นี่คือ ‘สงครามเย็น 2.0’ หรือ ‘สงครามยุโรป’ ครั้งใหญ่?

ตอนแรกที่มีการเปิดเผย “ข่าวกรองตะวันตก” ฟันธงว่าประธานาธิบดีปูตินบุกยูเครนแน่ คนจำนวนไม่น้อยไม่เชื่อ เพราะตีความว่าเป็นการ “ปั่นข่าว” ของฝ่ายตะวันตกมากกว่า

เพราะปูตินปฏิเสธเรื่องนี้มาตลอด
เอาเข้าจริงๆ การประเมินความเคลื่อนไหวของปูตินของวงการข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ และนาโตก็ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา

นั่นคือ “สงครามเต็มรูปแบบ” ที่รัสเซียไม่เพียงแต่จะรุกเข้าไปทางตะวันออกของยูเครนเพื่อ “ตอบสนองคำร้องขอ” ของสองแคว้นที่ประกาศแยกตัวจากยูเครนเท่านั้น แต่ยังต้องการจะยึดครองยูเครนทั้งประเทศ

ปูตินใช้ยุทธการทางทหารดั้งเดิมในการทำศึก...นั่นคือยึดพื้นที่แล้วจงเข้าสู่โต๊ะเจรจา

คำถามใหญ่ตอนนี้สำหรับผมก็คือ สหรัฐฯ และนาโตจะยับยั้งรัสเซียด้วยวิธีใด

ทางเลือกจากเบาไปหาหนักคือ

1.ยอมให้รัสเซียคุมชะตากรรมของยูเครน แต่เจรจาไม่ให้ปูตินส่งทหารข้ามเข้ามาในดินแดนของสมาชิกนาโต

2.นาโต้ยอมให้สมาชิกเข้าช่วยเหลือยูเครนทำสงคราม แต่ไม่ใช่ในนามนาโต แม้จะได้รับการสนับสนุนจากนาโตทางอ้อม

3.นาโตรับยูเครนเข้านาโตอย่างเร่งด่วน ส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าเปิดศึกกับรัสเซียเต็มรูปแบบ กลายเป็นสงครามยุโรป

ในความปฏิบัติ ผมเชื่อว่านาโตอาจจะเลือกผสมผสานทางเลือกทั้งสามอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายของการไม่ให้ปูตินกลายเป็นผู้รุกรานที่ไม่มีใครยับยั้งได้

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประกาศว่า บัดนี้มี “ม่านเหล็ก” (Iron Curtain) แผ่นปิดรัสเซียออกจากโลกแห่งอารยะอีกครั้งหนึ่งแล้ว

คำว่า Iron Curtain เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อสหภาพโซเวียตยึดครองยุโรปตะวันออก เพื่อสร้างอิทธิพลของระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้การกำกับดูแลของมอสโก

เป็นจุดเริ่มต้อนของ “สงครามเย็น” ระหว่างค่ายโลกเสรีกับกลุ่มคอมมิวนิสต์

วันนี้กำลังจะเกิด “สงครามเย็น 2.0” หรือไม่ เป็นอีกคำถามหนึ่งที่ควรแก่การวิเคราะห์

เดือนพฤศจิกายน 1989 เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลายมีการแบ่งโลกออกเป็นตะวันออกกับตะวันตก เพราะความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างลัทธิทุนนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์

พอถึงปี 1991 สหภาพโซเวียตล่มสลาย...เป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดของสงครามเย็น

แต่สำหรับปูติน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ KGB ที่เคยประจำอยู่ในเยอรมนีตะวันออก การล่มสลายของสหภาพโซเวียตตอนนั้นกลายเป็นความแค้นส่วนตัวอันขมขื่นซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

การที่ยูเครนแยกตัวเองไปอยู่กับฝั่งตะวันตกเป็นสิ่งที่ปูตินยอมรับไม่ได้มาช้านาน

และเพิ่งจะระเบิดออกมาเป็นการประกาศ “ฟื้นฟู” ความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตในอดีต

ปูตินไม่แคร์ว่ารัสเซียเคยยอมลงนามในข้อตกลงระหว่างประเทศที่ยอมรับขอบเขตของรัฐยูเครนใหม่

และในปี 2014 ปูตินก็พบวิธีการผนวกไครเมีย ซึ่งเป็นพื้นที่รัสเซียที่มีความหมายมากที่สุดของยูเครน

