สงครามเย็นยังไม่จบ

สงครามไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้น

อย่างน้อยๆ ช่วงนี้ราคาน้ำมันพุ่งรายวัน กระทบผู้คนไปทั่วโลก

ลำบากจากวิกฤตโควิดมากพอแล้ว ยังต้องเผชิญกับวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนอีก

ข้อมูลสดๆ ร้อนๆ จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (ไอเอ็มเอฟ) สงครามในยูเครนผลักดันให้ราคาพลังงานและธัญพืชในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ตามราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ถ้ายืดเยื้อ จะลำบากกันหนักกว่านี้ครับ

แต่ธรรมชาติมนุษย์ถึงจะลำบากก็ขอสวมวิญญาณไทยมุงถือหางคู่ขัดแย้ง เปิดดูในโซเชียลนับวันจะบานต่อเนื่องไปหลายเรื่อง

เอาการเมืองในประเทศเข้าไปปน กลายเป็นเรื่องฝ่ายประชาธิปไตยฝ่ายเผด็จการเฉย ไม่ต้องไปสนใจเรื่องที่มา รัสเซีย-ยูเครน ว่ามันมีอะไรมากกว่าสงครามที่เห็น

ช่วงนี้กูรูด้านการต่างประเทศเขียนถึงความขัดแย้งอันยาวนานในยุโรปให้อ่านกันเยอะครับ

พงศ์พรหม ยามะรัต อดีตซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ และนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นอีกคนที่เขียนเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน อธิบายเรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก Pongprom  Yamarat  ข้อความตามนี้ครับ

...ผมสังเกตเห็นโซเชียลไทย เริ่มแบ่งกลุ่มทะเลาะกัน

ฝั่งนึงเชียร์ยูเครนด้วยการแขวะฝั่งเชียร์รัสเซีย

กับฝั่งเชียร์รัสเซียที่แขวะฝั่งเชียร์ยูเครน และชาติตะวันตก

เช้านี้ขอแชร์เกร็ดความรู้ที่เกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาแบ่งปันครับ

เพราะประวัติศาสตร์ต้องมองเป็นภาพกว้าง อย่ามองอะไรเป็นชิ้นๆ

ผมเอารูปสมรภูมิที่ “เลนินกราด” สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มาให้ดู

เลนินกราด (Leningrad) คือเมือง Saint  Petersburg

ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัสเซียถูกเยอรมันบุกจากทิศตะวันตก ใครเคยดูภาพยนตร์ “Enemy at the  Gates” ก็คือเรื่องนั้นครับ ในภาพยนตร์นี้คืออีกเมืองที่สมรภูมิโหดมากได้แก่ Stalingrad หรือชื่อปัจจุบันคือ  Volgograd นั่นเอง

ทราบมั้ยครับ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ครั้งเดียว มีชาวรัสเซียเสียชีวิตถึง ๒๒ ล้านคน จากการถูกเยอรมันบุก รัสเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลรุนแรงที่สุดในสงครามโลกนะครับ  ไม่ใช่อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี

มันคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เหมือนที่ชาวยิวโดน

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ จึงเกิด “สัญญา” ระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกว่าจะไม่นำกองทัพ และอาวุธหนัก เช่นขีปนาวุธมาวางไว้ใกล้กันอีก จะได้สบายใจกันทั้ง ๒  ฝ่าย

อันนี้คือข้อตกลง

ปัญหาคือยูเครน และนาโตฉีกข้อตกลงนี้ครับ

ตามที่ผมเขียนในโพสต์ก่อนเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

ยูเครนชวนนาโตมาตั้งกองกำลัง และแถมอาจมีขีปนาวุธมาติดตั้งด้วยที่ริมชายแดนรัสเซีย โดยจะหันปืน จรวดไปทาง Moscow ที่อยู่ห่างไปแค่ ๕๐๐ กม.

ทั้งที่ประธานาธิบดียูเครนมีทางเลือกที่จะเป็นประเทศเป็นกลางได้

คือไม่ต้องโปรรัสเซีย แต่ก็ไม่เอาจรวดของอเมริกา และนาโต มาติดตั้งในประเทศตัวเอง

อันนี้คือสิ่งที่ประธานาธิบดียูเครนทำผิด คือฉีกสัญญาที่ทำไว้ตั้งแต่สงครามโลกที่ทำคนรัสเซียตายไป ๒๒ ล้านคน

ส่วนการที่รัสเซียบุกยูเครนด้วยความรุนแรงนั้น ต้องแยกเป็นอีกเรื่อง

ก่อนหน้านี้รัสเซีย-ยูเครนเคยเจรจาเรื่องนี้มาแล้วหลายรอบ

ประเด็นคือประธานาธิบดียูเครนใช้เรื่องนี้สร้างความนิยมให้ตัวเอง จึงต้องขี่หลังเสือท้าทายรัสเซียไปเรื่อยๆ

เมื่อเจรจาไม่สำเร็จ รัสเซียจึงต้องบุก

ผมกล้าพนันว่าในสถานการณ์เดียวกัน

อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือแม้แต่เวียดนาม ก็จะทำแบบเดียวกัน

เพียงแต่ชาติตะวันตกมีวิธีการสื่อสารที่ “ฉลาดกว่า” คือใช้คำว่า “พิทักษ์มาตุภูมิ”

