ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓๑): การสละราชสมบัติ

 

ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘   ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗  เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้ นั่นคือ เอกสารพระราชบันทึกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนการสละราชสมบัติและคำสนองพระราชบันทึกของคณะรัฐบาล 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้นำเสนอพระราชบันทึกข้อ ๑  ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “สนองพระราชบันทึก” ที่ฝ่ายรัฐบาลทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ “พระราชกระแสที่ทรงไขความแก้คำสนองของรัฐบาลในข้อ ๑”      

ในตอนนี้ จะได้นำเสนอ “สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๑” ที่รัฐบาลได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯตอบ และ “ 

สนองพระราชกระแสที่ทรงไขความข้อ ๑     

“พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้สัญญาว่ากระไรนั้น (สัญญากับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯว่าจะทูลเกล้าฯบัญชีรายนามผู้ที่เสนอให้เป็นสมาชิกประเภทที่ ๒ เป็นเวลานานและเสนอรายชื่อมากกว่าจำนวนสมาชิกที่ต้องการตั้ง ก่อนที่จะตราขึ้นเป็นพระราชกฤษฎีกา เพื่อให้พระองค์ได้ทรงมีเวลาพิจารณาและได้ทรงเลือกตามพระราชวินิจฉัยของพระองค์บ้าง แต่กลับมิได้เป็นเช่นนั้น นั่นคือ ส่งรายชื่อตามจำนวนที่ต้องตั้งและทูลเกล้าฯให้ในตอนกลางคืนก่อนวันที่มีพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎร พระองค์จึงทรงมีเวลาเพียง 12 ชั่วโมงเท่านั้น/ผู้เขียน/ ดูตอนที่ ๓๐) รัฐบาลไม่อาจที่จะทราบได้เลย พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ปิดบังความจริงที่ได้กราบบังคมทูลไว้ รัฐบาลเพิ่งทราบโดยพระราชบันทึกไขความฉบับหลังนี้เอง       

ส่วนรายนามสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งได้นำทูลเกล้าฯถวาย รับสั่งว่า ๑๒ ชั่วโมงก่อนเริ่มพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรนั้น ความจริงเป็นดั่งนี้ 

ในระหว่างที่เกิดกบฏ (กบฏบวรเดช ในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2476/ผู้เขียน) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปประทับที่สงขลา รัฐบาลได้พยายามกราบบังคมทูลขอให้รีบทรงกลับสู่พระนคร เพื่อที่จะได้ทรงพระราชทานความเห็นในการเลือกสมาชิกประเภทที่ ๒ แต่พระองค์ก็หาได้เสด็จกลับไม่ คงเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖  ซึ่งรุ่งขึ้นก็จะเริ่มการพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงขอพระราชทานโอกาสให้ได้เข้าเฝ้าเพื่อทูลเกล้าฯถวายรายนามสมาชิกประเภทที่ ๒ ก็โปรดเกล้าฯให้เข้าเฝ้าได้ต่อเมื่อเวลาค่ำและขณะที่เฝ้านี้เอง   รัฐบาลได้ทูลเกล้าฯถวายรายนามสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งรัฐบาลได้คัดเลือกจากข้าราชการสัญญาบัตร หรือเทียบสัญญาบัตรตามที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนบันทึกฉบับก่อน (ดู สนองพระราชบันทึก ในตอนที่ ๓๐/ผู้เขียน)

อีกประการ ๑ ข้อไขความที่ว่า ในขณะที่เกิดกบฏนั้นยังไม่มีสมาชิกประเภทที่ ๒ เลย มีแต่สมาชิกประเภทเดียว กบฏจะมาอ้างถึงสมาชิกประเภทที่ ๒ ก็ดูกระไรอยู่”                         

-----

พระราชบันทึก ข้อ ๒

“เนื่องจากเหตุที่สภาผู้แทนราษฎรของเรา ยังไม่เป็นสภาที่มีผู้แทนราษฎรเลือกตั้งทั้งสิ้นเอง จึงมีผู้คิดเห็นว่ามาตรา ๓๙ แห่งรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่เหมาะ เพราะพระราชบัญญัติใดๆที่พระมหากษัตริย์ทรงคัดค้าน สภาฯอาจยืนยันให้เป็นไปตามเดิมได้โดยความเห็นข้างมากแม้แต่เสียงเดียว (simple majority)                   

[มาตรา ๓๙ แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ มีความว่า ‘ถ้าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น จะได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันที่นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯถวายก็ดี หรือมิได้พระราชทานคืนมายังสภาภายในเดือนหนึ่งก็ดี สภาจะต้องปรึกษากันใหม่และออกเสียงลงคะแนนลับโดยวิธีเรียกชื่อ ถ้าและสภาลงมติตามเดิมไซร้ท่านให้นําร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชทานลงมาภายในสิบห้าวันแล้วท่านให้ประกาศพระราชบัญญัตินั้นใช้บังคับเป็นกฎหมายได้”/ ผู้เขียน]

