คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๖ ข้อต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน” สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ (ดู ตอนที่ ๑-๔) แต่รวมความได้ว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พันเอก พระยาพหลฯได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นและเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาประเทศไทย
ก่อนหน้าที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะลี้ภัย เขาได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่ได้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทั้งในคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจของเขามีลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ โดยผู้เขียนได้ยกข้อความในเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปบ้างแล้ว (ดูตอนที่ ๔, ๕ และ ๖)
หนึ่งในคณะรัฐมนตรี เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการทรวงธรรมการได้เตือนในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ตามวิธีที่จะให้รัฐบาลทำเอง (‘เจ้าของเศรษฐกิจ’/ผู้เขียน) พลเมืองเป็นลูกจ้างนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลง [แบบ] (ริโวลูชั่น) (revolution - ปฏิวัติ/ผู้เขียน) ในทางเศรษฐกิจของโลก ไม่ใช่ชนิด (อีโวลูชั่น) (evolution – วิวัฒนาการ/ผู้เขียน) อาจจะกระทบกระเทือนเป็นปัญหาการเมืองได้ ถ้าพิจารณาเฉพาะเราแล้ว ดูก็ไม่แปลก เพราะเท่ากับถอยหลังเข้าคลองอีก คือว่าที่ดินทั้งหลายเป็นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยพระบรมเดชานุภาพ แต่ว่าประเทศเราต้องเกี่ยวข้องกับประเทศอื่นทั่วไป จะทำอะไรจึ่งควรต้องระวัง ในเรื่องนี้ทำไป [มี] เสมอตัวกับขาดทุน เพราะใครๆ ก็จะหาว่า เราเป็นบอลเชวิค (คณะปฏิวัติในการปฏิวัติรัสเซีย/ผู้เขียน)”1
แต่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ยืนยันว่า เค้าโครงเศรษกิจของตนนั้นมีความจำเป็นและเหมาะสมแล้ว และขู่ว่า จะลาออกจากรัฐบาล เพื่อนำเค้าโครงเศรษฐกิจไปหาเสียงกับสาธารณชน และได้ประกาศก่อนเลิกการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ว่า
_________________________________________
1 รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, 25 มีนาคมท พ.ศ. 2476, อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540), จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 48.
_________________________________________
“เรื่องโครงการนี้ ข้าพเจ้าได้พยายามฝืนและลดหย่อนลงจนถึงที่สุดแล้ว ข้าพเจ้าได้ยอมประนีประนอมโดยตลอดมา บัดนี้ถึงขีดที่สุดแล้ว ที่ว่ายังไม่เหมาะหรือรอไว้ก่อนนั้นเท่าพูด ‘โน’ [ไม่] อย่างสุภาพ ข้าพเจ้าจึ่งขอประกาศของข้าพเจ้าบ้าง ซึ่งไม่เห็นจะเสียหายอย่างไรเลย คือว่าของรัฐบาลมีโปลิซีอย่างนี้ ส่วนของคนอื่น (คือข้าพเจ้า) มีอย่างนี้”2
“ต่อมาในวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๖ ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อีก ในที่ประชุม พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะรัฐมนตรีได้ถามว่า นโยบายทางเศรษฐกิจได้จัดการอย่างไรบ้าง หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เล่าถึงการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของตน จากนั้น พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้นำเอาบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ ๗ เกี่ยวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม มาเสนอต่อที่ประชุมและให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นผู้อ่าน การกระทำดังกล่าวทำให้ความขัดแย้งต้องยุติลง พระบรมราชวินิจฉัยดังกล่าวนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บ้างก็ว่าพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับพวกทำขึ้นแล้วให้พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย”3
