หมอตำรวจ

ตำรวจเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการปฏิบัติหน้าที่สืบสวนสอบสวน  ป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน

ตำรวจยังมีหน่วยงานที่สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่หลักดังกล่าวอีกหลายหน่วยงาน และหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญหน่วยงานหนึ่งคือ แพทย์ตำรวจ

ปัจจุบันแพทย์ตำรวจเป็นหน่วยงานเรียกว่า สำนักงานแพทย์ใหญ่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถานที่ทำการตั้งอยู่ที่บริเวณทิศตะวันออกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ริมถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

มีนายแพทย์ใหญ่ ข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นแพทย์ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด หน่วยงานในสังกัดที่สำคัญคือ โรงพยาบาลตำรวจ

โรงพยาบาลตำรวจ เปิดให้บริการรักษาพยาบาลประชาชนทั่วไปตำรวจและครอบครัว มีแพทย์ตำรวจจำนวนกว่า 250 นาย พยาบาลตำรวจและบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นสหวิชาชีพ จำนวนกว่า 1,200 คน ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย มีปริมาณเตียงรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 800 เตียง

กิจการการแพทย์ตำรวจ มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี

ยุคเริ่มต้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 ได้มีพระบรมราชานุญาตให้สร้างโรงพยาบาลสำหรับรักษาหญิงโสเภณี เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่เกิดกับประชาชน

ชาวบ้านเรียกว่า โรงพยาบาลวัดโคก ตั้งอยู่หลังวัดพลับพลาไชย มีเตียงผู้ป่วย 19 เตียง สังกัดกรมสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล แต่ยังไม่ได้เปิดบริการ เพราะไม่มีงบประมาณ

กิจการแพทย์ กรมพลตระเวน จึงได้ขอเช่าเป็นโรงพยาบาลตำรวจสำหรับพลตระเวน เพื่อรักษาตำรวจที่เจ็บป่วย พิสูจน์บาดแผลและชันสูตรพลิกศพ เพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่างๆ มีแพทย์เป็นชาวต่างชาติและชาวไทยหลายท่าน

ปี พ.ศ.2458 โรงพยาบาลวัดโคกถูกเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลกลาง และโอนย้ายไปสังกัดกองสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย

กรมตำรวจจึงได้จัดตั้งสถานพยาบาลใหม่เรียกว่า กองแพทย์กลาง กรมตำรวจ  ตั้งอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง

ปี พ.ศ.2477-2491 กองแพทย์กลาง กรมตำรวจ มีการเปลี่ยนแปลงการจัดหน่วยงานเป็นระดับแผนก (ลดลง) และก็ยกฐานะกลับมาเป็นกองแพทย์

ยุคบุกเบิก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2495  พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ในขณะนั้น ได้ให้ความสนใจและพัฒนากิจการแพทย์ตำรวจอย่างจริงจัง

ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลตำรวจ โดยให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งของกรมตำรวจ นับเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลตำรวจในปัจจุบัน

ก่อสร้างอาคารหลังแรก อาคารชาติตระการโกศล (ราชทินนามของ พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล) อดีตอธิบดีตำรวจ ผู้ริเริ่มสร้างโรงพยาบาลตำรวจ และอาคารโอวบุ้นโฮ้ว ซึ่งได้มาจากเงินบริจาค มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้จำนวน 50 เตียง

โรงพยาบาลตำรวจได้รับความนิยมมากขึ้นตามลำดับ ประชาชนมาใช้บริการเข้ารับการรักษาพยาบาลจำนวนมาก จึงได้มีการก่อสร้างอาคารอีกหลายอาคาร เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น

ยุคปัจจุบัน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 โรงพยาบาลตำรวจได้ยกฐานะหน่วยงานจากระดับกองบังคับการ ขึ้นเป็นกองบัญชาการ มีนายแพทย์ใหญ่ (เทียบเท่าผู้บัญชาการ) เป็นผู้บังคับบัญชา ปรับโครงสร้างขยายหน่วยงานมากขึ้น