ตามธรรมดา กฎหมายหรือนโยบายใดๆที่พระมหากษัตริย์จะทรงคัดค้านนั้น คงจะต้องเป็นเรื่องสำคัญมาก และเกี่ยวกับการได้เสียของประชาชนหรือหลักการอันสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงเห็นกันว่าก่อนที่จะให้สภาฯลบล้างคำคัดค้านของประมุขของชาติได้ ควรจะต้องให้ปรากฏแน่ชัดว่าราษฎรมีความเห็นด้วยกับนโยบายหรือกฎหมายนั้นจริงๆ ในประเทศต่างๆย่อมใช้วิธีการต่างๆกันเพื่อสอบความเห็นของราษฎรอย่างที่ในประเทศสวิสมีการลงคะแนนทั้งประเทศ (plebiscite)  ในประเทศอื่นๆอาจใช้วิธียุบสภาให้เลือกตั้งขึ้นมาใหม่  และโดยมากนั้น ถ้าให้โอกาสให้ประมุขของประเทศคัดค้าน (veto) ได้แล้ว ก็มักจะต้องให้สภาฯลงมติมีเสียงข้างมาก ๒ ใน ๓ หรือ ๓ ใน ๔ แล้วจึงจะลบล้างเสียงคัดค้านของประมุขได้ (ดูตัวอย่างสหปาลีรัฐิอเมริกา)  ในประเทศสยามก็เช่นเดียวกัน มีผู้ที่เห็นควรให้มีเสียงข้างมากอย่างน้อย ๒ ใน ๓ เพื่อลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์จึงจะควร  การนับเอาเสียงข้างมากเฉยๆ (simple majority) เช่นที่เป็นอยู่นี้เท่ากับไม่ได้ถวายพระราชอำนาจในทางคัดค้านเลย  และเมื่อสภาฯมีสมาชิกซึ่งรัฐบาลเลือกตั้งขึ้นเองถึง ครึ่งหนึ่ง เช่นนี้ แปลว่าสภาฯอาจลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์ได้โดยเสียงของสมาชิกซึ่งราษฎรเลือก ตั้งจริง จริงเพียง ๑ เสียง  ซึ่งแปลว่าสภาอาจสนับสนุนนโยบายซึ่งราษฎรไม่ได้เห็นด้วยจริงๆ หรือไม่ต้องการเลยจนนิดเดียว ถ้าจะให้เป็นว่าเอาเสียงราษฎรเป็นใหญ่จริงๆ จะต้องให้มีเสียงข้างมาก ๓ ใน ๔ เพื่อลบล้างคำคัดค้านจึงจะควร แปลว่าอย่างน้อยต้องให้มีเสียงสมาชิกที่ราษฎรเลือกจริงๆ ครึ่งหนึ่ง เห็นด้วยกับการลบล้างนั้น

โดยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นควรแก้รัฐธรรมนูญในข้อนี้ให้เป็นว่า ‘ถ้าและสภาฯลงมติตามเดิมโดยมีเสียงข้างมาก ๓ ใน ๔ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด’ ฯลฯ หรือจะเติมข้อความให้ได้ผลเช่นนั้นลงไปใน ‘บทเฉพาะกาล’ ก็ได้ คือ ถ้าเลิกใช้บทเฉพาะกาลเมื่อไร ก็ให้เลิกข้อความนั้นก็ได้  เพราะถ้าสภาฯเป็นสภาที่ราษฎรเลือกเองทั้งหมดแล้ว ข้อรังเกียจตามที่กล่าวแล้วข้างบนย่อมหมดไป  ถึงกระนั้นก็ดี การเหนี่ยวรั้งการออกกฎหมายหรือดำเนินนโยบายนั้นก็ยังควรมีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ในประเทศอื่นๆ เขาก็เห็นความจำเป็น จึงมีสภาสูง (Senate) เพื่อเหนี่ยวรั้ง เป็นต้น โดยเฉพาะในประเทศสยาม เรายังไม่คุ้นเคยแก่วิธีการปกครองอย่างใหม่นี้ ทำให้รู้สึกความจำเป็นในข้อนี้มากขึ้น                   

การที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงในข้อนี้ ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าต้องการอำนาจ เพราะข้าพเจ้าเบื่อหน่ายต่อการเมืองเต็มที ที่ร้องขอให้แก้ ก็เพราะข้อนี้เป็นข้อที่ทำให้คนไม่พอใจในรัฐธรรมนูญตามที่เป็นอยู่นี้ นอกจากนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรับบาปรับความซัดทอด และ รับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือของสภาฯมิได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจคน ข้าพเจ้าก็จะถูกติเตียนว่า ‘ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม’  ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน และบางครั้ง หนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลก็ชอบพูดซัดทอดด้วย เช่นว่า ‘ทรงเห็นด้วยและทรงยอมแล้ว’ และเมื่อคัดค้านให้เป็นผลจริงๆไม่ได้แล้ว ยังซัดทอดกันอยู่อย่างนี้ก็เป็นการหนักมือมาก

ถ้าไม่อยากจะถวายอำนาจในการคัดค้านแก่พระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น จะเปลี่ยนว่า ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงคัดค้านกฎหมายใดๆแล้ว ต้องให้มีการเลือกตั้งกันใหม่แล้วเปลี่ยนวิธีเลือกสมาชิกประเภทที่ ๒ หรือกำหนดวิธีการให้ราษฎรออกเสียงโดยตรง ก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ย่อมมีเสียงอยู่ได้เสมอว่า การปกครองตามที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆ ไม่ใช่ ‘Democracy’ จริงๆเลย” 

------ 

ในตอนหน้า จะนำเสนอ “สนองพระราชบันทึก” หรือข้อโต้แย้งของฝ่ายรัฐบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490