จีนรู้ล่วงหน้าไหมว่า รัสเซียจะบุกยูเครน?

จีนรู้ล่วงหน้าไหมว่ารัสเซียจะบุกยูเครน?

ถ้าไม่รู้ก่อน แปลกใจไหม?

ถ้าได้รับการแจ้งจากมอสโกก่อน, ปักกิ่งได้ระงับยับยั้งหรือสนับสนุน?

เป็นชุดคำถามที่ยังพยายามหาคำตอบจากหลายๆ แหล่งข้อมูล

แต่รายงานข่าวชิ้นหนึ่งที่กำลังเป็นที่ถกแถลงกันในหมู่นักวิเคราะห์ต่างๆ มีรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อย

ข่าวชิ้นนี้แจ้งว่า

วันที่ 20 กุมภาฯ คือวันปิดการแข่งขันโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่ประเทศจีน

วันที่ 24 กุมภาฯ ปูตินสั่งทหารรัสเซียบุกยูเครน

2 เหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวโยงกันอย่างไรหรือไม่?

แหล่งข่าวในทำเนียบขาวที่อ้างข่าวกรองสหรัฐฯ บอกว่ารัสเซียได้แจ้งให้จีนทราบล่วงหน้าว่าจะมีปฏิบัติการทางทหารในยูเครน...ฝ่ายจีนไม่ได้ระบุชัดว่าสนับสนุนหรือคัดค้านแผนการบุกยูเครนของรัสเซีย

แต่จีนได้ขอให้รัสเซียเลื่อนแผนปฏิบัติการนี้ไปหลังโอลิมปิกส์ที่ประเทศจีนจบลงเสียก่อน

นี่คือข่าวจากสหรัฐฯ ที่จีนและรัสเซียยังไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธ

แต่เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าปักกิ่งกับมอสโกมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากน้อยเพียงใด

และการที่จีน “งดออกเสียง” ในมติสหประชาชาติที่ประณามรัสเซียเรื่องบุกยูเครนนั้นมีความหมายจากนี้ไปอย่างไร

สี จิ้นผิง จะกระโดดลงไปอุ้มปูตินเต็มตัว หรือจะให้ความช่วยเหลือที่มีเงื่อนไขบางประการที่จะไม่ทำให้จีนต้องพลอยติดกับดักของสงครามด้วย

จังหวะการพบปะระหว่างปูตินกับสี จิ้นผิง ครั้งล่าสุดก็น่าสนใจ

ปูตินบินไปปักกิ่งเพื่อพบกับ สี จิ้นผิง เพื่อร่วมพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกส์ฤดูหนาว เมื่อวันที่ 4 กุมภาฯ (วันเดียวกับที่มีข่าวว่ารัสเซียแจ้งจีนว่าจะมีปฏิบัติการทางทหารในยูเครน)

เป็นการพบกันตัวเป็นๆ ของ 2 ผู้นำครั้งแรกใน 2 ปี

และมีการออกแถลงการณ์ร่วมยาว 5,364 คำที่ตอกย้ำ “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ที่ครอบคลุมทุกมิติ “โดยปราศจากข้อจำกัดในความร่วมมือทุกๆ ด้าน”

หากข่าวชิ้นนี้เป็นความจริงก็แปลว่าจีนรู้ล่วงหน้าว่าปูตินจะลุยเข้ายูเครน แต่ไม่ได้ห้ามปราม

หรือห้ามแล้วไม่เป็นผล?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เมื่อปูตินเผชิญกับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจระลอกใหม่จากโลกตะวันตก เขาก็ยิ่งเข้าหาสี จิ้นผิง เพื่อขอความร่วมมือด้านการค้าขายและลงทุน

รวมถึงการลงนามสัญญา 30 ปี ให้จีนซื้อก๊าซจากรัสเซียและสร้างท่อส่งก๊าซใหม่ระหว่าง 2 ประเทศ

แต่จีนดำเนินนโยบายกับรัสเซียเรื่องสงครามยูเครนอย่างระมัดระวังยิ่ง

บางคนเรียกว่าเป็นการ “เดินไต่ลวด” ของจีนที่ต้องการจะรักษาดุลระหว่างกระโดดเข้าอุ้มเต็มตัว กับยื่นมือช่วยเหลือบางอย่างเพื่อรักษามิตรไมตรี และยันอเมริกาเอาไว้ในบางเรื่องที่กระทบจีน

แต่ในอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะผลประโยชน์ของจีนจากการค้าขายและลงทุนและเชื่อมโยงกับยุโรปตะวันตกนั้น ปักกิ่งก็วางจุดยืนของตนที่รักษาระยะห่างจากมอสโกอย่างระแวดระวังเช่นกัน

เพราะหากปูตินเจ๊ง สี จิ้นผิง จะไม่ยอมเจ็งตามไปด้วยแน่นอน!

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจีนเข้าใจสหรัฐฯ ในเรื่องนี้มากกว่าที่จะเห็นใจรัสเซีย

นักข่าวสหรัฐฯ ถามโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน หัว ชุนอิ๋ง ว่า "ทำไมจีนไม่ประณามรัสเซียที่ใช้กำลังทหารรุกรานยูเครน ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเป็นเพราะจีนเห็นด้วยกับการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย?

                    โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนคนนี้ตอบว่า

“พวกคุณน่าจะหันกลับไปมองตัวเองบ้างว่า พวกคุณได้ทำอะไรไว้บ้างในเรื่องสิทธิสภาพของประเทศต่างๆ ว่าพวกคุณยึดมั่นให้เกียรติประเทศอื่นๆ แค่ไหน

“เมื่อร้อยกว่าปีก่อน จีนถูกสหรัฐและชาติตะวันตก 8 ชาติยกกำลังทหารเข้าทำลายกรุงปักกิ่ง ปล้นชิงและเผาพระราชวังของเราหลายแห่ง พวกคุณคิดตำหนิตนเองบ้างไหม?

“ตอนสหรัฐฯ รุกรานยูโกสลาเวีย เอาระเบิดทิ้งใส่ประเทศยูโกสลาเวีย สร้างความเสียหายแก่กรุงเบลเกรดขนาดไหน รวมทั้งสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรดก็ถูกทิ้งระเบิดด้วย ทำให้มี เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนและผู้สื่อข่าวจีนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บอีกหลายคน พวกคุณเคยคิดตำหนิรัฐบาลสหรัฐฯ บ้างหรือไม่?

“ตอนสหรัฐฯ และพันธมิตรยกกำลังทหารไปรุกรานลิเบีย รุกรานซีเรีย รุกรานอิรัก พวกคุณเคยออกมาตำหนิการละเมิดสิทธิประเทศเหล่านั้นบ้างหรือไม่?

“ตอนที่สหรัฐฯ สนับสนุนให้ชาวยิวไปก่อตั้งประเทศอิสราเอลบนดินแดนของปาเลสไตน์ รวมทั้งยกทัพเข้ายึดเวสต์แบงก์ ยิงขีปนาวุธใส่ประเทศเพื่อนบ้านนับครั้งไม่ถ้วน สหรัฐฯ อังกฤษ และพวกคุณเคยออกมาตำหนิการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ อิสราเอลบ้างหรือไม่ว่ารุกรานประเทศอื่น...”

ว่าแล้วเธอก็สรุปด้วยประโยคปวดแสบปวดร้อนว่า

“ดังนั้น คำถามที่คุณถามฉัน พวกคุณน่าจะกลับไปทบทวนตนเอง ไปถามรัฐบาลของพวกคุณบ้างก็ดีนะ”

พร้อมหยอดท้ายสั่งสอนว่า

“พูดตรงๆ นะ พวกคุณและรัฐบาลของพวกคุณไม่มีคุณสมบัติที่จะมาแนะนำสั่งสอนรัฐบาลจีน แต่ควรกลับไปพิจารณาพฤติกรรมของตนเองบ้างจะดีกว่า เป็นประโยชน์กว่ากระมัง?”

จบข่าว!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