เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๗): การยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

 

การยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นับเป็นการยุบสภาฯครั้งที่ ๑๒ และเป็นการยุบสภาฯที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการยุบสภาฯ ๑๑ ครั้งก่อนหน้า และในความเห็นของผู้เขียน การยุบสภาฯครั้งที่ ๑๒  ถือเป็นการยุบสภาฯที่ผิดหลักการการยุบสภาฯตามแบบแผนการปกครองระบบรัฐสภาที่มีสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ

ตามข้อมูลที่เผยแพร่ทั่วไป อย่างเช่น วิกิพีเดีย ได้กล่าวว่า “การยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย คือ การทำให้ความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยสิ้นสุดลง โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลให้สภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งปวงพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ทั้งนี้ เพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่  การยุบสภาเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งของระบบรัฐสภาที่ทำให้มีการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารอาจนำมาใช้แก้ปัญหาทางตันทางการเมือง นอกจากทางอื่น เช่น รัฐบาลลาออก  อนึ่ง เหตุผลในการยุบสภานั้น หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติไว้ไม่ ดังนี้ จึงเป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น อาทิ เกิดความขัดแย้งรุนแรงในรัฐสภาหรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล การใช้เป็นเครื่องมือในการชิงความได้เปรียบทางการเมือง เช่น ขณะที่ตนมีคะแนนนิยมสูงมาก การที่สภาวการณ์ต่าง ๆ สุกงอมพอสมควรที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนครบอายุสภา เช่น ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญได้เสร็จสิ้นแล้ว” รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับมิได้กำหนดหรือวางเกณฑ์ของสาเหตุในการยุบสภาไว้   

ดังนั้น เหตุผลหรือเงื่อนไขในการยุบสภาจึงเป็นไปอย่างที่กล่าวไปข้างต้น นั่นคือ เป็นไปตามประเพณีการปกครองตลอดจนสภาวการณ์ของประเทศในขณะนั้น

สำหรับการยุบสภาฯ ๑๑ ครั้งก่อนหน้าการยุบสภาฯวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙  ผู้เขียนได้ประมวลสาเหตุของการยุบสภาฯไว้ดังนี้

๑.ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา ๒   ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๘๑, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๙)

๒.ความขัดแย้งภายในรัฐบาล ๔   ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๑๙, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๑, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๘, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๙)

๓.ครบวาระ ๓   ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๔๘๘, การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๓,  การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๘)

๔.สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา ๑  ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๒๖)

๕.เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง ๑ ครั้ง (การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕)

ขณะเดียวกัน เมื่อสืบค้นงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรและปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย จะพบว่ามีงานวิจัย ๓ ชิ้น โดยเริ่มจากงานของ กาญจนา เกิดโพธิ์ทอง เรื่อง “การยุบสภาในประเทศไทย”  (๒๕๓๐),  งานของหนึ่งฤทัย อายุปานเทวัญ เรื่อง “ปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎร” (๒๕๕๓) และงานของตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ เรื่อง “การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย” (๒๕๕๔)  จะพบว่า ความเห็นของทั้งสามท่านพ้องต้องกันกับผู้เขียนเกี่ยวกับสาเหตุในการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๗๕-๒๕๒๙   ส่วนความเห็นต่อสาเหตุของการยุบสภาหลัง พ.ศ. ๒๕๒๙  จนถึงการยุบสภา พ.ศ. ๒๕๔๓  หนึ่งฤทัย และ ตวงรัตน์ มีความเห็นสอดคล้องกับผู้เขียน

ขณะเดียวกัน จากการศึกษาการยุบสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๕๒๙  แม้ว่าจะเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและตามหลักการของระบอบรัฐสภา แต่กระนั้น กาญจนา  เกิดโพธิ์ทอง ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “จากประสบการณ์และความเป็นจริงของไทย จะเห็นได้ว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภาได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เกรงการตอบโต้จากสภา เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรของไทยอ่อนแอเป็นเหตุให้สภาเสียเปรียบฝ่ายบริหาร ซึ่งมีผลเสียต่อศรัทธาของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย”