ผู้เขียนจะขอยกข้อความพระราชวินิจฉัยบางตอนมาให้ผู้อ่านได้พิจารณาเอง ดังต่อไปนี้
เริ่มต้นจากประเด็นที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจ ภายใต้หมวดที่ ๒ เรื่อง “ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจในปัจจุบัน” ที่เขาได้กล่าวว่า “ผู้มีจิตเป็นมนุษย์ประกอบด้วยความเมตตากรุณาแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเมื่อเห็นสภาพชาวนาในชนบทก็ดี เห็นคนยากจนอนาถาในพระนครก็ดี ก็จะปรากฎความสมเพชเวทนาขึ้นในทันทีทันใด ท่านคงเห็นว่าอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่อันเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตของบุคคลแร้นแค้นปานใด แม้วันนี้มีอาหารรับประทาน พรุ่งนี้และวันต่อไป จะยังคงมีหรือจะขาดแคลนก็ทราบไม่ได้ อนาคตย่อมไม่แน่วแน่ เมื่อท่านปลงสังขารต่อไปว่า ชีวิตเรานี้ย่อมชรา เจ็บป่วย ก็แหละก็เมื่อบุคคลเข้าอยู่ในสภาพเช่นนั้นจะยังคงมีอาหารรับประทานอีกหรือ เพราะแม้แต่กำลังวังชาจะแข็งแรงก็ยังขาดแคลนอยู่แล้ว”4
_________________________________________
2 รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, 25 มีนาคมท พ.ศ. 2476, อ้างใน ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, การเมืองการปกครองไทย: พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ (พ.ศ. 2475-2540), จัดพิมพ์โดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: 2563), หน้า 48.
3 “พระบรมราชวินิจฉัย ร.7 ต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี” (ผู้เขียนบทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้า) ไทยโพสต์, วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562. https://www.thaipost.net/main/detail/33019
4 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 278.
_________________________________________
จากสิ่งที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมประเมินสภาพชีวิตของคนผู้ยากไร้เช่นนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ทำให้เขาเห็นว่า เค้าโครงเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเรื่องการทำนารวม (collective farming) โดยให้รัฐบาลซื้อที่ดินทำกินจากชาวนาชาวไร่ โดยออกใบกู้ให้ไปก่อน เพราะรัฐบาลไม่มีเงิน และเปลี่ยนให้ชาวนาชาวไร่เป็นลูกจ้างรัฐบาลหรือข้าราชการเป็นผู้ลงแรงทำนาทำไร่และรัฐบาลจะจ่ายให้เป็นคะแนนไว้แลกปัจจัยสี่ในการดำรงชีพ และที่สำคัญคือ “ ‘รัฐบาลรับราษฎรทั้งหมดเข้าทำงานเป็นข้าราชการ แม้แต่เด็ก คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งทำงานไม่ได้ ก็จะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล แล้วราษฎรก็จะไม่อดอยาก’ ”5
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยตอบในประเด็นนี้ว่า
“พระบรมราชวินิจฉัย (ข้อ ๒) หมวดที่ ๒ ความแร้นแค้นของราษฎร
