พรรคประชาธิปัตย์ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” โดยมีเชิงอรรถอ้างอิง 4 รายการ
ผู้เขียนได้กล่าวถึง "Demise of the Democrat Party in Thailand" (มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์) ของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) ไปแล้ว และได้กล่าวถึงส่วนหนึ่งของรายการที่สองคือ “Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". GlobalSecurity.org. (เมษายน พ.ศ. 2555)(https://www.globalsecurity.org/military/world/thailand/political-party-dp.htm) GlobalSecurity
ในตอนนี้จะกล่าวถึงความเห็นของ GlobalSecurity ที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป
“ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรถึง 377 ที่นั่งในทั้งหมด 500 ที่นั่ง และจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่ต้องเป็นรัฐบาลผสม ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ท่ามกลางการชุมนุมเบนท้องถนนของมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้ทักษิณลาออก ทักษิณได้ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน พรรคการเมืองหลักสามพรรคที่เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย ไม่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนเวลาอันควรด้วยเหตุผลที่ว่าพรรคที่เป็นรัฐบาลนั้นจะทุจริตในการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน และการเลือกตั้งซ่อมที่ตามมาก็ไม่สามารถทำให้มีจำนวน ส.ส. พอที่จะเปิดประชุมสภาได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งกำหนดว่า ในเขตเลือกตั้งหนึ่งๆ ถ้ามีผู้สมัครคนเดียวได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ มีผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยที่เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวใน 13 เขตเลือกตั้งได้คะแนนไม่ถึงร้อยละยี่สิบ ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมสภาฯลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้
ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายนเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ต่อมาในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนได้คะแนนเสียงมากที่สุด ตามด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคอื่นๆ แต่ไม่มีพรรคใดได้คะแนนเสียงเกินครึ่งสภาฯ พรรคพลังประชาชนจึงจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมี สมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของประเทศไทย และมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน และในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พรรคพลังประชาชนได้รับการลงคะแนนในสภาฯให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 แทนสมัคร สุนทรเวชที่ต้องพ้นจากตำแหน่งจากคำตัดสินของศาลที่วินิจฉัยว่าเขากระทำผิดรัฐธรรมนูญโดยจัดรายการโทรทัศน์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ต่อมา ในการประชุมสภาฯสมัยวิสามัญวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้รับลงคะแนนในสภาฯให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ด้วยคะแนนเสียงรับรอง 253 และคะแนนไม่รับรอง 198 การเปิดประชุมสภาฯสมัยวิสามัญครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคร่วมรัฐบาลชุดก่อนสามพรรค อันได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในข้อหาทุจริตการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่ส่งผลให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที และตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์อันเป็นพรรคที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศได้จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยมีผู้นำคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552 กลุ่มแนวรวมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการได้ขับเคลื่อนประชาชนจำนวนนับแสนออกมาชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ คือ หนึ่ง ให้ประธานองคมนตรีและองคมนตรีบางคนลาออก สอง ให้นายกรัฐมนตรีลาออก สาม ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีการปฏิรูปการเมือง ในการหาเสียงเลือกตั้งหลักของพรรคประชาธิปัตย์ในปี พ.ศ. 2554 มีดังนี้คือ ประกันราคาข้าว, ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มร้อยละ 25, ปราบปรามยาเสพติด ออกเอกสารสิทธิชุมชมให้แก่ 250,000 ครัวเรือน หลักประกันกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนสองแสนห้าหมื่นคน และพรรคประชาธิปัตย์จะยังคงรักษาโครงการสวัสดิการสังคมเจ็ดโครงการ รวมทั้งไม่เก็บค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟต่ำกว่า 90 ยูนิตลงไป และมีกองทุนสนับสนุนน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม อีกทั้งยังจะขยายโครงการการศึกษาฟรี 15 ปีครอบคลุมถึงระดับมหาวิทยาลัย และยังมีโครงการใหม่เจ็ดโครงการ รวมถึง การพัฒนาร่วมกันระหว่างจีน-ไทยในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อจีน ไทยและมาเลเซีย
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 การแข่งขันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะเป็นไปอย่างเข้มข้น นั่นคือ เป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคใหญ่ และผลการเลือกตั้งน่าจะสูสีกัน โดยตัดสินกันที่นโยบายพรรค
อย่างไรก็ตาม นโยบายของทั้งสองพรรคดูเหมือนจะลอกกันและกัน ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาว่าอีกฝ่ายลอก นับตั้งแต่โครงการรถไฟความเร็วสูงไปจนถึงการเพิ่มเงินเดือนลูกจ้างรัฐและเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แต่นโยบายที่แตกต่างอย่างยิ่งคือ พรรคเพื่อไทยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักการเมืองทั้งหมดที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่ถูกต้องว่ากระทำผิด และหนึ่งในนักการเมืองนั้นก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตรที่ลี้ภัยไปตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี พ.ศ. 2549 พรรคประชาธิปัตย์ต่อต้านการพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยให้เหตุผลว่า การนิรโทษจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น และอาจนำประเทศไปสู่สถานการณ์ความรุนแรงอีกครั้ง
ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. ข้างมากในสภาและประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น จากการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พรรคเพื่อไทยมาเป็นที่หนึ่งในการเลือกตั้ง ด้วย ส.ส. 265 ส่วนประชาธิปัตย์มาเป็นที่สอง ได้ ส.ส. 159 ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะแสดงความรับผิดชอบที่นำพรรคได้ ส.ส. น้อยกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาโดยการลาออก เพราะก่อนหน้านั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 165
อภิสิทธิ์กล่าวว่า เขาอยากจะเห็นรัฐบาลใหม่เดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน โดยไม่ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของชาติ เขายืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และชี้ว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปพิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยไทยกำลังเดินหน้าไปได้ และเตือนรัฐบาลใหม่ว่า ไม่ควรนำคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นของอดีตนายกฯทักษิณมาพิจารณาใหม่ และการปรองดองจะต้องไม่นำไปรวมกับประเด็นเรื่องนิรโทษกรรม อภิสิทธิ์เชื่อว่า การเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่พาประเทศไปสู่ความปกติ และตัวเขาเคารพการตัดสินใจของประชาชน”
สรุปคือ ข้อเขียนของโจชัว เคอร์แลนต์ซิคได้กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นพรรคแนวอนุรักษ์นิยม ส่วนข้อเขียน “Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat" ของ GlobalSecurity กล่าวว่า ในช่วงก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยเป็นพรรค monarchist และต่อมามีจุดยืนในแบบเสรีนิยม
คนประชาธิปัตย์ควรมีเวลาใส่ใจภาพสะท้อนของพรรคจากสายตาของนักวิเคราะห์ต่างประเทศทั้งสองนี้ เพื่อการมี “อนาคต” ของพรรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดร.เอ้' เรียก 'ทีมกทม. ปชป.' ประชุมวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร เรียกประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และคณะทำงานพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเชิญ น.ต. สุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าพรรค
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)
ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
'อดีตแม่ยกปชป.' เตือน 'ทักษิณ' พาดพิง 'ชวน' ถือว่าคิดผิด เชื่อใกล้จบอนาคตในเร็ววันนี้
นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489
'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา