เป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เลื่อนการพิจารณาวาระขอต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลา 30 ปี (ปี 2572-2602) ออกไปก่อน โดยให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงคมนาคมหารือกันให้ได้ข้อสรุปในประเด็นที่ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีความเห็นแย้งกันอยู่
ทำให้ในเวลาต่อมา กระทรวงคมนาคม นำโดย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ตั้งโต๊ะชี้แจงแถลงไขกรณีการเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง ขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า การเสนอความเห็นฯ ของกระทรวงคมนาคม ได้ยึดหลักความถูกต้องและประโยชน์สูงสุดที่ประชาชนพึงจะได้รับเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะเรื่องอัตราค่าโดยสาร, การกำหนดเงื่อนไขการเข้าระบบตั๋วร่วมที่ครอบคลุมทุกโครงข่าย และความถูกต้องครบถ้วนของขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เหตุผลที่กระทรวงคมนาคมเห็นว่าผลการเจรจา และร่างสัญญาที่ กทม.เสนอ ครม. ยังไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและราชการ มีดังนี้ 1.เงื่อนไขการจัดเก็บค่าแรกเข้าในการเดินทางเชื่อมต่อ ในร่างสัญญาฯ จะยกเว้นค่าแรกเข้าเฉพาะระบบเปลี่ยนถ่ายมาจากโครงการฯ ภายใต้ระบบตั๋วร่วมเท่านั้น โดยที่ระบบตั๋วร่วมต้องไม่มีการแก้ไขระบบที่ติดตั้งไว้เดิม ซึ่งไม่เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายทรัพย์สินและโอนภาระทางการเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ รฟม.กับ กทม. ที่กำหนดให้ กทม.ยกเว้นค่าแรกเข้าระบบ หรือค่าธรรมเนียม หากผู้โดยสารเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟฟ้าสายอื่นของ รฟม. โดยระบบรถไฟฟ้าที่ผู้โดยสารขึ้นลำดับแรกจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้าระบบ
2.รายได้กรณีรัฐดำเนินการเอง จากรายงานการศึกษาแนวทางการดำเนินการและผลสรุปการเจรจาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว บทที่ 5 มีผลสรุปว่า กรณีรัฐดำเนินการเอง ปี 2562-2602 จะมีรายได้รวม 1,577,141 ล้านบาท มีค่าใช้จ่าย 1,109,312 ล้านบาท ทำให้มีกระแสเงินสดสุทธิ 467,822 ล้านบาท กรณีเอกชนดำเนินการ พบว่า ภาครัฐจะมีกระแสเงินสดสุทธิเพียง 32,690 ล้านบาท ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากรณีรัฐเป็นผู้จ้างเดินรถจะทำให้รัฐมีกระแสเงินสดสุทธิมากกว่ากรณีให้เอกชนดำเนินการสูงถึง 435,132 ล้านบาท
3.การคิดอัตราค่าโดยสารไม่เป็นไปตาม MRT Assessment Standardization การกำหนดค่าโดยสารสูงสุดที่ 65 บาท โดยตามร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีเงื่อนไขจะเริ่มใช้หลังวันที่ 5 ธ.ค.72 ดังนั้นช่วงระหว่างรอต่อสัญญาทำให้ปัจจุบันค่าโดยสารตลอดสายอยู่ที่ 158 บาท แต่ กทม.มีการยกเว้นค่าแรกเข้า จึงเหลือค่าโดยสารที่ 104 บาท
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยใช้รูปแบบค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามระยะทาง ตามมาตรฐาน MRT Assessment Standardization ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรายได้ค่าโดยสารจากสูตร MRT และข้อเสนอของ BTS พบว่า ข้อเสนอของ BTS มีรายได้ค่าโดยสารมากกว่าแบบ MRT ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ดังนั้นการคิดค่าโดยสารแบบ MRT Assessment Standardization จะทำให้ผู้โดยสารได้รับประโยชน์จากค่าโดยสารที่ถูกลง โดยค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 51 บาท และรัฐบาลช่วยลดค่าครองชีพให้ผู้โดยสารได้ปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท และ 4.ในร่างสัญญาฯ ไม่มีเงื่อนไขที่ระบุชัดในการลดค่าครองชีพให้ประชาชน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภคจัดเสวนาออนไลน์ หัวข้อ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่าฯ กทม. ช่วยได้หรือไม่” โดยมีว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 4 คน คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัครอิสระ, นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล และนางรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผู้สมัครอิสระ เข้าร่วม ได้แสดงความเห็นไปในทางเดียวกัน คือคัดค้านการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมองว่าราคาโดยสาร 65 เป็นภาระประชาชน และได้แนะนำโอนโครงการสายสีเขียวให้รัฐบาลดูแลจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
แน่นอนว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับทราบแนวทางการแก้ปัญหาของร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยกลับไปทำคำชี้แจงเพิ่มเติมในประเด็นของกระทรวงคมนาคม ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 และนำเข้าสู่การประชุมพิจารณา ครม.ครั้งต่อไปโดยเร็ว ซึ่งเรื่องการต่อสัมปทานสายสีเขียวยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองว่าท้ายที่สุดแล้วบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร.
กัลยา ยืนยง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.
ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า
ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม
เคลียร์ปมสถานีอยุธยา
เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2
แจกเงินหวังคะแนน
เก็บตกการประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ตอนแรกก็รอลุ้นโครงการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ที่ช่วงเช้า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้ข่าวว่า จะให้ที่ประชุมอนุมัติในวันนี้ แต่สุดท้ายก็กลายเป็นรอเก้อ เพราะ ครม.ไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ เนื่องจากยังติดขัดปัญหาบางประการ
เทรนด์Pet Parentบูมไม่หยุด
คงต้องยอมรับว่า Pet Parent ยังคงเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน สะท้อนแนวโน้มและรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงสมือนคนในครอบครัว ยิ่งกว่านั้น
ปี 67 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยหืดจับ!!
ปี 2567 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายอย่างมากสำหรับ “ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์” ที่ยังคงเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของธุรกิจ ซึ่ง KKP Research