แต่สำหรับการยุบสภา พ.ศ. ๒๕๔๙ ในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี  ในงานวิจัยของ ตวงรัตน์ เลาหัตถพงษ์ภูริ มิได้มีข้อสังเกตเห็นถึงความผิดปรกติแต่อย่างใด  แต่ในงานของ หนึ่งฤทัยอายุปานเทวัญ ได้เขียนสรุปให้ความเห็นถึงสาเหตุการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๑๑ ครั้ง นั่นคือ ตั้งแต่หลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงการยุบสภาครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ในสมัยที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีไว้ว่า “จากการศึกษาเหตุการณ์ยุบสภายังทำให้ทราบอีกว่า เหตุผลการยุบสภารวมทั้งคำชี้แจงทั้งหลายเกี่ยวกับการยุบสภาที่ปรากฏอยู่ในพระราชกฤษฎีกาการยุบสภาผู้แทนราษฎรและในคำแถลงการณ์นั้นอาจเป็นจริงดังเนื้อความที่ปรากฏอยู่หรืออาจเป็นการเขียนเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจยุบสภาของนายกรัฐมนตรีก็ได้  แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสาเหตุหรือเหตุผลในการยุบสภาจะเกิดจากสิ่งใดหรือจะเขียนไปในแนวทางใด สามารถกระทำได้ทั้งสิ้น  เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้   ดังนั้น สาเหตุของการยุบสภาจึงเปิดกว้างมาก การยุบสภาจึงชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” 

ผู้เขียนขอย้ำความเห็นของ หนึ่งฤทัย ที่ยืนยันว่า การยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลตามที่ประกาศไว้อย่างไรในพระราชกฤษฎีกา รวมทั้งเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นเช่นไรก็ตาม เพราะการยุบสภาสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น  เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นมิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้  ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบธรรมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การยืนยันในเรื่องการยุบสภาของเธอนั้นยึดหลักการให้ความสำคัญกับกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้นเป็นสำคัญ  ขณะเดียวกัน เธอก็ยอมรับว่า การกระทำตามบทบัญญัติข้อกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรอาจจะชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมก็ได้  ความเห็นของเธอนั้นสอดคล้องกับความเห็นของศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ที่ผู้เขียนได้เคยมีโอกาสนทนาเป็นการส่วนตัวเกี่ยวกับการยุบสภา พ.ศ. ๒๕๔๙  ในสมัยที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรประกาศยุบสภา  ขณะเดียวกัน อาจารย์วรเจตน์ ก็เป็นกรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เรื่อง “ปัญหาการยุบสภาผู้แทนราษฎร” ของหนึ่งฤทัยด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นคือ  หากกฎหมายลายลักษณ์อักษรอาจจะไม่สามารถให้ความชอบธรรมต่อการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้ แล้วอะไรจะเป็นตัวกำกับให้การยุบสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่มิได้กำหนดสาเหตุของการยุบสภาไว้มีความชอบธรรมได้ ?  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ยันไม่ได้พูดเอาหล่อ ภูมิใจไทยค้านกม.สกัดรัฐประหาร ขอไม่โต้ 'ทักษิณ'

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แซวว่านายอนุทินชิงหล่อกรณีคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม

เหลี่ยมจัด! 'หัวเขียง' ขอปรับแก้ 24 จุด กม.สกัดรัฐประหาร ก่อนดันเข้าสภาฯอีกรอบ

นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส. พรรคถึงเรื่องการเตรียมถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า ตนมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ถึงต.ค. 67

วิสุทธิ์พลิ้ว! ปมกฎหมายยึดอำนาจกองทัพ

'วิสุทธิ์' ลั่นพรรคไหนก็ไม่เอาด้วยทั้งนั้น 'รัฐประหาร' ยอมรับ ร่าง กม.'ประยุทธ์' จัดระเบียบกลาโหม หลายคนติงให้ถอนมาปรับปรุง ชี้บางพรรคยังไม่เห็นของ 'เพื่อไทย' เลยไม่สบายใจ แต่ต้องคุยกัน

'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 ร่างกม.ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค

'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 เหตุ สังคมโลกเปลี่ยนไป ชี้ ร่างกฎหมายของ 'ประยุทธ์' ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค

'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม

'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้