แบ่งส่วนราชการภายในเป็น 4 กองบังคับการ คือ กองบังคับการอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ, วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ, สถาบันนิติเวช และงานโรงพยาบาลดารารัศมี

เพื่อรองรับบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพต่างๆ มิฉะนั้นจะประสบปัญหาสมองไหล ขอลาออก หรือย้ายออกไปหน่วยงานอื่น ทำให้เกิดความเสียหายได้

โรงพยาบาลตำรวจเจริญเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว เปิดคลินิกทุกโรคหลัก มีการก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มขึ้นจาก 200 เตียง เป็น 400 เตียง จัดตั้งวิทยาลัยพยาบาล

จัดตั้งโรงพยาบาลดารารัศมี เป็นโรงพยาบาลตำรวจภาค เพื่อเป็นศูนย์ในภูมิภาค ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

พระองค์ยังได้มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซึ่งเป็นอาคารสูงหลังแรกของโรงพยาบาลตำรวจ (สูง14 ชั้น) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535

อาคารหลังนี้ เปิดบริการเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินจากอุบัติภัย ที่มีสถิติเพิ่มขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง (ประมาณ 2,000 รายต่อปี) ประกอบด้วยหอผู้ป่วย 308 เตียง ห้อง ICU หน่วยงานผู้ป่วยนอกครบบริบูรณ์ และมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าด้วย

ปี พ.ศ.2555 โรงพยาบาลตำรวจครบรอบ 60 ปี (นับแต่ตั้งโรงพยาบาลตำรวจ เมื่อ พ.ศ.2495) ในยุคสมัย พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ เป็นนายแพทย์ใหญ่ (ยศและตำแหน่งขณะนั้น)

คุณหมอจงเจตน์ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตร สาขาสูตินรีเวชวิทยา มหาบัณฑิตด้านบริหารธุรกิจ (MBA) ศศินทร์ เชี่ยวชาญการรักษาผู้มีบุตรยาก และการบริหารจัดการ

ผลงานทางด้านการแพทย์ที่สำคัญ  เป็นแพทย์ผู้ประสบความสำเร็จในการรักษาผู้มีบุตรยากโดยเทคนิคกิฟต์ (GIFT) และการรักษาผู้ชายที่เป็นหมันให้มีบุตรโดยใช้เทคโนโลยีเทเซ่/อิ๊กซี่ (TESE/ICSI)เป็นรายแรกของประเทศไทย

ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อาทิ นายกแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ รวมทั้งได้รับรางวัลบุคคลตัวอย่างแห่งปี 2553

คุณหมอจงเจตน์ เป็นผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์ ริเริ่ม พัฒนา ปรับปรุง วางรากฐานให้โรงพยาบาลตำรวจเจริญก้าวหน้าแบบกระโดดข้ามเป็นสถาบันทางการแพทย์ยุคใหม่

เป็นผู้มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในช่วงเวลาที่กล่าวได้ว่าเป็นยุคก้าวหน้าที่สุดยุคหนึ่งของโรงพยาบาลตำรวจ

คุณหมอจงเจตน์ เคยให้สัมภาษณ์ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ว่า

"ตั้งเป้าหมายจะทำ 2-3 เรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือการทำให้โรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน รวมทั้งตำรวจและครอบครัว เน้นทั้งเรื่องสาธารณสุข การรักษาโรค และป้องกันโรค

อีกเรื่องคือ ให้โรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงเรียนแพทย์ เหมือนจุฬาฯ ศิริราช รามาฯ จะได้ช่วยผลิตแพทย์ช่วยประเทศชาติได้อีกทาง โรงพยาบาลตำรวจก็จะมีการพัฒนาแพทย์เป็นหมอรักษาคนไข้และอาจารย์สอน ได้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม”