ในช่วงหลังนี้ รัสเซียพยายามจะสร้างกลุ่มพันธมิตรใหม่กับจีน ที่แรกเริ่มอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกับตะวันตกโดยตรง

แต่มอสโกและปักกิ่งก็จับมือสนับสนุนซึ่งกันและกันเมื่อเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากตะวันตก

พอรัสเซียบุกยูเครน จีนก็ปฏิเสธที่จะประณามรัสเซีย

เหมือนที่จีนปักกิ่งเคยประกาศว่า หากไต้หวันประกาศแยกตัวเป็นเอกราชก็จะต้องเผชิญกับปฏิกิริยารุนแรงจากปักกิ่งแน่นอน

รวมถึงการใช้กำลังอย่างที่ปูตินทำกับยูเครน

สถานการณ์ของโลกวันนี้น่ากังวลมากกว่ายุคสงครามเย็น

ในยุคสงครามเย็นนั้นทุกอย่างเป็นขาวและดำ แยกมิตรแยกศัตรูได้ง่ายกว่า

อีกทั้งส่วนใหญ่กฎเกณฑ์ก็ชัดเจนมากกว่า

มีการขีดเส้นสีแดงที่เตือนอีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่า “ล้ำ” เข้ามา

แม้ยักษ์ใหญ่ทั้งสองค่ายต่างจะมีอาวุธนิวเคลียร์ แต่ต่างก็มีความระแวดระวัง สร้างดุลถ่วงแห่งอำนาจต่อกัน

แม้จะเกิดการเผชิญหน้าที่น่าหวาดเสียวหลายครั้ง แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เกิดสงครามใหญ่

สงครามโลกครั้งที่สามยังไม่เกิด เพราะมีการ “ถ่วงดุล” แห่งแสนยานุภาพทางทหาร

แต่หลังจากการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ตำรากฎเกณฑ์เก่าๆ ก็ถูกฉีกทิ้ง

วันนี้เส้นแบ่งเขตอิทธิพลเป็นสีเทามากขึ้น คลุมเครือมากขึ้น ไม่มีใครรู้ว่าเส้นสีแดงขีดอยู่ตรงไหน

การที่มีแนวโน้มว่ายูเครนอาจเข้าร่วมกับนาโต ทำให้เครมลินโกรธแค้นและมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปูตินต้องคิดหนักว่าจะสกัดไม่ให้นาโตขยายตัวมาประชิดติดพรมแดนของตนอย่างไร

ปูตินประสบความสำเร็จในไครเมียเมื่อ 8 ปีก่อน

และสถานภาพในบ้านก็ดูแข็งแกร่งขึ้นแม้จะยังมีกลุ่มต่อต้านความเป็นผู้นำรวบอำนาจของเขา

แต่แผนของปูตินน่าจะเป็นว่า ถ้าเขาบุกเข้ายูเครนแบบสายฟ้าแลบ ถอนตัวออกมา และประกาศชัยชนะอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังนาโตได้ว่า

รัสเซียจะไม่ยอมสูญเสีย “เขตอิทธิพล” ของตนในยุโรปตะวันออกเป็นอันขาด

แต่นักบู๊อย่างปูตินก็มีสิทธิที่จะประเมินสถานการณ์ผิดพลาดได้

เพราะเมื่อเขากดปุ่มสั่งทหารรัสเซียลุยยึดยูเครนทั้งประเทศ...ปูตินมีแผนที่จะต่อรองกับนาโตอย่างไร

ปูตินมีแผนรุก...แต่ยังไม่เห็นแผนถอย...เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่จะทำลายทั้งเศรษฐกิจและฐานอำนาจของตัวเองอย่างไร

เกมเสี่ยงสูงเช่นนี้ยังมองไม่เห็นจุดจบเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หน่วยข่าวกรองทหารของยูเครนเผย เคยมีแผนลอบสังหาร ‘ปูติน’ หลายครั้งแล้ว

ตามรายงานข่าวกรองทางทหารของยูเครน พบว่ามีการพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียหลายครั้งแล้ว “แต่อย่างที่คุณเห็น พวกเขาทำไม่สำเร็จ” นายพลคิริโล บูดานอฟ-หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหาร กล่า

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด