หลังจากที่ได้พิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมและพระบรมราชวินิจฉัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีต่อเค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการลงมติ ซึ่งผลการลงมติคือ เสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจที่หลวงประดิษฐ์ฯเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณากำหนดเป็นนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติ
มี “นักวิชาการ” กล่าวว่า จากผลการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนจุดยืนที่มีต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ เพราะก่อนหน้านี้ “ในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๔๗๖ หลวงประดิษฐ์ฯได้เสนอร่าง ‘เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ’ ต่อคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตกลงให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น ๑๔ คน เพื่อพิจารณาร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับดังกล่าว” [1] และคณะอนุกรรมการได้ประชุมกันเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีผู้เข้าประชุม คือ (๑) หลวงคหกรรมบดี (๒) หลวงเดชสหกรณ์ (๓) หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์ (๔) นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช (๕) นายทวี บุญยเกตุ (๖) นายแนบ พหลโยธิน (๗) หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (๘) นายประยูร ภมรมนตรี (๙) พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (๑๐) นายพลเรือโท พระยาราชวังสัน (๑๑) นายวิลาศ โอสถานนท์ (๑๒) พระยาศรีวิศาลวาจา (๑๓) หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ (๑๔) หลวงอรรถสารประสิทธิ์ [2]
โดยนักวิชาการที่ว่านี้คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและรองศาสตราจารย์ ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และทั้งสองท่านได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่า “คณะกรรมานุการ (คณะอนุกรรมการ/ผู้เขียน) พิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ประชุมกัน เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม หลังจากการซักถามในหลักการ ที่ประชุมก็ได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับเค้าโครงฯฉบับนี้ ๘ นาย ได้แก่ หลวงประดิษฐ์ฯ, หลวงเดชสหกรณ์, นายแนบ พหลโยธิน, หม่อมเจ้าสกลวรรณากร วรวรรณ, หลวงคหกรรมบดี, หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์, นายทวี บุญยเกตุ และนายวิลาศ โอสถานนท์ ที่คัดค้านคือกลุ่มพระยามโนปกรณ์ฯ มี พล.ร.ท. พระยาราชวังสัน, พระยาศรีวิศาลวาจา พ.อ. พระยาทรงสุรเดช รวม ๔ เสียง ที่หายไป ๒ เสียง คือ คือ นายประยูร ภมรมนตรี และหลวงอรรถสารประสิทธิ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการ นอกจากนี้กลุ่มคัดค้านยังได้เตรียมร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจอย่างคร่าวๆเสนอต่อที่ประชุมด้วยเช่นกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดประเด็นเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีแนวทางเศรษฐกิจที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจน” [3]
จากข้อความในเครื่องหมายคำพูดข้างต้น ผู้อ่านย่อมจะเข้าใจว่า ในการประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯมีการลงมติต่อเค้าโครงฯดังกล่าว แต่หลังจากที่ผู้เขียนได้ตรวจสอบกับข้อความใน “สำเนาต้นฉบับ” ที่ตีพิมพ์ใน “ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 357-372” ภายใต้หัวข้อ “(ลับ) ง. รายงานการประชุมกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ณ วังปารุสกัน วันที่ ๑๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ (๒๔๗๖/ผู้เขียน)” ไม่พบข้อความใดๆที่บันทึกว่าได้มีการลงมติ