คุณหมอจงเจตน์ เป็นผู้รับผิดชอบ ดำเนินการก่อสร้างอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ (มภร.) ซึ่งเป็นอาคารบริการทางการแพทย์ (Medical Complex) สูง 20 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 70,000 ตารางเมตร

อาคารใหญ่ที่สุดของโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องในวาระเฉลิมฉลองโรงพยาบาลตำรวจครบรอบ 60 ปี เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ยุคแพทย์ตำรวจสมัยใหม่

อาคารหลังนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเฉพาะการก่อสร้างอาคารประมาณ 2,000 ล้านบาท คุณหมอจงเจตน์ได้ติดต่อประสานงานขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้เงินเพิ่มมาประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อตกแต่งภายในและจัดหาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ

จึงได้จัดทำโครงการสร้างพระนิรันตรายให้ประชาชนทั่วไปเช่าบริจาคบูชา หารายได้ให้มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ไว้ใช้ในอาคาร มภร.ต่อไป

คุณหมอจงเจตน์ได้เล่าว่า

"ภาพที่อยากให้คนมองเรา ต่อไปนี้โรงพยาบาลตำรวจต้องสวยงาม อบอุ่น มีคุณหมอตำรวจเก่งๆ มีเจ้าหน้าที่พยาบาล ที่ต้อนรับสู้ ยิ้มแย้มแจ่มใส

โรงพยาบาลตำรวจตั้งอยู่ในทำเลที่ดีที่สุดในประเทศไทย (สี่แยกราชประสงค์)ท่ามกลางห้างสรรพสินค้า มีแต่คนอยากได้

เมื่อก่อนนี้เราบอกให้คนมาสมัครหมอ เขาไม่ค่อยมากัน เดี๋ยวนี้แย่งกันสมัคร วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ คนเลือกอันดับ 1 มากกว่าคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ”

ปัจจุบัน โรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ให้บริการทางการแพทย์แบบองค์รวม ครบทุกสาขาทางการแพทย์ รักษาพยาบาลด้วยคุณภาพและมาตราฐาน ISO 9002 โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ให้บริการอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาบุคลากร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอาคารสถานที่ เพื่อรองรับการให้บริการปัจจุบัน และขยายขอบเขตการให้บริการอนาคต

การให้บริการรักษาพยาบาลครอบคลุมและครบวงจร อาทิ ศูนย์โรคหัวใจ หน่วยไตเทียมและการปลูกถ่ายไต หน่วย ICU ศัลยกรรมประสาท โครงการปลูกถ่ายอวัยวะ หน่วยโรคผิวหนัง หน่วยโรคต่อมไร้ท่อ คลินิกโรคเบาหวานที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถให้บริการสัปดาห์กว่า 500 ราย และเปิดศูนย์บำบัดผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศ

ในช่วง 60 ปี โรงพยาบาลตำรวจมีเรื่องราวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ครั้งสำคัญ ที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การรักษาพยาบาลของประเทศหลายประการ เช่น

First GIFT นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ เมื่อครั้งเป็นแพทย์ประจำบ้าน ได้ใช้เทคนิคทำ GIFT ให้กำเนิดเด็กคนแรก นับเป็นผลงานความสำเร็จทางวิชาการครั้งสำคัญของวงการแพทย์ไทย และสร้างชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลตำรวจในหมู่ผู้มีบุตรยากจนถึงทุกวันนี้

การปลูกไตนอกโรงเรียนแพทย์เป็นครั้งแรกของเมืองไทย เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2532 ทีมแพทย์หน่วยงานไต โรงพยาบาลตำรวจ สามารถปลูกถ่ายไตให้แก่คนไข้ได้สำเร็จ

ในปีนั้นได้ผ่าตัดเปลี่ยนไตให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นตำรวจ 3 นาย และประชาชน 1 ราย ทุกราย ไตใหม่ทำงานได้ดี ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

