ด่ากันขรม
"ลุงตู่" บอกว่า ให้ประหยัดน้ำมัน ไม่จำเป็นอย่าใช้รถ
ทัวร์ลงซิครับ!
ทำไมนายกฯ กับคณะรัฐมนตรีไม่เดินไปทำงาน
ครับ...มันก็แบบนี้แหละ สังคมแห่งความขัดแย้ง บวกกับไร้วุฒิภาวะ เอะอะ ด่าไว้ก่อน ข้อเท็จจริงเอาไว้ทีหลัง
ที่จริงเป็นหลักการพื้นฐาน ของแพงก็ใช้ให้น้อยลงหน่อย
ทุกรัฐบาลก็บอกกับประชาชนในทำนองเดียวกัน คือ ประหยัด
วิกฤตน้ำมันใช่ว่าเพิ่งจะมาเกิดในรัฐบาลนี้ เป็นปัญหาซ้ำซากเกือบจะทุกรัฐบาลต้องนั่งปวดหัว เพราะเมื่อมีวิกฤตอื่นๆ ในโลก ย่อมกระทบกับราคาน้ำมันแทบทุกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่แพงกระฉูดเที่ยวนี้ เพราะกระหน่ำกันมาหลายทาง
จากสถานการณ์โควิด-๑๙ ที่ยืดเยื้อมากว่า ๒ ปี พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ความต้องการบริโภคน้ำมันพุ่งพรวด สูงเกินกว่ากำลังการผลิต
กลุ่มประเทศโอเปก หลังลดกำลังการผลิตน้ำมันลงถึง ๑๐ ล้านบาร์เรลต่อวัน ช่วงโควิดระบาดหนัก ปัจจุบันกลุ่มทยอยผลิตเพิ่มครั้งละ ๔ แสนบาร์เรลต่อวัน ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
สุดท้ายมาเจอสงคราม รัสเซีย-ยูเครน และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก วิกฤตมันจึงซ้อนวิกฤต
ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุดอย่างที่เห็น
หลายคนถามว่าจะจบเมื่อไหร่?
ยากที่จะตอบ เพราะขึ้นกับประเทศที่ถลำเข้าไปในสงครามว่า จะหยุดเมื่อไหร่
แม้ไทยจะขุดน้ำมันเองได้ แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงต้องนำเข้าเป็นหลัก
เราต้องการน้ำมันดิบเพื่อกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ เกือบ ๑ ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ไทยมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ในประเทศเพียง ๑ แสนบาร์เรลต่อวัน เท่านั้น
เถียงกันว่อนโซเชียลด้วยข้อมูลหางอึ่งว่า ไทยใช้น้ำมันแพงที่สุดในโลก พวกที่เชื่อ ก็เชื่อเป็นตุเป็นตะ ด่า "ลุงตู่" สาดเสียเทเสีย น้ำมันแพงเพราะประเทศเป็นเผด็จการ
ข้อเท็จจริง ราคาน้ำมันหน้าสถานีบริการ ในประเทศไทย ไม่ได้แพงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน อยู่ในระกับกลางค่อนข้างถูกด้วยซ้ำ
ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ราคาน้ำมันเบนซิน บาท/ลิตร ณ วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๕ เป็นดังนี้ครับ
สิงคโปร์ ๗๓.๔๙ บาท
ลาว ๔๘.๒๐ บาท
ฟิลิปปินส์ ๔๑.๐๖ บาท
เวียดนาม ๓๘.๓๔ บาท
ไทย ๓๗.๗๕ บาท
กัมพูชา ๓๗.๗๓ บาท
เมียนมา ๓๖.๒๓ บาท
อินโดนีเซีย ๓๒.๙๕ บาท
มาเลเซีย ๑๕.๙๙ บาท
บรูไน ๑๒.๗๓ บาท
ราคาน้ำมันดีเซล บาท/ลิตร
สิงคโปร์ ๖๔.๑๒ บาท
ลาว ๓๖.๘๔ บาท
ฟิลิปปินส์ ๓๔.๖๘ บาท
เมียนมา ๓๓.๘๕ บาท
อินโดนีเซีย ๓๑.๒๕ บาท
กัมพูชา ๓๐.๕๐ บาท
เวียดนาม ๓๐.๔๕ บาท
ไทย ๒๙.๙๔ บาท
มาเลเซีย ๑๖.๗๗ บาท
บรูไน ๗.๔๔ บาท
แต่ละประเทศสมาชิกมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน
ขณะที่หลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคาอยู่ เช่น มาเลเซีย บรูไน
ตัวเลขที่เห็นยืนยันได้ว่าระดับราคาน้ำมันไทยในอาเซียนอยู่ตรงไหน
แต่ทุกวันนี้ยังมีคนเชื่อชุดข้อมูลว่า ไทยมีบ่อน้ำมันเองมหาศาล แต่รัฐบาลปิดข่าว รวมไปถึงไทยผลิตน้ำมันได้มากกว่าบรูไน แต่ยังนำเข้าน้ำมัน แถมยังราคาแพงกว่าทุกประเทศ
ก็อธิบายให้เป็นวิทยาศาสตร์ เข้าใจง่ายๆ
ไทยขุดน้ำมันได้มากกว่าบรูไนจริง แต่ก็มีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ที่ทำให้ราคาน้ำมันในไทยแพงกว่า และยังต้องนำเข้า
ยกตัวอย่างตามนี้ครับ
ครอบครัวหนึ่งมีลูก ๑๐ คน มีพื้นที่นาปลูกข้าวได้ ๑ กระสอบ
อีกครอบครัว มีแค่ ๓ พ่อแม่ลูก มีพื้นที่ปลูกข้าวได้ เกือบ ๑ กระสอบเหมือนกัน
