ผมนั่งเฝ้าเกาะติดความเคลื่อนไหวตรงชายแดนยูเครน-รัสเซียตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประเมินว่าจะเกิดสงครามหรือไม่ และใครจะเป็นคนเริ่มก่อน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศค่ำวันศุกร์ว่าข่าวกรองสหรัฐฯ ยืนยันว่าประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ “ตัดสินใจที่จะบุกยูเครน” แล้ว
แต่รัสเซียออกข่าวปฏิเสธ
ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวที่ชายแดนยูเครนกับรัสเซียกลับมีความไม่ปกติหลายเรื่องที่ยกระดับความตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัด
ผู้นำสอง “สาธารณรัฐ” แห่ง Luhansk และ Donetsk (รวมกันเรียกว่าแคว้น Donbas) ที่ประกาศแยกตัวออกจากยูเครน ประกาศระดมทหารสำรองให้เตรียมพร้อมสำหรับสู้รบกับทหารยูเครนที่กำลังเตรียมบุกมาปราบปรามพวกเขา
แต่รัฐบาลยูเครนก็ปฏิเสธข่าวนี้เหมือนกัน
ก่อนหน้านั้นเพียงวันเดียว ผู้นำของสองรัฐนี้ประกาศว่าจะอพยพประชาชนพลเรือนหลายแสนคนข้ามไปรัสเซีย เพราะเกิดความไม่แน่ใจในสถานการณ์
เท่ากับเป็นเพิ่มดีกรีแห่งความร้อนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
เพราะเกิดการปะทะกันระหว่างทหารของฝ่ายแยกดินแดนกับทหารยูเครนมาก่อน
ระเบิดไปลงที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่ฝ่ายทหารยูเครนอ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายกบฏ
ตลอดวันศุกร์และวันเสาร์ มีข่าวจากทั้งสองรัฐแยกตัวนี้ว่ามีเสียงระเบิดเป็นระยะๆ ที่มีผลกระทบต่อบางส่วนของท่อส่งก๊าซและสถานีขนส่งน้ำมัน
เอาแน่ไม่ได้ว่าเป็นฝีมือใคร
แต่ที่แน่ ๆ คือเป็นการจงใจทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายใดก็ตาม เพื่อนำไปสู่สถานการณ์บางประการ
ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมของนายไบเดน อ้างกองกำลังรัสเซียเริ่ม "คลายเกลียวและเคลื่อนเข้าใกล้" พรมแดนติดกับยูเครนมากขึ้น
อีกด้านหนึ่งที่มิวนิกของเยอรมนี รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส ของสหรัฐฯ บอกที่ประชุมด้านความมั่นคงว่า หากรัสเซียบุกยูเครน สหรัฐฯ และพันธมิตรจะใช้มาตรการคว่ำบาตรที่มี "ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญและเป็นประวัติการณ์"
โดยมุ่งเป้าไปที่สถาบันการเงินและอุตสาหกรรมหลัก ตลอดจนบรรดาผู้ช่วยเหลือและสนับสนุนการบุกรุกครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ในกรณีของการบุกรุก อังกฤษจะ "คลี่ตุ๊กตา Matryoshka" ของรัสเซียออกมาให้ได้เห็นกันทั่ว
หมายถึงการล้วงเจาะลึกลงไปถึงก้นบึ้งของเศรษฐกิจรัสเซีย และหาวิธีการที่จะทำให้ธุรกิจรัสเซียไม่อาจจะระดมทุนในลอนดอนได้
นายกฯ อังกฤษได้พูดคุยกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนที่เมืองมิวนิก ซึ่งกำลังเดินทางไปประชุมเรื่องความมั่นคงตามคำแนะนำของประธานาธิบดีไบเดน
ไบเดนได้เตือนผู้นำยูเครนว่าไม่ควรออกนอกประเทศในช่วงนี้ แต่ก็ไม่เกิดผลอะไร
