เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่  เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ ติดตาม เกาะติดรายงานการสืบสวนสอบสวนคดีนี้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด มีการนำตัวผู้ต้องสงสัย ลุงพล ป้าแต๋น เข้าเครื่องจับเท็จ เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

และล่าสุดคดี แตงโม นิดา ตกเรือเสียชีวิต ที่ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมขณะนี้ มีประเด็นข้อสงสัยในคำให้การพยาน ตำรวจชี้หากไม่มั่นใจคำให้การพยานอาจจะนำเข้าเครื่องจับเท็จ

ประชาชนอาจสงสัยว่า เครื่องจับเท็จ เป็นเครื่องมืออะไร มีการทำงานอย่างไร ที่ผ่านมาสามารถจับโกหกผู้เข้าทดสอบเครื่องจับเท็จได้จริงหรือไม่

 

โดยทั่วไปการดำเนินคดีอาญา ตำรวจต้องสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานให้มากที่สุดรวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน เพื่อยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหา

พยานหลักฐานหลักๆ ก็คือ พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร

อัยการจะฟ้องผู้ต้องหาหรือไม่ ก็จะพิจารณาตามพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนที่ตำรวจสอบสวนมา

ในชั้นศาลก็เช่นกัน ก็จะพิจารณาพิพากษาลงโทษตามพยานหลักฐานที่อัยการนำมาสืบแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ ปราศจากข้อสงสัย จึงพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด

เรามักจะได้ยินคำว่า ผู้ต้องหาจำนนต่อพยานหลักฐานบ่อยๆ จึงให้การรับสารภาพ ดังนั้นพยานหลักฐานเป็นสิ่งสำคัญสุดในการดำเนินคดีอาญา

เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น ตำรวจรับแจ้งเหตุจะต้องรีบไปสถานที่เกิดเหตุโดยเร็ว เพื่อรักษาสถานที่เกิดเหตุไว้ให้อยู่ในสภาพเดิม พนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสถานที่เกิดเหตุ บันทึกภาพ เก็บวัตถุพยานหลักฐานต่างๆ ที่ตรวจพบในเบื้องต้น

ถ้าเป็นคดีอุกฉกรรจ์ คดีสำคัญ หรือคดีที่หลักฐานจะต้องตรวจพิสูจน์จำนวนมากๆ ก็จะแจ้งให้ตำรวจจากหน่วยงานกองพิสูจน์หลักฐานไปช่วยดำเนินการด้วยอีกส่วนเพิ่มเติม

คดีอาญาทั่วไป พนักงานสอบสวนก็จะสอบสวนพยานบุคคลเบื้องต้น อาจจะเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะที่เกิดเหตุขึ้นด้วยตนเอง หรือพยานแวดล้อม ขณะที่เกิดเหตุไม่เห็นเหตุการณ์ แต่เห็นก่อนหรือหลังที่เกิดเหตุ

เมื่อสอบสวนพยานบุคคลได้จำนวนเพียงพอ และมีพยานวัตถุหรือพยานเอกสารประกอบในสำนวนการสอบสวน  ก็จะสรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการเพื่อฟ้องศาลต่อไป

คดีอาญาทั้งคดีธรรมดาหรือคดีอุกฉกรรจ์ ตำรวจสามารถสืบสวนสอบสวนและแสวงหาพยานหลักฐาน ทั้งพยานบุคคลและพยานวัตถุมากล่าวโทษยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหาได้ทั้งหมด

การดำเนินคดีในชั้นการพิจารณาคดีของศาล ในบางคดีพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนสอบสวนปากคำไว้ในชั้นสอบสวน อาจกลับคำให้การในการเบิกความในชั้นพิจารณาคดีของชั้นศาล

โดยมีการว่าจ้างพยานให้เบิกความว่าไม่รู้ไม่เห็นบ้าง หรือให้การอื่นๆ อันเป็นคุณกับผู้ต้องหา หรือบางรายหลบหนีไม่ยอมไปเบิกความที่ศาล เป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

เคยมีคดีตัวอย่าง พยานบุคคลให้การเท็จเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อคดีอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ.2529 คดีฆาตกรรม น.ส.เชอรี่แอน ที่โด่งดังเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ตำรวจสอบสวนพยานบุคคลให้การเท็จปรักปรำจำเลย 4 คนที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกันฆาตกรรม น.ส.เชอรี่แอน เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 4 คน

ต่อมาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง แต่จำเลยต้องถูกจำคุกระหว่างการพิจารณาคดีนานถึง 6 ปี จำเลยบางคนเจ็บป่วย ทนทรมานอยู่ในคุกถึงแก่ความตายไปก่อน ครอบครัวผู้ต้องหาทั้งหมดขาดเสาหลักของครอบครัว บ้านแตกสาแหรกขาด ประสบปัญหาต่างๆ อย่างมากมาย

