ้นไป คือ หมายความว่า อยากจะ ดีโพส (Depose) คือ ถอดพระมหากษัตริย์ ในกรณีเช่นนั้นแหละ จึงจะมีปัญหาขึ้น
แต่กรณีเฉพาะหน้าสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ หาได้ตกอยู่ในประเภทเช่นนั้นไม่ เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็ได้แสดงความประสงค์แล้วว่า อยากจะใคร่ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาครองราชย์สมบัติ แต่หากพระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติโดยน้ำพระทัยสมัครต่างหาก คราวนี้ในกรณีที่รัฐสภาไม่มีความประสงค์ที่จะ ดีโพส (Depose) คือถอดพระมหากษัตริย์นั้น ปัญหายุ่งยากที่เกิดขึ้นและได้เคยเถียงกันในการปฏิวัติในประเทศอังกฤษเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๘๘ เป็นต้น ก็เนื่องมาจากเวลานั้น มีพวกหนึ่งที่เชื่อใน ดีไวน์ไรท์ออฟคิง (Divine Right of King) ซึ่งถือว่าพระมหากกษัตริย์ทรงรับตำแหน่งหรือทรงสิทธิไว้ ทรงรับสิทธิมาจากพระผู้เป็นเจ้า ดีไวน์ไรท์ออฟคิง (Divine Right of King) พระมหากษัตริย์ทรงรับพระราชสิทธิมาจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้น พวกเหล่านี้ก็ถือว่า มีสิทธิได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า แล้วพระมหากษัตริย์ก็ทรงสละไม่ได้ นี่ก็เป็นพวกหนึ่งที่ถือคารมเช่นนั้น
แต่ในกรณีเฉพาะหน้าสภาผู้แทนราษฎรนี้ ก็ไม่ตกอยู่ในประเภทนนั้น เพราะว่าตามประเพณีของไทยก็ดี หรือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามก็ดี ราชสมบัติไม่ได้เป็นทรัพย์ที่ได้ทรงรับมาจากพระผู้เป็นเจ้า ปัญหาที่ได้เกิดขึ้นคือ ข้าพเจ้าชักตัวอย่างการปฏิวัติในประเทศอังกฤษในคริสต์ศักราช ๑๖๘๘ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นถือว่า รัฐสภาได้เลือกตั้ง หรือมีส่วนตั้งพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้น จึงถือว่าพระมหากษัตริย์จะทรงสละราชสมบัติไม่ได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมของรัฐสภา คือ ประเทศอังกฤษเขามี ๒ สภา สภาขุนนางกับสภาสามัญ แต่ว่าในที่สุด ก็ได้ตกลงกันเป็นสายกลาง ซึ่งมีปรากฏอยู่ใน บิลออฟไรท์ (Bill of Rights) ว่า พระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ได้ทรงสละราชสมบัติ คือ ตกลงเป็นกลาง ไม่ตกลงว่ารัฐสภานั้นเนื่องมาจากพระผู้เป็นเจ้าหรือสภาฯได้แต่งตั้ง แต่ได้มีข้อความบบ่งไว้ว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงสละราชสมบัติและราชบัลลังก์ว่างลง แล้วสภาฯก็ได้เชิญเสด็จพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปให้ขึ้นครองราชย์สมบัติ
คราวนี้ ถ้าจะเทียบกรณีการปฏิวัติในประเทศอังกฤษในคริสต์ศักราช ๑๖๘๘ กับกรณีของเรา จะเห็นว่า ไม่ตรงกันเลย เพราะว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ได้ทรงขึ้นครองราชสมบัติโดยการสืบราชสันตติวงศ์ ข้าพเจ้าจะขออ่านประกาศเมื่อเสวยราชย์
“ประกาศลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ มีรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งได้ทรงรับรัชทายาทสำเร็จราชการแผ่นดิน ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ฯลฯ”
แล้วข้อความที่ประกาศนั้นเกี่ยวกับพระมงกุฎเกล้าฯ ที่สวรรคตคราวนั้น แต่คำที่ประกาศในครั้งนั้นที่เกี่ยวด้วยการเสวยราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ก็มีอยู่ในตอนที่ว่า “ซึ่งได้ทรงรับรัชทายาทสำเร็จราชการแผ่นดิน” คือ หมายความว่า ทรงสืบราชสมบัติเหมือนกับสมบัติอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น การที่จะทรงสละราชสมบัตินี้ ก็ย่อมจะทรงกระทำได้ด้วยพระองค์เอง ด้วยความจำนงของพระองค์เอง เพราะพระองค์สมัครที่จะทรงกระทำเช่นนั้น
นี่ข้าพเจ้าพิจารณาแต่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