ผู้นำสหรัฐฯ บอกว่าอาจไม่ใช่ "ทางเลือกที่ฉลาด" สำหรับผู้นำยูเครนที่จะออกนอกประเทศในจังหวะนี้ เพราะกลัวว่ารัสเซียจะถือโอกาสนี้สร้างความปั่นป่วนเมื่อประเทศไร้หัวที่จะบริหารวิกฤต
ข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่ามีกองกำลังรัสเซีย 169,000-190,000 คน ที่ระดมพลตามแนวชายแดนของยูเครน
ตัวเลขนี้รวมถึงนักรบติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสก์และลูฮานสก์ด้วย
ปูตินทำหน้าที่กำกับดูแลการซ้อมรบครั้งสำคัญของกองกำลังขีปนาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียจากมอสโกเมื่อวันเสาร์
เขาบอกว่าสถานการณ์ในยูเครนตะวันออก “กำลังเลวร้าย” ลง
และยังคงยินดีที่จะหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์กับผู้นำชาวตะวันตก
แต่ปูตินกล่าวหาว่ารัฐบาลตะวันตกเพิกเฉยต่อ “ความกังวลด้านความปลอดภัยของรัสเซีย”
นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ และนาโตไม่ยอมเงื่อนไขของปูตินว่าจะต้องไม่พยายามดึงยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต
ยูเครนเคยเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโซเวียตที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับรัสเซีย
ทุกวันนี้ ยูเครนไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโตหรือสหภาพยุโรป แต่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งสองกลุ่มจนปูตินเกิดความไม่ไว้วางใจอย่างสูง
เชื่อกันว่าประชากรประมาณ 3.5 ล้านคนอาศัยอยู่ในดินแดนกบฏทั้งสองแห่งนี้
สอง “รัฐ” นี้ขอแยกตัวตั้งแต่ปี 2014 หลังจากที่รัฐบาลที่สนับสนุนรัสเซียของยูเครนถูกโค่นล้ม
สื่อรัสเซียบอกว่าตั้งแต่นั้นมา อย่างน้อย 720,000 คนในแคว้นนี้ได้สัญชาติรัสเซียแล้ว
พลเรือนจำนวนหนึ่งถูกอพยพออกจากดินแดนกบฏไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างรัสเซีย
อย่างน้อย 6,500 คนมาจากโดเนตสก์
สำนักข่าว Interfax ของรัสเซียรายงานว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนในโดเนตสก์แจ้งว่ามีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจำนวนหนึ่งจากการก่อวินาศกรรมโดยกองกำลังยูเครน
เหตุระเบิด 2 ครั้งในชั่วข้ามคืนเกิดขึ้น ณ บางจุดของท่อแก๊สในเมืองลู่ฮานสก์
ฝ่ายแยกดินแดนอ้างว่านั่นเป็นฝีมือของผู้ก่อวินาศกรรมชาวยูเครน
เมื่อบวกเอามติของรัฐสภารัสเซียกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาให้รัฐบาลปูตินรับรองความชอบธรรมของสองรัฐแยกดินแดนนี้แล้ว ก็พอจะเห็นการปะติดปะต่อของสถานการณ์
ไม่ใครก็ใครย่อมจะต้องเห็นโอกาสของความยุ่งเหยิงนี้ ฉวยจังหวะทำในสิ่งที่รอคอยมายาวนาน
ไม่ว่าเราจะเชื่อไบเดนหรือปูติน, การปะทะย่อย ๆ ทั้งหลายดูเหมือนจะกำลังก่อตัวเป็นสงครามใหญ่ในไม่ช้านี้
ถ้าแนวทางการทูตไม่ตอบโจทย์ของทั้งสองฝ่าย การเผชิญหน้าทางทหารที่น่าเกรงขามที่สุดตั้งแต่การสิ้นสุดของ “สงครามเย็น” ก็กำลังจะปรากฏให้เห็นอย่างน่าสะพรึงกลัว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