ต่อมาภายหลังกรมตำรวจต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายหรือเยียวยาให้กับจำเลยทั้ง 4 คน จำนวน 26 ล้านบาท ก็ไม่สามารถชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง และเป็นบทเรียนในการรับฟังพยานบุคคลในคดีอาญาต่อไป

ดังนั้น การแสวงหาพยานหลักฐานในคดีสำคัญๆ จึงต้องให้ความสำคัญกับการค้นหาวัตถุพยานเพื่อไปตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ นำไปเป็นพยานหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของผู้ต้องหามากกว่าอาศัยพยานบุคคล เช่น การตรวจลายพิมพ์นิ้วมือแฝง การตรวจ DNA คราบอสุจิ คราบเลือด เส้นขนเส้นผม ฯลฯ

ถ้าเป็นพยานบุคคลก็อาจต้องเอามาเข้าเครื่องจับเท็จเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นประกอบการดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อไป

เครื่องจับเท็จหรือเครื่องโพลีกราฟ (Polygraph) ได้ถือกำเนิดครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ 100 ปีมาแล้ว และนำเครื่องจับเท็จมาใช้ในการสืบสวนสอบสวนจนทุกวันนี้

ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1858 Etienme Jules Marey นักสรีรวิทยาชาวฝรั่งเศส มีแนวความคิดการสร้างเครื่องจับเท็จเป็นครั้งแรก โดยได้ทำการบันทึกการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียดรวมถึงอาการคลื่นไส้และน้ำเสียงผิดปกติ

ต่อมาในปี ค.ศ.1890 Cesare Lombroso นักอาชญาวิทยาชาวอิตาลี ใช้ถุงมือพิเศษวัดความดันโลหิตของผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาระหว่างสอบสวน

ค.ศ.1904 Hugo Mungsterberg นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Harvard ได้คิดค้นเครื่องมือหลายประเภทสำหรับบันทึกและวิเคราะห์ ได้แก่ เครื่องมือแสดงการเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การหายใจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพทางผิวหนัง

ปี ค.ศ.1925 Leonarde Keeler ออกแบบและประดิษฐ์เครื่องบันทึกชีพจรและการหายใจ อาจเรียกว่าเป็นเครื่องจับเท็จแบบทำเองรุ่นแรกๆ ก็ว่าได้ เขาเรียกมันว่า “The Emotograph”

เขาใช้เครื่องจับเท็จกับอาชญากรสองคนที่ก่อคดี ผลการทดลองด้วยเครื่องจับเท็จถูกนำไปเป็นหลักฐานในชั้นศาล กระทั่งผู้ต้องหาถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย

ปี ค.ศ.1932 Walter Summers ประดิษฐ์เครื่องจับเท็จ โดยพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องจับเท็จของ Leonarde Keeler เครื่องมือนี้สามารถใช้ตรวจบันทึกอาการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังในลักษณะที่เป็นสื่อไฟฟ้า ซึ่งได้ผลดีและแม่นยำกว่าเครื่องจับเท็จเดิม

เครื่องจับเท็จ เป็นเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่อาศัยหลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้ตรวจและบันทึกการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทางสรีรวิทยาที่ไม่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้

ส่วนประกอบของเครื่องจับเท็จจะมีลักษณะทำนองเดียวกับเครื่องมือแพทย์    ประกอบด้วยอุปกรณ์วัดการหายใจ,  อุปกรณ์วัดความดันโลหิต, อุปกรณ์วัดความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง ฯลฯ

หลักการทำงานของเครื่องจับเท็จ เมื่อนำตัวผู้ต้องสงสัยด้วยความยินยอมมาเข้าเครื่องจับเท็จภายในห้องที่กำหนดไว้ ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว

นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาจะถามคำถาม โดยได้ศึกษาหาข้อมูลในคดีที่เกิดขึ้นจากพนักงานสอบสวน

เมื่อผู้ต้องสงสัยตอบคำถามจะแสดงปฏิกิริยาทางร่างกายต่างๆ ผ่านเครื่องมือ

ความเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต ความเร็วของขนาดช่วงชีพจรลักษณะผันแปรของการหายใจ และการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังในลักษณะเป็นสื่อไฟฟ้า ทั้งหมดนี้จะสัมพันธ์และปรากฏให้เห็นในลักษณะของเส้นกราฟจากเครื่องจับเท็จ

สามารถนำไปวิเคราะห์ออกรายรายงานในเบื้องต้นสันนิษฐานได้ว่าพูดความจริงหรือพูดเท็จ ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนใช้เป็นพยานหลักฐานหรือแนวทางในการดำเนินคดีต่อไป

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เครื่องมือนี้อย่างแพร่หลายมานานแล้วในการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นตำรวจตามมลรัฐต่างๆ การตรวจสอบสายลับ หรือแหล่งข่าว DEA หน่วยงานปราบปรามยาเสพติด ก็นำเครื่องมือนี้มาทดสอบเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะเข้าทำงาน

ประเทศไทย นำเครื่องจับเท็จมาใช้ครั้งแรกที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ใช้ในงานพิสูจน์ตัวบุคคลมากว่า 60 ปี มีการพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัยตลอดเวลา จาก Manual มาเป็นระบบ Computer

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงเครื่องจับเท็จคือ  พ.ต.อ.หญิงดวงหทัย เลาหเวชรานันท์  ผู้ชำนาญการตรวจพิสูจน์เครื่องจับเท็จ จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (จิตวิทยา) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จิตวิทยา) และหลักสูตรการจับเท็จชั้นสูงจากประเทศสหรัฐอเมริกา

ประสบการณ์กว่า 30 ปี ออกรายงานเพื่อประกอบคดีกว่า 1,500 เรื่อง ทั้งคดีใหญ่เป็นที่สนใจของประชาชน และคดีทั่วไปที่พนักงานสอบสวนแจ้งขอความร่วมมือมา

เป็นผู้บรรยาย ให้มีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องจับเท็จหลักสูตร การสืบสวนสอบสวนคดีอาญา ของกองบัญชาการศึกษา นักวิทยาศาสตร์ (สบ 1) สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และจิตวิทยาการไต่สวน ฯลฯ

พ.ต.อ.หญิงดวงหทัย ได้กล่าวว่า “มีผู้เข้าเครื่องจับเท็จกว่า 1,000 คน มีเพียงไม่กี่รายที่ผลออกมาในลักษณะก้ำกึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องยกประโยชน์ให้กับผู้ต้องหา…

บางกรณีผู้ต้องหาเป็นโจรโดยสันดานและมีจิตใจที่หนักแน่น อาจทำให้การทำงานของเครื่องไม่ได้ผลก็เป็นไปได้

เจ้าหน้าที่ซึ่งทำการทดสอบจะต้องใช้ประสบการณ์และเทคนิคในการสร้างคำถามเพื่อให้ผู้ต้องหานั้นๆ คายความจริงมาจนได้ในที่สุด”

คดีอุกฉกรรจ์สำคัญสะเทือนขวัญและคดีที่สังคมสนใจ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ใช้เครื่องจับเท็จเข้าไปช่วยในการคลี่คลายคดี

คดีนายเสริม สาครราษฎร์ นักศึกษาแพทย์ฆ่าหั่นศพ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาว นักศึกษาแพทย์ศิริราช คดีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ศาลได้อ้างอิงรายงานผลการเข้าเครื่องจับเท็จของจำเลยในคำพิพากษาลงโทษ นับเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เครื่องมือทางนิติวิทยาศาสตร์ เข้ามามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมไทย

คดีอื่นๆ เช่น คดี “หมวยโซ” จอมลวงโลกที่ปั้นเรื่องกล่าวหาว่าถูกโชเฟอร์ตุ๊กๆ ข่มขืน, คดีฆาตกรรมอำพรางนางศยามล,  คดีนักเรียนนายเรือร่วมกับเพื่อนสังหารแฟนสาว, คดีฆ่านายปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าฯ ยโสธร, คดีนายสมพงษ์ เลือดทหาร แท็กซี่กำมะลอ

พ.ต.อ.หญิงดวงหทัย เคยเล่าให้ฟังว่า “ภาคภูมิใจที่ได้ทำงานใช้เครื่องจับเท็จช่วยเหลือพนักงานสอบสวนคลี่คลายคดีต่างๆ แยกแยะอาชญากรออกจากผู้บริสุทธิ์ และนำคนผิดมาลงโทษ…

ตนเองปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจรักและปราศจากอคติใดๆ ต้องอาศัยเทคนิคในการป้อนคำถามและประสบการณ์ในการวิเคราะห์…”

ถึงแม้ว่าจะมีคำพิพากษาฎีกาที่ 734/2553 ได้พิพากษาว่า “เครื่องจับเท็จเป็นเพียงเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่นำผลการตอบคำถามของจำเลยมาวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้วประเมินผลจากการวิเคราะห์นั้นว่าจำเลยพูดความจริงหรือพูดเท็จ

อันมีลักษณะเป็นความเห็นทางวิชาการย่อมไม่อาจนำมาพิสูจน์ทราบถึงข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยเป็นที่แน่ชัดได้

ต่างจากการพิสูจน์ตัวบุคคลที่อาจพิสูจน์ทราบได้โดยอาศัยเครื่องมือวิทยาศาสตร์…

ลำพังเครื่องจับเท็จและความเห็นของผู้ชำนาญเครื่องจับเท็จไม่อาจรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดได้…”

อย่างไรก็ตาม เครื่องจับเท็จและความเห็นของผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในงานนิติวิทยาศาสตร์ ในอันที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานสืบสวนสอบสวนคดีอาญาต่อไป

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ พ.ต.อ.หญิงดวงหทัย เลาหเวชรานันท์ สนับสนุนข้อมูล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

ตำรวจสวนสนาม

การสวนสนาม คือพิธีชุมนุมพลของกองทหาร เพื่อแสดงให้เห็นความพร้อมเพรียง ความสง่าผ่าเผย และอานุภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์