ผู้เขียน (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯหมายถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) เล่าว่าราษฎรเวลานี้แร้นแค้นอดอยากเต็มทน และราษฎรทั่วไปไม่ทราบเลยว่ารุ่งขึ้นจะมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลนหรือไม่ ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ราษฎรของเราตลอดจนชั้นคนขอทานยังมิปรากฎเลยว่าอดตาย คนที่อดตายจะมีก็แต่คนที่กลืนไม่ลง เพราะความเจ็บไข้นั้น แม้แต่สุนัขตามวัดก็ปรากฏยังไม่มีอดตาย แม้แต่ในปีน้ำท่วม พ.ศ. ๒๔๖๐ ผู้เขียนก็ยังกล่าวในเค้าโครงเศรษฐกิจภาค ๒ ว่า ไม่มีราษฎรอดตายเพราะมีข้าวเพียงพอที่จะแจกกันกิน และยังมีเหลือเอาไปจำหน่ายยังต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ ความอดตายแร้นแค้นนี้ย่อมแล้วแต่ตราชู อะไรชั่งเป็นเครื่องวัด คนที่ได้รับเงินเดือน ๒๐๐ บาทก็นับว่าอดอยากแร้นแค้นก็ได้ ถ้าเทียบกับการกินอยู่กับผู้ที่ได้เงินเดือนๆละ ๑,๐๐๐ บาท จริงอยู่ราษฎรของเรายังไม่มีตึกอยู่โดยทั่วไป และไม่มีเครื่องแต่งตัวฝรั่งแต่งโดยทั่วไป และไม่มีรายได้เท่ากับคนงานของฝรั่ง ถ้าคิดเทียบตามอัตราเงินแบบฝรั่งนั้นได้มากก็ใช้มาก เพราะราคาเงินของเขา แม้จะสูงก็จริงเมื่อเทียบกับเงินของเรา แต่อำนาจในการซื้อของบำรุงร่างกายนั้น มีน้อยกว่าของเราแน่ๆ ถ้าจะเปรียบถงใจและความพอใจของราษฎรฝรั่งและราษฎรของเราแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าราษฎรของเรามีความสุขใจมากกว่าเสียอีก ข้าพเจ้ายอมรับว่า ฐานะการกินอยู่ของราษฎรของเราแล้วยังต่ำกว่าฐานะของราษฎรในเมืองต่างประเทศ ดังเช่นอังกฤษหรืออเมริกา แต่ตามรายงานของโปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมนนั้น กล่าวว่า ฐานะของเราสูงนี้สูงกว่าบรรดาราษฎรอื่นๆในทวีปอาเซีย (เฉพาะบนพื้นทวีปไม่รวมเกาะต่างๆ) และมีความอดอยากแร้นแค้นทั้งกายและใจน้อยกว่าราษฎรชาวนาในประเทศรัสเซีย ซึ่งใช้โครงการเศรษฐกิจรูปแบบนี้ ณ บัดนี้โดยแน่นอน (หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ให้มีการทำนารวม แต่ใช้วิธีบังคับเวนคืนโดยรัฐบาล/ผู้เขียน) ราษฎรของเรามีน้อยคนหรือเกือบจะไม่มีก็ได้ ที่นอนกลางคืนแล้วนึกว่ารุ่งขึ้นเช้าจะหากินไม่ได้ นอกจากผู้นั้นจะกระดุกกระดิกตัวไม่ได้ หาไม่ฉะนั้นคงหากินได้เสมอ ในประเทศรัสเซียเสียอีกที่ราษฎรนอนตาไม่หลับ รุ่งขึ้นไม่ทราบว่าจะได้อาหารกินเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้าสหกรณ์หาอาหารมาไม่ได้เพียงพอ ซึ่งปรากฏอยู่เป็นของประจำวันแล้ว การซื้ออาหารก็หามากไม่ได้ เพราะไม่มีที่จะทำกินเสียแล้ว คนไทยเราถ้ายังมีนา มีสวน ที่จะปลูกข้าวปลูกผักได้แล้ว ก็ยังหวังอยู่ได้เสมอว่าจะพอหาข้าวกินได้ไม่อดอยาก นอกจากถ้าดำเนินกิจการแบบรัสเซียเข้าแล้ว ความอดอยากจนตายนี้อาจปรากฏกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ โปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมนกล่าวว่า รายได้และฐานะการกินอยู่ของราษฎรไทยนั้น สูงกว่าราษฎรชาติใดๆทั้งหมดในทวีปอาเซียที่อยู่บนพื้นทวีป ส่วนสำคัญย่อมเป็นเครื่องสนับสนุนความเห็นของข้าพเจ้าอีกส่วนหนึ่ง”6
จากพระราชวินิจฉัยข้างต้น ข้อมูลโต้แย้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใช้ตอบปัญหาความอดอยากและความแร้นแค้นของชีวิตราษฎรไทยมาจาก “โปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน”
โปรเฟซเซอร์ซิมเมอร์แมน คือใคร ? ฝรั่งจะมารู้เรื่องความเป็นอยู่ของคนไทยทั่วไปได้ถูกต้องเท่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้นำทางความคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือ ? โปรดติดตามตอนต่อไป
_________________________________________
5 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 265.
6 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 278-279.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490