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ตรวจสอบกับหนังสือเรื่อง “National Economic Policy Luang Pradist Manudharm (Pridi Banomyong) from Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years Since the Revolution 1932” โดย Kenneth Perry Landon [4] ซึ่งมีบทที่แปลต้นฉบับรายงานการประชุมดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษภายใต้หัวข้อ “D. Minutes of a Meeting of a Committee to Consider a National Economic Policy at Paruskavan Palace” ตั้งแต่หน้า 58-78 ก็ไม่พบข้อความใดๆที่บันทึกว่าได้มีการลงมติ
ดังนั้น ทั้งสำเนาต้นฉบับภาษาไทย ในหนังสือของ ชัยอนันต์และขัตตติยา กับ ฉบับแปลภาษาอังกฤษของ Landon จึงตรงกันตรงที่ไม่ปรากฏข้อความใดๆที่กล่าวว่าได้มีการลงมติในการประชุมครั้งนั้น
และที่สำคัญคือ ทั้งสำเนาต้นฉบับภาษาไทยและฉบับแปลภาษาอังกฤษมีบันทึกคำกล่าวของพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นผู้กล่าวท้ายสุดในการประชุมฯ มีข้อความตรงกันว่า
“วันนี้ เราไม่ได้มาตกลงกัน เป็นแต่มาแสดงความเห็นเท่านั้น” [5]
“We came here today not to reach an agreement but to express our opinions.” [6]
จากข้อความที่ตรงกันของทั้งสำเนาต้นฉบับภาษาไทยและฉบับแปลภาษาอังกฤษ ชี้ชัดว่า ในการประชุมฯวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ไม่มีการลงมติ
แต่สิ่งที่อาจจะเป็นความแตกต่างระหว่าง “สำเนาต้นฉบับภาษาไทย” ในหนังสือของ ชัยอนันต์และขัตติยา กับฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ Landon ก็คือ ในสำเนาแปลของ Landon จะมีข้อความในส่วนท้ายของบันทึกรายงานการประชุมที่กล่าวว่า
“The committee agreed to submit its minutes to the revolutionary party and to forward to the state council both a majority and a minority report.” (ผู้เขียนแปลกลับมาเป็นภาษาไทยได้ความว่า “คณะกรรมานุการตกลงที่จะเสนอรายงานการประชุมไปยังคณะผู้ก่อการและส่งไปยังคณะรัฐมนตรี ทั้งรายงานของฝ่ายข้างมากและรายงานของฝ่ายข้างน้อย”
แต่ข้อความในสำเนาต้นฉบับในภาษาไทยในหนังสือของ ชัยอนันต์และขัตติยา กล่าวว่า
“ที่ประชุมตกลงว่า ให้เสนอรายงานการประชุมต่อผู้ก่อการ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี คือว่า ความเห็นแตกออกเป็น ๒ ทาง”
จะเห็นได้ว่า ในสำเนาต้นฉบับภาษาไทย มิได้ปรากฏข้อความในบันทึกรายงานการประชุมว่า มี “ข้างมาก” และ “ข้างน้อย” แต่อย่างใด จะมีกล่าวแต่เพียง “แตกแยกออกเป็น ๒ ทาง”
ในฉบับแปลของ Landon ยังมีข้อความว่า
“1. THE MINORITY OPINION (Phya Manopakorn Nititada, et at): we recommend that the government follow the economic programme of the previous government, incorporating into it certain specific changes whenever they can be effected; and that the government not promulgate any particular economic plan.
2. THE MAJORITY OPINION (Luang Pradist Manudharm, et al): we recommend that the government adopt a definite system of economic procedure; and that, in particular, it promulgate the national economic policy of Luang Pradist Manudharm; that when a system has been adopted, a national economic council be established to prepare estimates and a programme of procedure; and that consequent expansion be limited only by the financial position of the government.” [7]
ส่วนข้อความในสำเนาต้นฉบับในภาษาไทยในหนังสือของ ชัยอนันต์และขัตติยา กล่าวว่า
“๑. ทางพระยามโนฯให้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างรัฐบาลเก่า และเลือกทำให้แปลกกว่าตามโอกาสอำนวย ไม่วางนโยบายเศรษฐกิจไว้
๒. ทางหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้วางหลักที่จะทำและดำเนินนโยบายตามเค้าโครงการ เมื่อตกลงนโยบายอันใดให้แล้ว ตั้งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติสำรวจและวางแผน เมื่อมีกำลังแรงทุนเพียงใด ทำเพียงเท่านั้น” [8]
เมื่อเทียบฉบับแปลของ Landon และสำเนาต้นฉบับในภาษาไทยในหนังสือของ ชัยอนันต์และขัตติยา จะพบความแตกต่าง ๒ ประการคือ