เพราะฉะนั้น สำหรับพระองค์ต่อไปอาจจะมีปัญหาขึ้นว่า สภาฯอาจจะต้องยินยอมด้วยก็ได้ แต่ข้าพเจ้าไม่พิจารณาในที่นี้ เพราะนอกประเด็น เฉพาะประเด็นเฉพาะหน้านี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับรัชทายาท คือเป็นการสืบราชสมบัติ มาบัดนี้ ทรงสละราชสมบัติด้วยพระทัยสมัคร เพราะฉะนั้น ตามหลักกฎหมายทั่วไป กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือประเพณีรัฐธรรมนูญ ตามที่ข้าพเจ้าได้ชี้แจงมา ก็ย่อมทรงทำได้ และนิติกรรมอันนั้น คือนิติกรรมพระราชหัตถเลขาที่ทรงสละราชสมบัติก็มีผลสมบูรณ์ในตัว แต่ทว่าต้องเป็นหลักฐานที่เชื่อได้ และเพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับประชาชนทั่วไป เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็จำต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และเชื่อว่าเป็นพระราชประสงค์เช่นนั้นด้วย
เมื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรรับทราบไว้ก็พอ เพราะการที่รับทราบไว้นี้ ก็แสดงว่านิติกรรมอันนั้น คืออันที่ทรงสละราชสมบัติเป็นหลักฐานในปัญหาเบื้องต้น คือทรงสละราชสมบัติ ข้าพเจ้ามีข้อชี้แจงแต่เพียงนี้
ต่อมา นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี กล่าวว่า
เท่าที่รัฐบาลได้อ่านใบลาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสนอต่อสภาฯนั้น สำหรับความเห็นของข้าพเจ้า ในการที่จะแถลงต่อไปนั้น ข้าพเจ้าขอเรียนในที่ประชุมให้ทราบเสียก่อนว่า เท่าที่ข้าพเจ้าจะได้พูดนี้ พูดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่ใช่พูดเห็นแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด พูดตรงๆ เพราะฉะนั้น ขอให้ที่ประชุมจงเข้าใจว่า คำพูดของข้าพเจ้าเช่นนี้ พูดไปโดยความสุจริตใจ ใบลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ เราจะต้องพิจารณากันดูให้รอบคอบก่อน เวลานี้ข้าพเจ้าแลเห็นว่าเป็นเวลาที่ออกจะคับขันอยู่มาก เราควรจะมองดูก่อนถึงสภาวะของบ้านเมืองเวลานี้ว่าเป็นอย่างไร นอกประเทศนั้นเราจะต้องถือว่าเป็นการสำคัญอย่างยิ่งทีเดียว ถ้าหากว่าในหลวงได้สละราชสมบัติออกไปจริงๆแล้ว ความยุ่งเหยิงในการเมืองต่างประเทศนั้น แน่ละไม่ต้องสงสัย ย่อมจะมีแทรกแซงขึ้นมาในภายหลังก็ได้ นี่เป็นข้อที่เราจะต้องระวังประโยชน์ของประเทศเราให้มากที่สุดที่จะเป็นได้
อีกข้อหนึ่งสำหรับการภายในประเทศเวลานี้ เราก็รู้สึกว่าความสงบภายในประเทศนั้นมีเพียงพอแล้วหรือ เราอาจจะกล่าวได้ว่ายังไม่เพียงพอนัก เราจะต้องระวังเรื่องนี้ให้มากทีเดียว อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าแลเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันนี้นั้นนับว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศก็ว่าได้ ยังมีประชาชนส่วนมากที่มีความพอใจและรักใคร่พระองค์อยู่ นี่เราจะต้องระลึกถึงข้อนี้ให้มาก
อนึ่ง ถ้าเราอนุมัติให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลาออกตามพระราชประสงค์แล้ว นั่นเองจะเป็นทางนำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยก็ได้ ซึ่งเราจะต้องนึกถึงข้อนี้ให้มาก ถ้าหากว่าจะให้เปลี่ยนบุคคลใหม่ดำเนินการของชาติแล้ว การสิ่งนั้นก็ย่อมจะเป็นไปในทำนองที่จะให้เหมาะสมที่สุดไม่ได้ ข้อนี้เราก็จะต้องพิจารณาเหมือนกัน
ความจริง เราควรที่จะรักษาความสงบของประเทศชาตินั้นไว้ให้มากที่สุด ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าแลเห็นเป็นอย่างยิ่งว่า ถ้าหากว่า เราจะประวิงเวลาการลาออกจากราชสมบัติของในหลวงไว้ โดยที่กราบบังคมทูลไปว่าสภาฯนี้ยังไม่อนุมัติให้ลาออกจากราชสมบัติ ขอให้ทรงราชสมบัติต่อไปอีกตามสมควร เช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การบ้านการเมืองของเราคงจะเรียบร้อยไปได้ เรื่องประวิงเวลานี้ เราก็ได้เคยมีอยู่แล้วในครั้งที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์ฯได้ลาออกจากประธานสภาฯ เราก็ได้ประวิงเวลาไป ขอให้ท่านเป็นประธานสภาฯอยู่ต่อไป นั่นก็หมายความว่า เรายังเป็นห่วงเป็นใยอยู่มาก นี่ข้อหนึ่ง ถึงแม้ว่า เจ้าคุณนายกฯ (พระยาพหลฯ) ก็เหมือนกัน ในการที่ท่านลาออกไปครั้งหนึ่งแล้ว เราก็ได้ไปอ้อนวอนกันแทบตาย ในที่สุด ท่านทนไม่ได้ก็รับ เช่นนี้ เป็นต้น ส่วนในหลวงนั้น ก็ควรจะประวิงเวลาไปโดยขอร้องให้ท่านอยู่ในราชสมบัติต่อไปก่อน อย่างนั้น เห็นจะดีกว่าการที่เราจะได้อนุมัติให้การลาออกสำเร็จไปโดยง่าย ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นนี้
(โปรดติดตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ในตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490