หรือปูตินอาจชนะศึก แต่แพ้สงคราม?

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย อาจจะสามารถชนะศึกภาคพื้นดินด้วยการยึดพื้นที่ของยูเครนให้มากที่สุด ก่อนจะเจรจาเพื่อต่อรองกับฝ่ายตะวันตก

แต่การ “ชนะศึกการรบพุ่ง” ไม่ได้แปลว่าเขาจะ “ชนะสงคราม” ได้

เพราะสงครามครั้งนี้มีรูปแบบหลากหลายที่กลายเป็น “Hybrid War” หรือ “สงครามลูกผสม”

ซึ่งท้ายที่สุดปัจจัยที่ตัดสินว่าใครแพ้ใครชนะ ในท้ายที่สุดอาจจะเป็นสงครามเศรษฐกิจก็เป็นได้

ตัวอย่างเฉพาะของ Sberbank ธนาคารที่ใหญ่สุดของรัสเซียที่ประกาศ ‘ถอดธุรกิจ’ ในยุโรปทั้งหมด สะเทือนหุ้นดิ่งลง 94% ในทันที และยังอาจจะเข้าสู่ข่าย ‘ล้มละลาย’

ธนาคารแห่งนี้พอเจอภาวะกระแสเงินสดไหลออกอย่างเร็วและแรงกว่าที่คาด ก็เกิดประเด็นเรื่องพนักงานถูกลอยแพ และทรัพย์สินถูกด้อยค่าฉับพลัน                     ทั้งหมดนี้เป็นเพราะรัสเซียบุกยูเครน

ธนาคารแห่งนี้แจ้งว่าไม่สามารถจัดหาสภาพคล่องให้กับบริษัทย่อยในยุโรปได้อีกต่อไปตามคำสั่งจากธนาคารกลางของรัสเซีย ซึ่งก็กำลังดิ้นสุดฤทธิ์ในอันที่จะปกป้องรักษาสกุลเงินต่างประเทศเอาไว้

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาเตือนว่า ธนาคารยักษ์ของรัสเซียแห่งนี้ถึงภาวะที่เสี่ยงจะ ‘ล้มละลาย’

ปูตินจะเข้าใจอันตรายของการเปิดศึกสงครามที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศแค่ไหนไม่แน่ชัด

เพราะอาจจะคิดว่า ก็เคยถูกตะวันตกคว่ำบาตรมาก่อนหน้านี้แล้วและก็ยังเอาตัวรอดมาได้

แต่ปูตินกำลังประเมินสถานการณ์ผิดพลาดครั้งใหญ่

รัสเซียกำลังเผชิญกับวิกฤตของภาคการเงินนั้นอย่างหนักพร้อมๆ กัน

ธนาคารกลางรัสเซียเป็นเป้าการคว่ำบาตร และเงินสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียบางส่วนก็ถูกอายัด

มิหนำซ้ำ ธนาคารบางแห่งก็ถูกกีดกันออกจากระบบการชำระเงินทั่วโลก SWIFT

Elvira Nabiullina ผู้ว่าการธนาคารกลางของรัสเซียยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่รุนแรงอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

Sberbank มีทรัพย์สินในยุโรปมูลค่า 13 พันล้านยูโร (14.4 พันล้านดอลลาร์) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2020 และดำเนินการในประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรีย โครเอเชีย เยอรมนี และฮังการี

ก่อนหน้านี้ Sberbank ได้ออกมาให้ข่าวว่ามีแผนที่จะขายธุรกิจในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย ฮังการี เซอร์เบีย และสโลวีเนีย ในปี 2021 ด้วยข้อตกลงมูลค่าประมาณ 500 ล้านยูโร

แต่หลังจากข่าวการต้องถูกกดดันให้ถอดธุรกิจในยุโรปตะวันตกทั้งหมด ก็ทำให้หุ้นของ Sberbank ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนลดลงกว่า 90%

ขณะที่ฟากตลาดหลักทรัพย์มอสโกได้หยุดการซื้อขายหุ้น และพยายามป้องกันไม่ให้เงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์ของรัสเซีย

หากสงครามยูเครนลากยาว และการคว่ำบาตรต่อเศรษฐกิจรัสเซียยังยืดเยื้อต่อไป ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเศรษฐกิจของรัสเซียอาจต้องพังทลาย

รัสเซียภายใต้การนำของปูตินจะถึงกาลล่มสลายหรือไม่?