ครอบครัวแรกกินไม่พอ เพราะสมาชิกในครอบครัวเยอะ ต้องรวบรวมเงินจากสมาชิกไปซื้อข้าวจากตลาดเพิ่ม
ครอบครัวหลังกินไม่ทัน เพราะคนน้อย จึงเอาส่วนเกินไปขายที่ตลาด ได้เงินมาไปซื้อหมู หมา กา ไก่ ได้อีก
เป็นหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานมากครับ
ไทย มีประชากร ๗๐ ล้านคน
บรูไน มีประชากร ๔.๔ แสนคน
บรูไนสามารถผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยประมาณ ๑๘๐,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน
ไทยผลิตน้ำมันดิบได้ ๑๐๐,๘๗๔ บาร์เรลต่อวัน
แค่นี้ก็น่าจะพอเข้าใจ
ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำมันแพงมาแล้วหลายครั้ง
ในปี ๒๕๑๖ กินเวลายาวนานที่สุดถึง ๘ ปี ครั้งนั้นราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจากโอเปกได้เพิ่มภาษีน้ำมัน ปรับราคาน้ำมันดิบจากบาร์เรลละ ๒.๐๙ ดอลลาร์ เป็น ๘.๓๒ ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทันที จนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันตามมา
เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่นักศึกษาชุมนุมประท้วงรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร จนเกิดเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทยคือ เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
และเป็นที่มาของเพลง น้ำมันแพง "น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ" แต่งและขับร้องโดย "สรวง สันติ" ที่โด่งดังมากในช่วงวิกฤตการณ์น้ำมันแพง ปี ๒๕๑๗ ยันยุครัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
ปี ๒๕๓๓-๒๕๓๔ น้ำมันแพงเพราะสงครามอ่าวเปอร์เซีย ระหว่างอิรักกับคูเวต อิรักภายใต้การนําของซัดดัม ฮุสเซน ส่งกองทัพบุกคูเวต เพราะไม่พอใจที่คูเวตผลิตน้้ำมันดิบเกินโควตาที่โอเปกกําหนดไว้ จนทําให้ราคาน้้ำมันในตลาดโลกร่วง
อเมริกาใช้ปฏิบัติการพายุทะเลทรายโจมตีอิรักคืน ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นดังที่ประเทศผลิตน้ำมันต้องการ
แต่ชนวนเหตุจริงๆ ตลอดช่วงเวลาของสงครามเย็น อิรักเป็นพันธมิตรสหภาพโซเวียต และมีประวัติความไม่ลงรอยกับอเมริกา
อเมริกาจึงกังวลถึงตำแหน่งของอิรักต่อการเมืองอิสราเอล-ชาวปาเลสไตน์ และการที่อิรักไม่เห็นด้วยกับสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์
สงครามรัสเซีย ยูเครน ก็ลอกแบบกันมาไม่ต่างกันเท่าไหร่ เพราะชาติมหาอำนาจรู้สึกถึงภัยคุกคามหน้าบ้านตัวเอง หรือหน้าบ้านญาติสนิทตัวเอง
ปี ๒๕๕๑ ในยุค "พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์" น้ำมันดีเซลมีราคาสูงถึง ๔๔.๒๔ บาทต่อลิตร ส่วน เบนซิน ๔๒.๘๙ บาทต่อลิตร
ปี ๒๕๕๗ ปลายยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาน้ำมันดีเซล ๒๙.๙๙ บาทต่อลิตร เบนซินสูงสุดที่ ๔๙.๑๕ บาทต่อลิตร
ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์
มาปีนี้ ถ้าจะทำสิติถิใหม่ก็อย่าตกใจ หากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ เป็นเดือน ราคาจะทุบสถิติใหม่แน่นอน
ฉะนั้นที่ "ลุงตู่" บอกว่าให้ประหยัด ก็ถูกแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีทางอุ้มราคาน้ำมันได้ตลอดกาล
ยิ่งลักษณ์อุ้มน้่ำมันไปร่วม ๒ ปี รายได้รัฐหายไปเกือบ ๓ แสนล้าน
ก็ย้อนกลับไปดูราคาน้ำมันในอาเซียนครับ เดือดร้อนกันทั่วก็จริง แต่เมื่อคำนวณจากรายได้ต่อหัวแล้ว ไทยเรายังเดือดร้อนน้อยกว่า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี
วันนี้ของ "วันนอร์"
ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น
๒๕๖๘ อันธพาลการเมือง
ที่สุดแห่งปีในปีที่แล้วไม่มีใครเกิน "หมูเด้ง" เกิดมาเพื่อดังจริงๆ ไม่ใช่ดังธรรมดา แต่ดังข้ามทวีป คนรู้จักไปทั่วโลก