การส่องกล้องดึงนิ่วในท่อน้ำดี สำเร็จเป็นครั้งแรกของเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ.2526 หน่วยโรคทางเดินอาหาร โรงพยาบาลตำรวจได้ประสบความสำเร็จการรักษาการส่องกล้องดึงนิ่วในท่อน้ำดี ปรากฏเป็นทางการครั้งแรกของเมืองไทย

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้เป็นมาตรฐานและผลสำเร็จการรักษาใกล้เคียงกับรายงานของต่างประเทศ

ศูนย์ผ่าตัดสมองและไขสันหลังของโรงพยาบาลตำรวจ มีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือและวิทยาการที่ทันสมัย ได้รับการยอมรับในระดับแนวหน้าของประเทศ และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกด้านการผ่าตัดสมองใหญ่

การผ่าตัดมะเร็งสมองโดยใช้สารเรืองแสงนำทางเป็นแห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก ประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจได้พัฒนาการผ่าตัดโดยใช้สารเรืองแสงผ่าตัดรักษาเส้นเลือดพองในสมอง และผ่าตัดมะเร็งในสมอง นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ในปี พ.ศ.2564 โรงพยาบาลตำรวจให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยทั้งหมด จำแนกได้ดังนี้

ผู้ป่วยใน ยอดรวมจำนวน 15,490 ราย ประชาชนทั่วไป จำนวน 10,045 ราย (คิดเป็นร้อยละ 65) ตำรวจและครอบครัว จำนวน 5,445 ราย (คิดเป็นร้อยละ 35)

ผู้ป่วยนอก ยอดรวมจำนวน 821,372 ราย ประชาชนทั่วไปจำนวน 492,080 ราย (คิดเป็นร้อยละ 60) ข้าราชการตำรวจและครอบครัว จำนวน 329,292 ราย (คิดเป็นร้อยละ 40)

งบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ประจำปีจากรัฐบาล ไม่เพียงพอต้องได้รับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนด้วยอีกทางหนึ่ง

ปี พ.ศ.2526 พล.ต.ต.นพ.ไมตรี เรืองตระกูล ผู้บังคับการโรงพยาบาลตำรวจ ในขณะนั้น และ พ.ต.อ. (ญ) บุปผชาติ อักษรนันท์ หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ เล็งเห็นถึงอุปสรรคในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งระเบียบราชการไม่เอื้ออำนวย จึงได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจขึ้น

ปี พ.ศ.2546 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รับมูลนิธิไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์

ปัจจุบัน นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ พล.ต.อ.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ เป็นรองประธาน, พล.ต.ท.นพ.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นเลขาธิการมูลนิธิฯ

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ เพื่อสงเคราะห์การรักษาพยาบาลประชาชน ตำรวจและครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการของโรงพยาบาลตำรวจ ในอันที่จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ป่วยในทุกๆ ด้าน ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา อบรม ค้นคว้า วิจัย ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลตำรวจ ฯลฯ

ปี พ.ศ.2562 มูลนิธิได้จ่ายเงินสนับสนุนกิจการโรงพยาบาลตำรวจ จำนวนเงิน 113,306,475.66 บาท, ปี พ.ศ.2563 จำนวนเงิน 89,747,373.11 บาท และปี พ.ศ.2564 จำนวนเงิน 78,373,944.67 บาท

ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเงินสนับสนุนการสร้างอาคารทางการแพทย์ และการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ประจำอาคาร เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากทุกขเวทนา เพราะความพิการและการเจ็บป่วยต่างๆ

มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจฯ จะดำเนินการขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้ตามสิทธิ์ของผู้บริจาค รวมทั้งการออกใบเสร็จเพื่อนำไปหักภาษีได้ตามกฎหมาย

ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมทำบุญบริจาคเงินให้มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจฯ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของโรงพยาบาลตำรวจ ได้ที่ “มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์” เลขที่ 492/1 ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทร. 0-2207-6000 ต่อ 10243-10245 โทรสาร 0-2253- 7999.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