จีนกับกลยุทธ์ ‘เดินไต่ลวด’ กรณีรัสเซียบุกยูเครน

ท่าทีของจีนต่อกรณีรัสเซียรุกเข้าทางตะวันออกของยูเครนน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะแม้ว่าด้านหนึ่งปักกิ่งจะยืนเคียงข้างมอสโกในภาพรวม แต่ในรายละเอียดนั้นมีหลายประเด็นที่จีนอาจจะไม่ได้มีจุดยืนที่แนบแน่นกับรัสเซียเสมอไป

สัปดาห์ที่ผ่านมาเอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้ "ทุกฝ่าย" ใช้ความยับยั้งชั่งใจและหลีกเลี่ยง "การจุดชนวนความตึงเครียด" ในยูเครน

จีนหลีกเลี่ยงการประณามที่รัสเซียยอมรับการได้รับเอกราชของ 2 ภูมิภาค ที่สนับสนุนมอสโกทางตะวันออกของยูเครน

ปักกิ่งพยายามสร้างสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับมอสโกกับนโยบายต่างประเทศของทางการในการปกป้องอธิปไตยของรัฐอย่างแข็งขัน

เพราะ “แยกดินแดน” เป็นวลีที่แสลงสำหรับจีน

จีนกล่าวหาว่ามีกลุ่มพยายามแยกตัวออกจากปักกิ่งในไต้หวัน, ซินเจียงและทิเบต

ปักกิ่งเคยประกาศว่าหาก “กลุ่มแยกดินแดน” ในไต้หวันยืนยันจะเดินหน้าประกาศเอกราชจากจีน ก็อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังปราบปรามให้สิ้น

ในแถลงการณ์สั้นๆ ในการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จาง จุน เอกอัครราชทูตสหประชาชาติของจีนย้ำว่า ปักกิ่งยินดีและจะสนับสนุนทุกความพยายามในการแก้ปัญหาทางการฑูต โดยเสริมว่าข้อกังวลทั้งหมดควรได้รับการปฏิบัติบน "ความเท่าเทียมกัน"

“สถานการณ์ปัจจุบันในยูเครนเป็นผลมาจากปัจจัยที่ซับซ้อนหลายอย่าง จีนมีจุดยืนอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลและปัจจัยในแต่ละสถานการณ์ เราเชื่อว่าทุกประเทศควรแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยวิธีสันติตามวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ” จางกล่าว

ขณะที่ในเวทีเดียวกันนั้น เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นบอกว่า คำกล่าวอ้างของปูตินว่าได้ส่ง 'ผู้รักษาสันติภาพ' ไปยังยูเครนตะวันออกนั้นเป็นเรื่อง 'ไร้สาระ'

การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงรอบพิเศษมีขึ้นในขณะที่ผู้นำโลกวิ่งกันให้วุ่นในอันที่จะลดระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ในยูเครน

หลังจากปูติน สั่งให้กองกำลังรัสเซียเข้าไปในสองดินแดนที่แยกตัวจากยูเครน

รัสเซียย้ำมาตลอดว่าจะไม่รุกรานยูเครน และในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงก็ได้ออกมาอ้างว่าการตัดสินใจรับรอง 2 แคว้นแยกตัวนี้ก็เพื่อ “ปกป้อง" ผู้อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และสาธารณรัฐประชาชนลู่หานสค์ (DPR และ LPR)

พอแรงกดดันจากตะวันตกเพิ่มขึ้น รัสเซียพยายามเข้าใกล้จีนมากขึ้น

ปูตินบินไปปักกิ่งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เพื่อพบกับผู้นำจีน สี จิ้นผิง ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ตามมาด้วยแถลงการณ์ร่วมที่ประกาศว่าความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศนั้นแน่นแฟ้นแบบ “ไร้ข้อจำกัด"

และ "ไม่มีพื้นที่ 'ต้องห้าม สำหรับความร่วมมือ" ของสหายทั้งสอง

จีนย้ำจุดยืนที่ต้องการเห็น “การเจรจาอย่างสันติเพื่อนำไปสู่ทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้”

เห็นได้ชัดว่า สี จิ้นผิง ใช้แนวทาง “เดินไต่เส้นลวด” ด้วยความระมัดระวังไม่ให้หล่นไปข้างใดข้างหนึ่ง เพราะแม้จีนจะต้องช่วยรัสเซียในฐานะ “มิตรในยามยาก” แต่ปักกิ่งก็หวังพึ่งความร่วมมือเศรษฐกิจกับยุโรปอย่างมาก

และแม้จะเผชิญหน้ากับวอชิงตันในหลายเรื่อง ปักกิ่งก็ไม่ต้องการจะปะฉะดะกับสหรัฐฯ ในทุกๆ ประเด็นจนมีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองในภาพกว้าง

ที่แน่ๆ คือปักกิ่งต้องการหลีกเลี่ยงการลากเข้าไปเป็นค่ายเดียวกับรัสเซียจนอาจถูกมาตรการคว่ำบาตรจากตะวันตกไปด้วย

นักวิเคราะห์ตะวันตกบางคนถึงกับประกาศว่า ถ้าหากรัสเซียบุกยูเครน สหรัฐฯ และยุโรปจะต้องคว่ำบาตรจีนด้วย เพราะมีมุมมองว่าจีนเป็นผู้หนุนหลังรัสเซียด้วยการเปิดประตูการค้าขายและลงทุนกับรัสเซียขณะที่โลกประณามมอสโก

ก่อนหน้านี้ จีนได้เรียกร้องให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตยูเครนกลับคืนสู่ “ข้อตกลงมินสค์” ที่ทำในปี  2014 และ 2015 ภายหลังความขัดแย้งในยูเครนตะวันออกกับ 2 แคว้นกบฏ

แต่การที่ปูตินประกาศรับรอง 2 แคว้นแยกดินแดนนี้ก็เท่ากับเป็นฉีกข้อตกลงมินสค์นี้อย่างโจ่งแจ้ง

รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ ย้ำว่าทุกฝ่ายในข้อพิพาทนี้ "ควรเคารพอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของทุกประเทศ"

น่าสนใจว่าเมื่อทหารรัสเซียบุกเข้ายูเครนและพยายามจะยึดเมืองสำคัญๆ เช่นนี้ปักกิ่งจะถือว่าเป็นการละเมิด “บูรณภาพแห่งดินแดน” หรือไม่?

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนักวิเคราะห์บางสำนักจึงมองว่าจีนกำลังตกอยู่ใน "ฐานะที่น่าอึดอัด"

ในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันนั้น หวัง อี้ ได้ยกหูคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน คุยกันถึงวิกฤตยูเครน และต่อไปเรื่องเกาหลีเหนือกับสถานการณ์ในเอเชียด้วย

เป็นการตอกย้ำว่าความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ นั้นมีความเกี่ยวข้องกับเอเชียที่เชื่อมต่อกับกรณียูเครนอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

จีนพร้อมจะเสี่ยงด้วยการกระโดดลงเรือกับรัสเซียในทุกๆ กรณี

หรือต้องแยกแยะเรื่องราวเพื่อประเมินจุดยืนแต่ละเรื่องอย่างระมัดระวัง?

นี่คือปริศนาที่น่าวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