นั่นกำลังกลายเป็นคำถามร้อนแรงของหลายๆ วงการขณะนี้

ปี 2021 รัสเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด เป็นอันดับที่ 11 ของโลก มีมูลค่า GDP คิดเป็นเงินไทยอยู่ที่ 54 ล้านล้านบาท

ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวรัสเซียนั้นอยู่ที่ 385,000 บาท

ถือได้ว่ารัสเซียมีเศรษฐกิจในระดับปานกลาง

แต่ปูตินคิดแบบนักยุทธศาสตร์ทางทหารมากกว่าจะให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

เขาเชื่อในความยิ่งใหญ่ของรัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองสูงสุดของโลก

เขามีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจของรัสเซียมีภูมิคุ้มกันเหนียวแน่น เพราะมีน้ำมันดิบสำรอง และก๊าซธรรมชาติมากพอที่ทั้งโลกต้องเกรงใจ

ตัวเลขทางการชี้ว่า รัสเซียมีน้ำมันดิบสำรอง 80,000 ล้านบาร์เรล หรือประมาณ 5% ของปริมาณสำรองน้ำมันทั่วโลก

และยังมีสำรองก๊าซธรรมชาติ 47,805 พันล้านลูกบาศก์เมตร ประมาณ 20% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั่วโลก

ประเทศยุโรปตะวันตกล้วนเป็นลูกค้ารายใหญ่

ปูตินมั่นใจว่าอย่างไรเสีย ยุโรปตะวันตกต้องเกรงใจรัสเซีย แม้สหรัฐฯ จะหนุนหลังฝั่งโน้น แต่ในท้ายที่สุดพลังงานคือเส้นเลือดสำคัญของเศรษฐกิจยุโรป

ยังไงๆ อำนาจต่อรองของรัสเซียก็สูงกว่าสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

แต่ปูตินคาดไม่ถึงว่าวิกฤตยูเครนทำให้ยุโรปตะวันตกกับสหรัฐฯ ตัดสินใจจับมือกันแน่นขึ้นเพื่อจะจัดการกับเขา

สหรัฐฯ บีบให้เยอรมนีระงับโครงการนอร์ดสตรีม 2 ที่เป็นท่อส่งก๊าซจากรัสเซียเข้าเยอรมันนี

เมื่อรัสเซียขายก๊าชให้ลูกค้ารายใหญ่ไม่ได้ รายได้ก็หดหายทันที

พอนั่งดีดลูกคิดก็จะเห็นว่าความเสียหายส่วนนี้หนักหนาสำหรับเศรษฐกิจรัสเซียมาก

ประมาณกันว่ามูลค่าการส่งออกของรัสเซียทั้งหมดที่ 11.1 ล้านล้านบาท มาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 4.7 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 9% ของ GDP รัสเซียเลยทีเดียว

มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียครั้งนี้ที่หนักหนาสากรรจ์กว่าครั้งก่อนๆ มีเช่น

ตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ มีผลกระทบต่อการค้าขายระหว่างประเทศของรัสเซียทันที

มาตรการควบคุมสินค้าส่งออกและนำเข้ากับรัสเซีย ก็ทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนเปลี้ยลงอย่างฉับพลัน

สิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดก็เกิดได้

อัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเบิลเทียบกับดอลลาร์และยูโรร่วงลงกว่า 30% อย่างต่อเนื่อง

กดดันให้ธนาคารกลางรัสเซียต้องประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 9.5% สู่ 20.0%

ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างเห็นได้ชัด เพราะเงินในกระเป๋าลดค่าลงอย่างหนัก

อีกทั้งจะไปเบิกเงินธนาคารก็ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะธนาคารขาดเงินสดที่จะให้เบิกถอนหรือกดเครื่อง ATM ได้

เมื่อสงครามที่ปูตินประกาศมากระทบ “ปากท้อง” ของชาวบ้านโดยตรง

การทำสงครามระดับนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล

สำทับด้วยกระแสต่อต้านรัสเซียจากวงการต่างๆ ทั่วโลก เช่น วงการบันเทิง, กีฬา และแวดวงสิทธิมนุษยชนที่ประท้วงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของการทำสงครามครั้งนี้

มีคนเรียกว่านี่คือ “สงครามของปูติน”

ไม่ใช่ “สังครามรัสเซีย”

และนี่อาจจะเป็นจุด “ล่มสลายของรัสเซีย” รอบใหม่ด้วยฝีมือของคนคนเดียวอย่างปูติน

คนที่เชื่อว่าปูตินเป็น “อัจฉริยะ” และได้เตรียมตั้งรับทุกรูปแบบก่อนตัดสินใจบุกยูเครนก็คงต้องลุ้นต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