ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในเดือน ม.ค.2565 ให้ปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และ 3 เดือน ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความกังวลต่อจำนวนการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน การยกเลิกเทสต์แอนด์โก ผลกระทบจากราคาน้ำมัน วัตถุดิบและราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อให้ปรับตัวสูงและมีโอกาสที่เงินเฟ้อในครึ่งปีแรกจะสูงถึง 3% ขณะที่การเมืองที่เริ่มมีเสถียรภาพลดลง ล้วนเป็นแรงกดดันให้ประชาชนต่างระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
โดย “ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” ระบุว่า ความเชื่อมั่นในเดือน ม.ค.2565 ที่ลดลงอีกครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นบั่นทอนความเชื่อมั่นให้ลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ด้วย โดยหากไม่มีปัจจัยรุนแรงเพิ่มอีก สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.5-4.5%
เช่นเดียวกับ “กระทรวงการคลัง” ที่ปีนี้ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3.5-4.5% แม้ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม โดยหวังว่าหากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมมือกันในการลดการแพร่ระบาด ก็จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจได้
โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญยังมาจาก “ภาคการส่งออก” ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนของภาคเอกชนและภาคการผลิตให้ขยายตัวได้ตามไปด้วย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวนั้นคาดว่าปีนี้จะเริ่มทยอยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีกับแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแรงงานและร้านอาหาร รวมทั้งยังมีเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐอีกกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ผ่านโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เตรียมจะขับเคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ระบุว่า รัฐบาลมีความตั้งใจในการดูแลเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่ผ่านมามีการพิจารณาอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้การเปิดประเทศ เปิดระบบเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าควบคู่ไปกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญแค่การท่องเที่ยวจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน ที่ผ่านมามีการออกมาตรการเสริมผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ควบคู่กับมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้ช่วยให้การบริโภคในประเทศกลับมา 100% แต่ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง
ขณะที่ ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 คงหนีไม่พ้นเรื่อง “โควิด-19” โดยเฉพาะบทบาทของสายพันธุ์โอมิครอน ที่แม้ว่าหลายฝ่ายจะประเมินว่าอาจจะไม่รุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลตา แต่ก็ย่อมส่งผลกระทบกับภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่อง “การขาดแคลนแรงงาน” รวมถึง “ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น” จากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ด้านภาคเอกชน อย่าง “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)” ยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ไว้ในกรอบ 3-4.5% ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อนั้น มองว่าช่วงครึ่งปีแรกอาจจะเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 3% อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงกว่าที่ประมาณการได้ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีโอกาสส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ หากสถานการณ์ลุกลามจนส่งผลให้สหรัฐ อังกฤษ และยุโรปใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ก็จะส่งผลกดดันให้การค้าโลก รวมถึงการค้าระหว่างไทยและรัสเซียได้รับผลกระทบไปด้วย
อย่างไรก็ดี ปี 2565 ยังเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับภาคเศรษฐกิจของไทย ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายตัวที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการเติบโต โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสถานการณ์เงินเฟ้อสูงจากราคาอาหารสดและราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น แม้หลายฝ่ายจะประเมินว่าเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวและจะทยอยคลี่คลายไปในที่สุด แต่ก็เป็นประเด็นที่มีผลต่อความเชื่อมั่นและความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเวลาที่กดดันในขณะนี้.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม
เคลียร์ปมสถานีอยุธยา
เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2
แจกเงินหวังคะแนน
เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ
เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด
คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น
ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!
ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research