ตอนที่เรารวบรวมความกล้าและคว้าร่มเดินออกจากที่พัก ฝนก็หยุดตกพอดี เราตัดสินใจเดินไปทางป้อมจาฟฟ์นา วานนี้ผมเข้าไปชมข้างในมาแล้ว ซูเฟียน-เพื่อนร่วมห้องดอร์มจากจอร์แดนยังไม่เคยเข้าไป วันนี้เขาก็ยืนกรานจะไม่เข้า เพราะไม่ต้องการจ่ายค่าตั๋ว 812 รูปี แต่เรายังคงมุ่งหน้าไปทางป้อมจาฟฟ์นาอยู่ดี เพียงเพราะไม่อยากอุดอู้ในห้องพัก ด้วยละอายใจที่วัยรุ่นสาวเยอรมันกล้าเดินออกไปลุยฝนจนกลับมาโม้ว่าผจญมาตั้งหลายที่
ระหว่างทางซูเฟียนเห็นรถเข็นขายขนมเขียนข้อความติดไว้ข้างรถเป็นภาษาอาหรับ จอร์แดนพูดภาษาตระกูลนี้ เขาก็เข้าไปคุยกับเจ้าของรถเข็น ปรากฏว่าเจ้าของรถเข็นคุยภาษาอาหรับได้นิดหน่อยเท่านั้น ที่ติดไว้เพราะต้องการดึงดูดความสนใจจากลูกค้าตะวันออกกลาง ซึ่งก็ได้ผล โดยเฉพาะในกรณีของซูเฟียน เพียงแต่เขาไม่สนใจซื้อขนมเท่านั้นเอง
ซูเฟียนเดินนำหน้าผู้เขียนมุ่งหน้าป้อมจาฟฟ์นา
ซูเฟียนแวะซื้อบุหรี่จากร้าน Wine Store ราคาซองละ 1,400 รูปี หรือประมาณ 230 บาท เขาบอกว่าเดือนที่แล้วในศรีลังกาไม่มีบุหรี่ขาย พอกลับมามีขายราคาก็พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ผมเลยเล่าเรื่องจ่ายค่าบุหรี่ให้หนุ่มทมิฬในบาร์เมื่อคืนไป 4,000 รูปีให้เขาฟัง
ก่อนออกจากร้าน Wine Store ผมเล็งเห็นบรรยากาศริมทะเล จึงซื้อเบียร์ Lion Lager 1 กระป๋องยาว ซูเฟียนก็เอาด้วย เรายังไม่ดื่มในทันที ซูเฟียนขอถุง 1 ใบ ใส่เบียร์ทั้ง 2 กระป๋อง เดินนำหน้าต่อไป
เขาเล่าว่า ในกรุงอัมมานมีร้านเบียร์และไก่ทอดอยู่ร้านหนึ่งเป็นที่นิยมกันมาก ชื่อร้าน Buffalo ขายเฉพาะเบียร์และไก่ทอดเท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น เขาเป็นหนึ่งในแขกประจำของร้าน
ภาพถ่ายทางอากาศของป้อมจาฟฟ์นาภายหลังสงครามกลางเมือง
ทางช่วงใกล้ถึงป้อมเป็นถนนโล่ง มีจักรยานของชายชาวทมิฬปั่นผ่านมา ขากเสลด ถ่มลงพื้นเมื่อปั่นใกล้ถึงพวกเรา ซูเฟียนบอกว่าเขาเจอเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งในเมืองจาฟฟ์นา “หรือชาวทมิฬจะไม่ชอบชาวต่างชาติ ขากเสลดเพื่อขับไล่อัปมงคล?” ผมแลกเปลี่ยนกลับไปว่า “เพิ่งเคยเจอเดี๋ยวนี้นี่แหละ”
เรื่องนี้ติดค้างในใจจนทำให้ผมกลับไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่พบ และที่คิดว่าจะถามชาวสิงหลเมื่อมีโอกาสก็กลับลืมเสียสนิท
ซูเฟียน อายุ 33 ปี เป็นนักบริหารจัดการน้ำ เคยทำงานกับ USAID เอ็นจีโอจากสหรัฐ พอมีการระบาดของโควิด-19 โครงการในจอร์แดนถูกยกเลิก เขาก็เลยตกงาน แต่ผมคาดว่าเขามีเงินติดตัวมาพอสมควร เดินทางมาศรีลังกาตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนก่อนและยังไม่คิดที่จะกลับจอร์แดน ตอนนี้กำลังปลุกปั้นช่องยูทูบของตัวเองโดยการทำคลิปท่องเที่ยว
หอระฆังของป้อมจาฟฟ์นา แต่บางคนสันนิษฐานว่าเป็นตะแลงแกงแขวนคอนักโทษยุคดัตช์
ผมบอกเขาว่าถ้าอยากทำเรื่องป้อมจาฟฟ์นาก็ต้องเข้าไปในป้อม ผมจะซื้อตั๋วใหม่และเข้าไปเป็นเพื่อน เขายืนยันว่าตั๋วแพงไป และข้างในก็ไม่ได้มีอะไรที่คุ้มค่า 812 รูปี เมื่อวานนี้เขาถ่ายจากด้านนอกของป้อมเรียบร้อยแล้ว