สิ่งที่รัสเซียพลาด คือบุก จนเกิดความสูญเสียของพลเรือนในยูเครน

อันนี้ผมก็ไม่เห็นด้วย

ล่าสุด รัสเซียจึงเสนอการหยุดยิง เพื่อให้พลเรือนยูเครนหนี

ผมจึงอยากให้ “แยก” ๒ เรื่องนี้ออกจากกัน

คือประวัติศาสตร์ และสถานการณ์ปัจจุบัน

กับวิธีการบุก

อย่างแรกรัสเซียทำเพื่อป้องกันตัวเอง

อย่างที่สอง รัสเซียใช้มาตรการรุนแรงไป

รัสเซีย และยูเครน ไม่มีใครผิด ถูก ๑๐๐%

ส่วนนาโตผมว่าผิดที่สุด ที่ไปฉีกสัญญาการตั้งกองทัพริมชายแดน โดยใช้โอกาสของความไม่ฉลาดของประธานาธิบดียูเครนคนนี้....

ครับ...มาขยายความเรื่องข้อตกลงระหว่างรัสเซียกับยุโรปตะวันตก และอเมริกา เพราะนั่นสามารถเป็นชนวนให้เกิดสงครามได้อีก และกรณียูเครนจะไม่ใช่สงครามสุดท้าย

"กษิต ภิรมย์" อดีต รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย พูดเรื่องนี้ไว้ใน รายการคมชัดลึก วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อเดือนที่แล้ว

 “...ย้อนไปประมาณ ๓๐ ปี เมื่อสหภาพโซเวียต ในยุคมิคาอิล กอร์บาชอฟ เริ่มปรับตัวเปิดกว้าง ยอมปรับโครงสร้าง วางพื้นฐานความเป็นสังคมประชาธิปไตยในสหภาพโซเวียต  แล้วก็ปลดปล่อยประเทศในอาณัติทั้งหลาย โดยเฉพาะประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ให้เป็นอิสรเสรี

แล้วก็มาถึงจุดที่กำแพงเบอร์ลินได้ถูกทุบทำลายในปี  ๑๙๘๙ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการรวมตัวกันระหว่างเยอรมนีตะวันตก (ประเทศประชาธิปไตย) กับเยอรมนีตะวันออก  (ประเทศคอมมิวนิสต์) ซึ่งกอร์บาชอฟ กับ จอร์จ บุช (บุชผู้พ่อ) ได้มีการเจรจากันว่า โซเวียตจะไม่ขัดขวางการรวมประเทศเยอรมนีเป็นหนึ่งเดียว และจะไม่ขัดขวางเยอรมนี (ที่รวมชาติแล้ว) ในการเป็นสมาชิกนาโต

แต่มีเงื่อนไขว่า องค์การนาโตจะต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับประเทศยุโรปตะวันออก ยุโรปกลาง และต้องไม่มีประเทศสมาชิกนาโตอยู่ติดพรมแดนของโซเวียต ซึ่งต่อมาก็คือประเทศรัสเซีย เพราะนั่นคือความมั่นคงและความอยู่รอดของรัสเซีย อันนี้เป็นสิ่งที่รัสเซียยอมไม่ได้

เพราะตัวตนจริงๆ ขององค์การนาโตก็คือ ทหารอเมริกัน ดังนั้นรัสเซียจึงไม่ยอมให้กองทหารอเมริกันมายืนอยู่หน้าประตูบ้านของตัวเองเป็นอันขาด

และตอนนี้รัสเซียก็ทำให้เห็นแล้วว่า ถ้ายังพูดกันไม่รู้เรื่อง มีการบิดพลิ้วสัญญาที่วิงวอนขอร้องกันมาตลอด ว่าอย่าขยายจำนวนสมาชิกในนาโต เพราะนาโตเป็นผลที่สืบทอดมาจากยุคสงครามเย็น เมื่อสงครามเย็นจบไปแล้ว สนธิสัญญาวอร์ซอของโซเวียตจบไปแล้ว แต่นาโตก็ยังอยู่ ทั้งที่คอมมิวนิสต์ไม่มีให้สู้รบแล้ว นาโตจึงเปรียบเสมือนสิ่งโบร่ำโบราณจากอดีต ที่ยังมีการนำมาใช้เพื่อคุกคามรัสเซียในทุกวันนี้..."

ที่เคยกล่าวถึงก่อนหน้านี้ กรณียูเครน กับคิวบา เหมือนลอกแบบกันมา         

วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา อเมริกาเห็นว่า การติดตั้งขีปนาวุธของสหภาพโซเวียตในคิวบาเป็นการคุกคามและเป็นการยั่วยุ 

เหมือนที่ยุโรป อเมริกา ชักชวนยูเครน เข้านาโต ที่รัสเซียมองว่าถูกคุกคามเช่นกัน

สงครามเย็นจบแต่ชื่อ แต่วิธีการยังไม่จบจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี

วันนี้ของ "วันนอร์"

ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น

๒๕๖๘ อันธพาลการเมือง

ที่สุดแห่งปีในปีที่แล้วไม่มีใครเกิน "หมูเด้ง" เกิดมาเพื่อดังจริงๆ ไม่ใช่ดังธรรมดา แต่ดังข้ามทวีป คนรู้จักไปทั่วโลก