๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๕)

 

 

คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๖ ข้อต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน”  สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ (ดู ตอนที่ ๑-๔) แต่รวมความได้ว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พันเอก พระยาพหลฯได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นและเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาประเทศไทย  

ก่อนหน้าที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะลี้ภัย เขาได้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจที่ได้กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งทั้งในคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจของเขามีลักษณะที่คล้ายคลึงกับระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีผู้สรุปไว้ว่า สาระสำคัญของเค้าโครงเศรษฐกิจคือให้ประเทศไทยมีระบบการทำนาแบบนารวม (collective farming)  โดยผู้เขียนได้ยกข้อความในเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไปบ้างแล้ว และได้กล่าวทิ้งท้ายว่า การที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องการให้เปลี่ยนชาวไร่ชาวนาอิสระมาเป็นลูกจ้างของรัฐ เพราะเขามีความคิดเรื่อง “แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก” ที่เขาใช้คำภาษาอังกฤษว่า (social parasite) (ดูตอนที่ ๔)

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้อธิบายเรื่อง “แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก” ไว้ว่า “น่าเสียใจซึ่งที่ดินของเราอันอุดมอยู่แล้วนี้ยังมิได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้เพราะการประกอบการเศรษฐกิจตามทำนองเอกชนต่างคนต่างทำดั่งที่เป็นมาแล้ว ทำให้แรงงานสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์บ้าง และขาดเครื่องจักรกลที่จะช่วยแรงงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้นบ้าง มีพวกหนักโลก (social parasite) บ้าง..”1 และ “ในประเทศไทยนี้มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลกอาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือ ตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ หรือกิจการใดให้เหมาะสมกับแรงงานของคน อาศัยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสถานที่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ในกรุงเทพฯ หรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตตามบ้านช่องของชนชั้นกลาง หรือตามบ้านของคนมั่งมีแล้วก็จะเห็นว่า ผู้ที่อาศัยกินอยู่เป็นจำนวนมาก บุคคลพวกนี้นอกจากจะหนักโลกแล้ว ยังเป็นเหตุที่ทำให้ราคาสิ่งของเพิ่มขึ้นได้ เช่น ในประเทศหนึ่งมีคนทำงาน ๑๐๐ คน ทำข้าวได้คนหนึ่ง ๑ ตัน ได้ ๑๐๐ ตัน แต่มีคนที่อาศัยอยู่เปล่า ๕๐ คน ดังนี้ ถ้าพวกหนักโลกนี้ทำงานร่วมกับอีก ๑๐๐ คน ก็คงจะได้ข้าวเพิ่มอีก ๕๐ ตัน ได้เงินเพิ่มเพราะข้าวมีจำนวนมากขึ้น บุคคลจำพวกนี้ถ้าปล่อยให้คงอยู่ตราบปัจจุบันนี้ก็จะกลายเป็นคนขี้เกียจไป การปล่อยให้เอกชนต่างคนต่างทำ และปล่อยให้มีคนเกียจคร้านคอยอาศัยกินดังนั้น ผลเศรษฐกิจของประเทศก็จะลดน้อยลง ไม่มีวิธีใดที่ดีกว่าที่รัฐบาลจะประกอบการเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับและให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้ที่หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้”2

_________________________________________

1 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 244.

2 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 247-248.

_________________________________________

ขณะเดียวกัน คนที่สงสัยว่า เมื่อชาวนาชาวไร่กลายเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างรัฐที่ทำนา  แล้วในช่วงที่ไม่ใช่หน้านา  ชาวนาหรือลูกจ้างรัฐบาลจะมีเวลาว่าง 6 เดือนที่ไม่ได้ทำการผลิตใดๆ จะให้คนเหล่านั้นทำอะไร

หลวงประดิษฐ์มนูธรรมก็มีแผนรองรับไว้เรียบร้อยแล้วในเค้าโครงเศรษฐกิจของเขา ดังที่เขาได้กล่าวว่า “…ไม่ต้องวิตกอีกต่อไป รัฐบาลคงใช้เวลาว่างอีก ๖ เดือนนั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น เมื่อว่างจากทำนาก็อาจทำไร่อย่างอื่น หรือทำถนนหนทางสุดแต่แผนเศรษฐกิจแห่งชาติจะกำหนดไว้ นอกจากนั้น เมื่อถือว่าราษฎรเป็นข้าราชการแล้ว รัฐบาลยังอาจบังคับให้ศึกษาอบรมในศิลปวิทยาใดๆ ให้รู้ในการฝึกวิชาทหาร ซึ่งทุ่นเวลาที่จะต้องรับราชการทหารได้อีกโสตหนึ่ง”3

ดูเหมือนว่า เค้าโครงเศรษฐกิจนี้จะเน้นการใช้อำนาจรัฐบังคับในอาชีพการทำงานของราษฎรเสียมาก  แต่จริงๆแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น !  เพราะหลวงประดิษฐ์ฯกล่าวไว้ด้วยว่า “…การประกอบการเศรษฐกิจนั้นมีลักษณะบางอย่าง ซึ่งเอกชนจะประกอบตามลำพังได้ผล เช่น การอาชีพอิสระ (liberal profession) เช่น นักประพันธ์ แพทย์ ทนายความ ช่างเขียน ครูในวิชาบางอย่าง ฯลฯ เหล่านี้ เมื่อราษฎรใดประสงค์จะทำโดยลำพัง ไม่อยากเป็นข้าราชการแล้ว ก็อนุญาตให้ทำได้ หรืออาชีพอื่น เช่น การโรงงาน ซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของอยู่แล้วในเวลานี้ เมื่อผู้นั้นประสงค์จะทำต่อไปโดยไม่อยากเป็นข้าราชการแลว ก็อนุญาตเช่นเดียวกัน นอกจากผู้นั้นจะขายให้แก่รัฐบาลและตนถือใบหุ้นกู้ได้ดอกเบี้ยจากรัฐบาลเลี้ยงชีพของตน หรือการพานิชย์ การกสิกรรมบางอย่าง เมื่อเอกชนแสดงได้ว่าการที่ตนจะประกอบได้ผลพอเลี้ยงตนแล้วจะอนุญาตให้ทำเป็นพิเศษก็ได้”4

_________________________________________

3 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 253.

4 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 253.

_________________________________________

จะเห็นได้ว่า ภายใต้เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนะรรมจะยังพอมีอิสรเสรีภาพอยู่บ้าง   แต่โดยทั่วไปน่าจะน้อยมาก เพราะเค้าโครงเศรษฐกิจมีนโยบายหลักให้ราษฎรเป็นลูกจ้างรัฐบาลเสียส่วนใหญ่  ซึ่งในประเด็นเสรีภาพนี้ หลวงประดิษฐ์ฯตระหนักดีว่า น่าจะมีผู้แคลงใจสงสัย  เขาจึงได้เขียนหมวดที่ว่าด้วย “เสรีภาพ” ไว้ต่างหากในเค้าโครงเศรษฐกิจเลย โดยมีใจความว่า

“ข้อนี้ผู้ที่มองผิวๆ จะคัดค้านทันทีว่า การที่รัฐบาลกับราษฎรทั้งหมดเป็นข้าราชการนั้นจะเป็นการตัดเสรีภาพ จริงอยู่ เมื่อรัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ ย่อมเป็นการตัดเสรีภาพ  แต่การตัดเสรีภาพนั้นก็เพื่อจะทำให้ราษฎรได้รับความสุขสมบูรณ์ทั้งหมดเป็นการปฏิบัติหลักข้อ ๓ (หลักข้อที่สามในหลักหกประการของคณะราษฎร/ผู้เขียน5) รัฐบาลไม่ได้ตัดเสรีภาพในการอื่นๆ ราษฎรคงมีเสรีภาพในร่างกาย ในเคหสถาน ในการพูด ในการศึกษาอบรม ในการสมาคม เมื่อราษฎรได้มีความสุขภายในเศรษฐกิจแล้ว ราษฎรก็ย่อมมีความสุขกาย ราษฎรจะต้องการเสรีภาพโดยไม่มีอาหารรับประทานเช่นนั้นหรือ ทั้งนี้ไม่ใช่ความประสงค์ของราษฎรเลย แม้ในเวลานี้เอง ราษฎรก็ต้องทำงานเองเพื่อเลี้ยงชีพ นอกจากที่เกิดมาหนักโลกอาศัยคนอื่นเขากิน ไม่ว่าในประเทศใดๆ เสรีภาพย่อมมีจำกัด เพื่อประโยชน์ของราษฎรทั้งหมดดด้วยกัน และคณะราษฎรก็ได้ประกาศไว้แล้วว่า เสรีภาพนั้นจะทำให้เกิดได้เมื่อไม่ขัดกับหลัก ๔ ประการดั่งที่ได้กล่าวข้างต้น (ดูเชิงอรรถที่ ๕/ผู้เขียน)”6

สำหรับในเรื่องความเสมอภาค หลวงประดิษฐ์ฯได้อธิบายไว้ด้วยเช่นกันว่า “ความเสมอภาคมีขึ้นได้ในสิทธิและหน้าที่ ซึ่งนอกจากเสมอภาคกันบนกระดาษ ยังเป็นการเสมอภาคที่จะเข้ารับราชการ แม้จะเป็นในทางปกครองและในทางเศรษฐกิจก็ดี ราษฎรจะมีสิทธิเสมอภาคกันในการที่จะไม่อดตาย แต่มิใช่เสมอภาคในการที่คนหนึ่งมีเงิน ๑๐๐ บาท จะต้องริบเอามาแบ่งเท่าๆกัน ในระหว่าง ๑๐๐ คนๆละ ๑ บาท ตามที่นักปราชญ์ในประเทศไทยท่านอ้างว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เขาแบ่งกันเช่นนั้น เราเกลียดชังคอมมิวนิสต์ตามที่ท่านนักปราชญ์ในประเทศไทยกล่าวนั้น และเราไม่ดำเนินวิธีริบทรัพย์มาแบ่งกันดังที่นักปราชญ์ท่านกล่าว (เน้นโดยผู้เขียน)”7

และจริงๆแล้ว ในเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์ฯก็ไม่ได้ให้กำหนดเงินเดือนราษฎร (ลูกจ้างรัฐบาลหรือข้าราชการ) ให้เท่ากันหมด ดังที่จะได้ขยายความในตอนต่อไป

_________________________________________

5 หลักหกประการที่คณะราษฎรประกาศในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้แก่ ๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง ๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก ๓. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก ๔. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่) ๕. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก ๕ ประการดังกล่าวข้างต้น ๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ดู ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477,  โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 211.

6 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 265-266.

7 ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 265.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 32: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 20)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 31: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 19)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 31: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 18)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490