ความจริงป้อมจาฟฟ์นาเป็นโบราณสถานที่น่าศึกษามาก ดังที่ผมได้กล่าวไว้เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 พื้นที่ชายฝั่งของเกาะศรีลังกาถูกยึดครองโดยโปรตุเกส ก่อนจะค่อยๆ ได้ดินแดนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงคาบสมุทรจาฟฟ์นา และสร้างป้อมปราการแห่งเมืองจาฟฟ์นานี้ขึ้นมาในปี ค.ศ.1618
ตอนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 โปรตุเกสสูญเสียดินแดนในศรีลังกาให้กับ “ดัตช์” คู่อริในสงคราม 80 ปีของทางฝั่งยุโรป กองทัพของบริษัท Dutch East India เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบของป้อมจาก 4 เหลี่ยม เป็นรูป 5 เหลี่ยม ทำการขยายขนาด เสริมหอรบพิเศษตรงปลายแฉกทั้งห้า ที่สำคัญพวกดัตช์ได้สร้างโบสถ์ขึ้นด้วยเมื่อปี ค.ศ.1706 ชื่อว่า Kruys Kerk แล้วปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 อังกฤษเข้ามายึดศรีลังกาต่อ และยึดได้ทั้งเกาะอย่างเบ็ดเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1815 เวลานั้นประชากรของศรีลังกามีประมาณ 3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นชาวสิงหล มีชาวทมิฬอยู่ประมาณ 3 แสนคน กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมและที่พวกล่าอาณานิคมนำเข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนการเข้ามาของโปรตุเกสนั้น คาบสมุทรจาฟฟ์นา รวมถึงพื้นที่เกือบทั้งหมดของจังหวัดนอร์เทิร์นในปัจจุบันเป็นดินแดนของราชอาณาจักรอารยจักรวารตี (ค.ศ.1215-1624 ) กษัตริย์มาจากแคว้นกลิงคะในอนุทวีปอินเดีย ช่วงแรกเป็นประเทศราชของจักรวรรดิปัณฑยะแห่งมาดูไร (ทางใต้ของอินเดีย) ต่อมาปัณฑยะเสื่อมอำนาจลง อารยจักรวารตีจึงมีเอกราชในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนถูกอาณาจักรโกฏเฏ (หนึ่งในอาณาจักรของศรีลังกายุคเปลี่ยนผ่านระหว่างโปลอนนารุวะและแคนดี) ผนวกเข้าด้วยกันในราวปี ค.ศ.1450 แต่ก็มีอิสรภาพในการปกครองตนเองพอสมควร และเป็นช่วงที่วรรณกรรมทมิฬเฟื่องฟูในอาณาจักรจาฟฟ์นา รวมถึงมีการสร้างวัดฮินดูขึ้นหลายวัด เมืองหลวงชื่อว่า “นัลลูร์” ปัจจุบันมีสถานะเป็นเขตหนึ่งของเมืองจาฟฟ์นา
ความจริงแล้วชาวทมิฬจากอินเดียตอนใต้เริ่มข้ามมายังเกาะลังกาในราวศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล และการอพยพเข้ามาครั้งใหญ่เกิดขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 7-11 ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางเหนือของเกาะ
ป้อมจาฟฟ์นาตั้งอยู่ริมทะเล บางคนเรียกว่าลากูน เพราะมีเกาะขวางอยู่ด้านหน้า
ศรีลังกาได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.1948 ทว่ายังคงอยู่ภายใต้การปกครองสูงสุดของอังกฤษ ใช้ชื่อว่าประเทศซีลอนในเครือจักรภพจนถึงปี ค.ศ.1972 จึงได้เป็นสาธารณรัฐ เท่ากับอังกฤษมีอำนาจและอิทธิพลเหนือศรีลังกาอยู่นานกว่า 1 ศตวรรษครึ่ง