๑. ในขณะที่ฉบับแปลภาษาอังกฤษกล่าวว่า ฝ่ายพระยามโนฯเป็นความเห็นเสียงข้างน้อย และฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯเป็นความเห็นเสียงข้างมาก ส่วนสำเนาต้นฉบับรายงานการประชุมฯไม่มีการกล่าวว่า ฝ่ายพระยามโนฯเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย และฝ่ายหลวงประดิษฐ์ฯเป็นฝ่ายเสียงข้างมากแต่อย่างใด
๒. ในขณะที่ฉบับแปลภาษาอังกฤษมีคำว่า et al ตามหลังพระยามโนฯและหลวงประดิษฐ์ฯ ซึ่งคำว่า et al หมายถึง “และอื่นๆ” นั่นคือ หมายถึงคนอื่นๆ แต่ในสำเนาต้นฉบับรายงานการประชุมฯไม่มีการกล่าวถึง “คนอื่นๆ”
ถ้าข้อความในสำเนาต้นฉบับภาษาไทยในหนังสือของชัยอนันต์และขัตติยาถูกต้องครบถ้วนตามต้นฉบับ ก็แปลว่า ในการแปลรายงานการประชุมฯเป็นภาษาอังกฤษ Landon ได้เพิ่มเติมเรื่องความเห็นฝ่ายเสียงข้างมากและข้างน้อยเข้าไปอีก รวมทั้ง “et al” ด้วย และถ้า Landon มีความเคร่งครัดในการแปลความตามต้นฉบับจริงๆ เขาก็ควรใส่ความเห็นและการตีความเรื่องเสียงข้างมาก/ข้างน้อยไว้หลังการลงนามของหลวงอรรถสารประสิทธิ์ ที่เป็นผู้จดรายงานการประชุม แต่เขากลับใส่ความเห็นและการตีความของเขาก่อนการลงนามของหลวงอรรถสารประสิทธิ์ ทำให้ผู้อ่านย่อมจะต้องเข้าใจไปว่า เรื่องเสียงข้างมาก/ข้างน้อย และ “คนอื่นๆ” เป็นการจดบันทึกรายงานการประชุมฯของหลวงอรรถสารประสิทธิ์ และเสียงข้างมาก/ข้างน้อยเกิดจากการนับหรือคาดคะเนของหลวงอรรถสารประสิทธิ์ผู้อยู่ในการประชุมวันนั้น
อย่างไรก็ตาม แหล่งอ้างอิงที่ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์ใช้ในการเขียนว่ามีการลงมติในที่ประชุมวันนั้น และมีรายชื่อของฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯและฝ่ายเสียงข้างน้อยที่คัดค้าน ทั้งสองไม่ได้อ้างอิงจากหนังสือของชัยอนันต์และขัตติยา และไม่ได้อ้างอิงจากหนังสือของ Landon แต่ทั้งสองอ้างอิงจากเอกสารสองเล่ม นั่นคือ ๑. หนังสือของ “เดือน บุนนาค, ท่านปรีดี รัฐบุรุษอาวุโส ผู้วางแผนเศรษฐกิจไทยคนแรก (พระนคร: เสริมวิทย์บรรณาการ, 2500) หน้า 156-194 และ ๒. วีณา มโนพิโมกษ์, ความขัดแย้งภายในคณะราษฎร, วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 65. [9]
ดังนั้น ก่อนที่จะสรุปตัดสินว่า ชาญวิทย์และธำรงศักดิ์ใส่ข้อความเรื่องมีการลงมติ ฝ่ายเสียงข้างมาก/ข้างน้อยและรายชื่อของทั้งสองฝ่ายไปเอง ผู้เขียนจะต้องไปสืบค้นหนังสือสองเล่มที่ทั้งสองใช้อ้างอิง และจะได้นำเสนอแก่ท่านผู้อ่านในตอนต่อไป
[1] เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ มนูธรรม, ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์_มนูธรรม
[2] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 357.
[3] ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2560), หน้า 349.
[4] Kenneth Perry Landon, National Economic Policy Luang Pradist Manudharm (Pridi Banomyong) from Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years Since the Revolution 1932, Committees on the Project for the National Celebration on the Occasion of the Centennial Anniversary of Pridi Banomyong, Senior Statesman (private sector), (Bangkok: Ruankaew Printing House: 1999).
[5] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 372.
[6] Kenneth Perry Landon, National Economic Policy Luang Pradist Manudharm (Pridi Banomyong) from Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years Since the Revolution 1932, opcit., p. 77.
[7] Kenneth Perry Landon, National Economic Policy Luang Pradist Manudharm (Pridi Banomyong) from Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five Years Since the Revolution 1932, opcit., p. 77.
[8] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 372.
[9] ดูหน้า 349 และหน้า 385 เชิงอรรถที่ 151 ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ปฏิวัติ 2475 1932 Revolution in Siam, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์: 2560)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490