มีคนถามว่าวิกฤตยูเครนเกี่ยวข้องกับไต้หวันอย่างไร?
นักการทูตยุโรปบางคนบอกว่า ถ้าตะวันตกไม่สนับสนุนยูเครนจากการรุกรานของรัสเซีย, ไต้หวันก็จะรู้สึกถูกคุกคาม
แล้วมันเกี่ยวกันอย่างไร?
รัสเซียถือว่ายูเครนควรจะอยู่ใต้อิทธิพลของตน ไม่ว่าจะมองจากแง่ภูมิศาสตร์, ประวัติศาสตร์ และความมั่นคง
เหมือนที่จีนยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
รัสเซียมองว่าการที่สหรัฐฯ และนาโตขยายอิทธิพลเข้าสู่ยูเครนเท่ากับเป็นการคุกคามรัสเซียโดยตรง
เพราะถ้ายูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต, โลกตะวันตกก็สามารถจะส่งทหารและอาวุธร้ายแรงมาประจำยูเครน ซึ่งเท่ากับเป็นการประชิดติดพรมแดนรัสเซียโดยตรง
ตะวันตกเตือนรัสเซียว่าอย่าได้รุกเข้ายูเครน
เหมือนที่สหรัฐฯ และตะวันตกเตือนจีนแผ่นดินใหญ่ว่าอย่าบุกไต้หวัน
แม้จะอยู่กันคนละทวีป แต่ไต้หวันก็กำลังจับตาว่าสหรัฐฯ จะเอายังไงกับรัสเซียและยูเครน
ไต้หวันย่อมสามารถจะได้บทเรียนจากกรณีวิกฤตยูเครน
อย่างน้อยก็มีคำถามว่าสหรัฐฯ จะปกป้องยูเครนจริงไหม ถ้าไม่จริง ไต้หวันก็หนาวได้เหมือนกัน
ดูจากภาพรวม ความคล้ายคลึงกันระหว่างสถานการณ์ในยูเครนและไต้หวันค่อนข้างชัดเจน
เพราะทั้ง 2 เป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่เผชิญกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากเพื่อนบ้านที่มีอำนาจเผด็จการ
อนาคตของทั้งยูเครนและไต้หวันจึงถูกมองว่าเป็นบททดสอบที่สำคัญเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของสหรัฐอเมริกา และความพร้อมที่จะทำสิ่งที่เรียกว่า “รักษาระเบียบตามกฎสากล”
นักวิเคราะห์บางคนถึงกับสรุปง่ายๆ ว่า ถ้าสหรัฐฯ ล้มเหลวที่จะตอบโต้การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียต่อยูเครน ก็เท่ากับเป็นการเชิญชวนจีนให้โจมตีไต้หวันในลักษณะเดียวกัน
จึงไม่ต้องแปลกใจหาก สี จิ้นผิง ของจีนก็คงจะกำลังเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนอย่างใจจดใจจ่อเหมือนกัน
ถ้าปูตินสามารถเข้าไปในยูเครนได้โดยไม่มีการต่อต้าน นั่นย่อมทำให้ผู้นำปักกิ่งเห็นว่าจีนสามารถยึดไต้หวันได้เช่นกัน
2 ปีที่ผ่านมาจีนได้แสดงแสนยานุภาพทางทหารให้ไต้หวันได้เกิดความยำเกรงมาตลอด
เมื่อเดือนที่แล้ว จีนส่งเครื่องบินรบ 39 ลำไปยังเขตน่านฟ้าป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน
นั่นเป็นจำนวนเครื่องบินรบของปักกิ่งที่ลาดตระเวนใกล้เกาะไต้หวันมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมของปีที่แล้ว
ไต้หวันมองสถานการณ์ยูเครนจากมุมมองของตัวเองด้วยความระแวดระวังเช่นกัน
แถลงการณ์จากทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อปลายเดือนที่แล้วบอกตอนหนึ่งว่า
“ไต้หวันเผชิญกับภัยคุกคามทางทหารและการข่มขู่จากจีนมาช้านาน และสามารถเข้าใจสถานการณ์ในยูเครนได้ เราสนับสนุนความพยายามทั้งหมดในการรักษาความมั่นคงในภูมิภาค และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งการเจรจาและพูดคุยอย่างสันติ แก้ไขข้อพิพาทอย่างมีเหตุผล และทำงานร่วมกันเพื่อรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค”
ปลายเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ของไต้หวัน สั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติตั้งคณะทำงานขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพื่อติดตามสถานการณ์ยูเครนอย่างใกล้ชิด
เพื่อประเมินผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของไต้หวันเอง
คนใกล้ชิดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ก็บอกเป็นนัยว่า พวกเขาเชื่อว่าจีนให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับวิกฤตในยูเครน เพราะมีความคล้ายคลึงกันในหลายๆ มิติ แม้จะไม่เหมือนกันในทุกๆ ด้านก็ตาม
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ไม่ได้ระบุชื่อจีนโดยตรง แต่ก็วิเคราะห์ว่าปักกิ่งคงจะเฝ้ามองสถานการณ์ยูเครนอย่างใกล้ชิดเช่นกัน
เพราะจีนต้องการวัดใจของวอชิงตันว่าจะเข้าไปช่วยยูเครนแค่ไหน
ถ้าอเมริกาอุ้มยูเครนเต็มที่ก็มีเหตุผลจะเชื่อว่าแนวโน้มของท่าทีสหรัฐฯ ต่อไต้หวันก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้นำญี่ปุ่นก็จับตาเรื่องนี้อย่างไม่ลดละเช่นกัน
ผู้นำรุ่นใหญ่ของพรรครัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ต่างได้เคยแสดงความเห็นว่า ถ้าไต้หวันถูกคุกคาม ญี่ปุ่นก็จะตกอยู่ในฐานะลำบากเช่นกัน
ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อปลายปีที่แล้ว อาเบะบอกว่าวิกฤตในยูเครนอาจมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินกลยุทธ์ของจีนที่มีต่อไต้หวัน
อาเบะถึงกับบอกว่า การที่รัสเซียส่งทหารมากกว่า 100,000 นาย ที่ชายแดนยูเครนนั้นเหมือนเป็น “แบบจำลอง” ที่อาจจะทำให้ปักกิ่งมีแนวโน้มจะเลียนแบบได้
เขาตั้งประเด็นที่น่าสนใจมากว่า ถ้าประชาคมโลกไม่สามารถยับยั้งการที่รัสเซียรุกรานเพื่อนบ้านได้ “เราก็ต้องตั้งคำถามว่าในกรณีที่ละม้ายกันเช่นนี้ จีนจะมีท่าทีอย่างไร”
ดังนั้นประเทศไทยก็ต้องเกาะติดสถานการณ์ในยูเครนเพื่อประเมินว่าเรื่องราวทำนองเดียวกันจะระเบิดขึ้นในเอเชียได้หรือไม่
ไม่ใช่เรื่องไกลเกินจินตนาการเลยทีเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