การที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ตัดสินใจสั่งทหารเข้าบุกยูเครนครั้งนี้มีความเห็นจากด้านที่เข้าใจวิธีคิดวิเคราะห์ของผู้มีอำนาจในรัสเซียว่าเป็นความผิดของ NATO เองที่ขยายสมาชิกมาประชิดติดรัสเซียจนทำให้ปูตินต้องเปิดศึก
รัสเซียอ้างมาตลอดว่าองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ North Atlantic Treaty Organization นั้นควรจะสลายตัวไปตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายไปเมื่อปี 1991 แล้ว
เพราะ NATO ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1949 (เพียง 4 ปีหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2) เพื่อสกัดอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
แต่แทนที่จะลดบทบาทของตัวเองหรือหันมาคบหากับรัสเซียเพื่อช่วยกันเสริมสร้างสันติภาพในยุโรป ผู้นำสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกกลับรวมหัวกันผนึกกำลังเพื่อขยายนาโตให้เข้าไปครอบคลุมยุโรปตะวันออก
เหมือนต้อนรัสเซียให้เข้ามุม
NATO ได้เพิ่มสมาชิกใหม่ 8 ครั้ง นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1949 เพื่อรวมสมาชิก 12 ประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้งนาโต
นั่นคือ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
นั่นคือช่วงของ "สงครามเย็น" ที่แบ่งโลกเป็น 2 ขั้วระหว่างรัฐทุนนิยมของยุโรป ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และรัฐคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต
เป็นจังหวะที่โปรตุเกสภายใต้การนำของ Antonio Salazar ให้เข้าร่วม NATO
และเปิดทางให้รัฐบาลต่อต้านคอมมิวนิสต์ของกรีซและตุรกีเข้าร่วม NATO ในปี 1952
กรีซระงับสมาชิกภาพความเป็นนาโตในปี 1974 เนื่องจากการรุกรานไซปรัสของตุรกี แต่ก็ย้อนกลับเข้าร่วมในปี 1980 ด้วยความร่วมมือของตุรกีเอง
อนุสัญญากรุงบอนน์-ปารีสยุติการยึดครองเยอรมันตะวันตกของฝ่ายพันธมิตร และบางส่วนได้ให้สัตยาบันโดยมีเงื่อนไขว่าเยอรมันตะวันตกเข้าร่วมกับนาโต ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1955
แม้แรกๆ จะค่อนข้างถูกโดดเดี่ยว แต่สเปนภายใต้การนำของฟรานซิสโก ฟรังโก ก็ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน และผูกพันตามข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศตามปกติกับกลุ่มประเทศนาโต
หลังจากเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย สเปนก็ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ในยุโรปเป็นปกติ รวมถึงการเข้าร่วมกับ NATO ซึ่งทำได้ในปี 1982
การลงประชามติในปี 1986 ได้ยืนยันการสนับสนุนอย่างกว้างขวางในการเข้าร่วมนาโต
หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง เยอรมันตะวันออกกับตะวันตกรวมชาติก็เกิดคำถามใหญ่ว่านาโตจะขยายสมาชิกไปทางตะวันออกหรือไม่อย่างไร
สหภาพโซเวียตซึ่งเป็นแกนสำคัญของกลุ่ม Warsaw Pact ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อยันกับ NATO ล่มสลายในปี 1991 (กำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989)
มีคำถามว่า NATO ยังจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะศัตรูหมายเลข 1 คือสหภาพโซเวียตแตกกระจายหรือเพียงรัสเซียเท่านั้น
การถกแถลงเป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นในทุกวงการของโลกตะวันตกว่าควรจะลดบทบาทของ NATO หรือควรจะฉวยโอกาสนี้ขยายอิทธิพลของโลกตะวันตกเข้าไปสู่ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
ฝ่ายที่เห็นว่าควรจะต้องขยาย NATO แทนที่จะหดตัวได้ชัยชนะในการกำหนดทิศทาง
นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ปูตินอ้างว่ายุโรปตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐฯ พยายามจะขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกเพื่อจะทำให้รัสเซียกลายเป็นประเทศที่อ่อนแอและหมดสภาพในที่สุด
ในปีที่สหภาพโซเวียตล่มสลายนั้น ปูตินเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยราชการลับ KGB ของรัสเซียที่เมืองเดรสเดน
ปูตินพูดให้ประชาชนได้ยินบ่อยๆ ว่าวันที่เขาได้รับรู้ข่าวการล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้นเป็นวันแห่งความผิดหวังที่หนักที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
และ "ความแค้น" ครั้งนั้นยังฝังลึกอยู่ในความคิดของเขาจนได้เป็นผู้นำสูงสุด...อันเป็นจังหวะที่ทำให้เขาตัดสินใจบุกยูเครนเพื่อ "ทวงคืน" ศักดิ์ศรีของ "จักรวรรดิโซเวียต" อันยิ่งใหญ่ในอดีต
ยูเครนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่ง "หอกข้างแคร่" ของการขยายอิทธิพลของนาโตที่จะมาคุกคามรัสเซีย
หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต นาโตก็ขยับตัวขยายสมาชิกภาพไปทางตะวันออกต่อ
ปี 1999 โปแลนด์, ฮังการีและสาธารณรัฐเช็กเข้าร่วมนาโต
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบรรดาสมาชิกนาโตเอง
รัสเซียวันนั้นแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างแรง แต่ก็ไร้ผล
ต่อมาอีก 7 ประเทศในยุโรปกลางและตะวันออก คือ บัลกาเรีย, เอสโตเนีย, ลัทเวีย, ลิทัวเนีย, โรมาเนีย, สโลวาเกียและสโลวาเนียก็เข้าร่วมนาโต
ตามมาด้วยมอนเตเนโกรและมาซิโดเนียเหนือ
ปีที่แล้วนี่เอง นาโตก็ตั้งแท่นจะเชิญอีก 3 ประเทศ คือ บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา, จอร์เจียและยูเครน
ยูเครนกลายเป็นประเด็นใหญ่สำหรับรัสเซีย เพราะเมื่อปี 2014 รัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครน
และ 2 แคว้นทางตะวันออกของยูเครนที่ประกาศขอแยกตัวออกจากยูเครนก็แสดงความสนิทสนมกับรัสเซียเป็นพิเศษ
ปูตินพูดถึงยูเครนทีใดก็จะตอกย้ำประวัติศาสตร์ที่ว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียตลอด ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์, การเมืองหรือความมั่นคง
หากยูเครนเข้านาโต รัสเซียจะรู้สึกถูกคุกคามทันที เพราะนั่นแปลว่าทหารและอาวุธร้ายแรงของนาโตสามารถมาจ่อคอหอยของรัสเซียทันที
ขณะนี้ยังมีการพูดกันว่าสวีเดน, ฟินแลนด์และเซอร์เบียอาจจะกำลังพิจารณาขอเข้าเป็นสมาชิกนาโตด้วย
ปูตินออกมาเตือนหลังจากส่งทหารบุกยูเครนแล้วว่า ถ้าฟินแลนด์และสวีเดนเข้านาโต ยุโรปจะเข้าสู่สภาวะไร้เสถียรภาพ
ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ยกเว้นจะบอกว่านี่คือการขู่รอบใหม่จากปูตินว่า...หากฟินแลนด์และสวีเดนไม่เชื่อก็ลองดู...ชะตากรรมจะเหมือนยูเครน!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