อังกฤษนำชาวทมิฬจากอินเดีย อีกอาณานิคมของพวกเขาเข้ามาทำงานในไร่ชา กาแฟ และยางพาราเป็นจำนวนมาก ตั้งโรงเรียนขึ้นหลายแห่งทางภาคเหนือของเกาะ ซึ่งชาวทมิฬเป็นประชากรหลัก และมักมอบตำแหน่งงานราชการสำคัญๆ ให้กับชาวทมิฬตามสูตรการแบ่งแยกและปกครอง ซึ่งพอหมดยุคอาณานิคม ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติก็เกิดขึ้นตามมา
ประเทศที่ชาติยุโรปเข้าไปยึดครองหากประเทศใดมีประชากรหลักมากกว่า 1 เชื้อชาติ เมื่อได้รับเอกราชแล้วก็จะเกิดปัญหาในการจัดสรรอำนาจขึ้นแทบทุกประเทศ และมักลงเอยด้วยสงครามกลางเมือง
ศรีลังกาเมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมมาจากชาวสิงหลเป็นหลัก เพราะพวกเขาเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ มีการผ่านกฎหมายหลายฉบับคืนอำนาจให้ชาวสิงหล และกีดกันชาวทมิฬไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะต่อชาวทมิฬที่อังกฤษนำเข้ามาจากอินเดีย กำหนดภาษาสิงหลเป็นภาษาประจำชาติ ผลักให้ชาวทมิฬออกจากงานราชการ ไม่ให้สัญชาติกับชาวทมิฬจากอินเดียที่มีถึงประมาณ 7 แสนคน นำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ
เศษซากโบราณสถานภายในป้อมจาฟฟ์นาที่เกิดจากสงครามกลางเมือง
ขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1975 หัวหน้าขบวนการคือ “เวฬุพิลัย ประภาการัน” มุ่งเป็นรัฐอิสระของชาวทมิฬศรีลังกา หรือ “ทมิฬอีแลม” ที่มีอยู่ประมาณ 3 ล้านคนในเวลานั้น ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของศรีลังกาทางเหนือ และงานแรกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬคือการสังหาร “อัลเฟรด ธุไรอัปปะ” นายกเทศมนตรีเมืองจาฟฟ์นา ผู้ที่พวกพยัคฆ์ทมิฬมองว่าให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอันถือเป็นการทรยศต่อชาวทมิฬ
สถานการณ์ตึงเครียดขึ้นทุกที จนวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.1981 หอสมุดจาฟฟ์นาที่ขณะนั้นเป็นหนึ่งในหอสมุดที่ใหญ่สุดในทวีปเอเชีย มีหนังสือและเอกสารเก่าแก่มากกว่า 97,000 เล่มถูกเผาวอดโดยผู้ก่อจลาจลชาวสิงหลอันมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหนุนหลัง จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1983 ได้เกิดการจลาจลในกรุงโคลัมโบและอีกหลายเมือง กบฏพยัคฆ์ทมิฬสังหารทหาร 13 นาย ฝ่ายชาวสิงหลเอาคืนด้วยการก่อความรุนแรงต่อเพื่อนบ้านที่เป็นชาวทมิฬทั่วประเทศ
มีความพยายามเจรจาหย่าศึกจากชาติเป็นกลางหลายครั้ง โดยเฉพาะอินเดียและนอร์เวย์ รวมถึงองค์การสหประชาชาติ การหยุดยิงเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ 3 หรือ 4 ครั้ง และสงครามก็กลับมาเริ่มใหม่ทุกครั้ง รวมแล้วกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬประกาศสงครามถึง 4 ครั้ง (สงครามอีแลมครั้งที่ 1, 2, 3 และ 4) โดยพวกเขามีทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้รับทุนสนับสนุนจากชาวทมิฬโพ้นทะเล และเงินจากธุรกิจผิดกฎหมาย
ระหว่างการสู้รบ กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬสังหารประธานาธิบดีอินเดียไป 1 คน ประธานาธิบดีศรีลังกา 1 คน และประธานาธิบดีศรีลังกาสูญเสียดวงตาอีก 1 คน ว่ากันว่าพวกเขาคือผู้ให้กำเนิดการใช้ระเบิดพลีชีพ จนกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์เกิดความประทับใจและนำไปใช้ต่อ นอกจากนี้ยังมีการพกขวดเล็กๆ ห้อยคอ ภายในบรรจุสารไซยาไนด์ เมื่อจวนตัวจะถูกฝ่ายรัฐบาลจับได้ก็จะรีบกลืนฆ่าตัวตาย นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์การยุทธ์ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ
สำหรับเมืองจาฟฟ์นาแรกเริ่มกองกำลังของฝ่ายรัฐบาลใช้เป็นฐานในการรบก่อน แต่ต่อมาถูกนักรบทมิฬหลายกลุ่มรุมถล่ม จนในปี ค.ศ.1986 ฝ่ายรัฐบาลต้องถอนกำลังออกไปจากเมืองจาฟฟ์นา และทั้งเมืองก็อยู่ภายใต้การควบคุมของขบวนการพยัคฆ์ทมิฬอีแลม กว่ากองทัพศรีลังกาจะเข้ายึดได้คืนก็ต้องใช้เวลาอีกเกือบ 10 ปี จาก “ปฏิบัติการแสงสุริยา” หรือ Operation Riviresa เมื่อปลาย ค.ศ.1995
การรบครั้งนั้นฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังทหารบกมากถึง 20,000 นาย และยังมีการสนับสนุนจากทั้งกองทัพอากาศและกองทัพเรือ ฝ่ายรัฐบาลรุกคืบได้ทีละนิด บางช่วงใช้เวลา 2 เดือน แต่เคลื่อนไปข้างหน้าได้เพียง 20 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามการปะทะในช่วงสุดท้ายกินเวลา 50 วัน นักรบกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬเข้าตาจน ปล้นสะดมทั่วทั้งเมือง ไม่เว้นแม้แต่อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์จากวิทยาลัยพยาบาลจาฟฟ์นา แล้วหลบหนีลงเรือกลางดึกของคืนวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1995 วันต่อมากองทัพศรีลังกายึดจาฟฟ์นาได้ รวมถึงป้อมปราการจาฟฟ์นาที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งการกำชัยในสมรภูมิ
กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬจำนวหนึ่งหลบหนีเข้าไปอยู่ในเขตป่าชื่อ “แวนนี” ตั้งอยู่ระหว่างเมืองอนุราธปุระและจาฟฟ์นา ในเดือนเมษายน ค.ศ.2000 พวกเขายึด Elephant Pass ซึ่งเป็นจุดคอขวดเชื่อมระหว่างคาบสมุทรจาฟฟ์นากับส่วนที่เหลือของศรีลังกาได้ แต่ฝ่ายรัฐบาลยังไม่สูญเสียจาฟฟ์นา แม้ว่าจะถูกตัดเส้นทางการขนส่งกำลังและยุทโธปกรณ์ จนต้องหันไปพึ่งการขนส่งทางทะเลเพียงอย่างเดียว
ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ค.ศ.2006 ซึ่งเป็นช่วงต้นของสงครามอีแลมครั้งที่ 4 อันเป็นครั้งสุดท้าย ฝ่ายกบฏพยายามบุกจาฟฟ์นาอีกหน ทั้งสองฝ่ายสูญเสียกำลังรบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่เสียชีวิตมากสุดในรอบ 4 ปีหลัง แต่สุดท้ายการรบครั้งนี้มีแต่คนตาย ไม่มีฝ่ายใดได้เขตแดนเพิ่ม
หลังเหตุการณ์โจมตีอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในสหรัฐ เมื่อ 11 กันยายน ค.ศ.2001 ทำให้สหรัฐประกาศทำสงครามล้างแค้นผู้ก่อการร้าย ส่งผลให้การระดมทุนในต่างประเทศของขบวนการพยัคฆ์ทมิฬอีแลมประสบปัญหา เพราะสหรัฐได้ตีตราว่ากบฏพยัคฆ์ทมิฬเป็นหนึ่งในผู้ก่อการร้ายระดับโลก แถมยังให้เงินสนับสนุนแก่รัฐบาลศรีลังกาโดยตรง เช่นเดียวกับสหภาพยุโรปก็ประกาศให้พยัคฆ์ทมิฬเป็นกลุ่มผู้ก่อการร้ายเช่นกัน เนื่องจากก่อเหตุสะเทือนขวัญต่อพลเรือนและเจ้าหน้าที่ที่ไร้อาวุธหลายครั้ง
ขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ พวกเขาเปลี่ยนกลยุทธ์มาเป็นการโจมตีพลเรือนคราวละมากๆ นั่นคือการวางระเบิดในระบบขนส่งสาธารณะ เน้นหนักที่กรุงโคลัมโบ รวมถึงมีการใช้สไนเปอร์ลอบสังหารรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นชาวทมิฬ แต่มักวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม
หลังจากการเจรจาสันติภาพที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนตุลาคม ค.ศ.2006 ไม่บรรลุผล รัฐบาลก็เริ่มปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกและทางเหนือ เป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งรุนแรงที่สุด บางหมู่บ้านไม่เหลือประชาชนรอดชีวิตแม้แต่คนเดียว
วันที่ 16 พฤษภาคม 2009 รัฐบาลศรีลังกาโดยประธานาธิบดี “มหินทะ ราชปักษา” ประกาศชัยชนะเหนือฝ่ายแบ่งแยกดินแดน วันต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬยอมรับความพ่ายแพ้ และอีก 1 วันถัดจากนั้น “เวฬุพิลัย ประภาการัน” ผู้นำพยัคฆ์ทมิฬถูกพบเป็นศพในป่าชายเลนแห่งหนึ่ง วันที่ 19 ประธานาธิบดีศรีลังกาประกาศต่อสภาว่าสงครามกลางเมืองที่กินเวลา 26 ปี ได้ปิดฉากลงแล้ว
สำหรับเมืองจาฟฟ์นา จากเคยมีพลเมืองประมาณ 120,000 คนก่อนเกิดสงคราม มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ แต่เมื่อสงครามจบลง การสำรวจสำมะโนประชากรปี ค.ศ.2010 กลับเหลือไม่ถึง 84,000 คน หล่นไปอยู่อันดับที่ 14 ของประเทศ ผู้คนจำนวนมากไม่ต้องการกลับมาใช้ชีวิตในจาฟฟ์นาอีกแล้ว
ส่วนป้อมจาฟฟ์นาที่โดนระเบิดเสียหายจนบรรดาอาคารภายในป้อม โดยเฉพาะส่วนที่เป็นบ้านพัก (Queen Palace) และโบสถ์ดัตช์ (Kruys Kerk) ย่อยยับเหลือแต่ซาก ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งคงใช้เวลาอีกนานหลายปี
ตอนนี้แม้ยังไม่ถึง 6 โมงเย็นก็จริง แต่ฟ้ากำลังมืดลงเพราะเมฆยังอ้อยอิ่งหลังฝนหยุด เราข้ามถนนไปเดินบนพื้นคอนกรีตเลียบฝั่งทะเล ซูเฟียนไม่เข้าในป้อมก็ดีไปอย่าง ไม่เช่นนั้นเบียร์ก็จะหายเย็นตอนที่เรากลับออกมา เขายื่นกระป๋องหนึ่งให้ผม อีกกระป๋องสำหรับตัวเอง
เสียง “กล็อก” เปิดฝา ดังขึ้นเกือบพร้อมๆ กัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้
เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ
เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!
ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก
ช่วงเค้าลางคดีสำคัญของนายกรัฐมนตรีก่อตัวในดวงเมือง
ขอพักการทำนายเค้าโครงชีวิตคนปี 2568 ไว้ชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวที่รออยู่คือท่านที่ลัคนาสถิตราศีตุล
ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ
ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร
จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี
ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย