เมฆหมอกวิกฤตยูเครน ลอยเหนือเอเชีย...

มีคนถามผมว่าวิกฤตยูเครนเกี่ยวอะไรกับเอเชียหรืออาเซียน รวมทั้งประเทศไทยหรือ?

คำตอบก็คือ การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในส่วนไหนของโลกก็มีผลกระทบต่อเราทั้งนั้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ราคาน้ำมันและพลังงานที่พุ่งขึ้นจนทำให้ข้าวของแพง และอัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องก็เป็นผลทางตรงของกรณียูเครน

แต่การเมืองระหว่างประเทศที่มีผลกระทบจากยุโรปสู่เอเชียก็เห็นชัดเจนว่ามีภาพของเมฆหมอกแห่งสงครามยูเครนมาวนเวียนอยู่เหนือเอเชียอย่างไม่อาจจะปฏิเสธได้

ความขัดแย้งใดๆ เกี่ยวกับพรมแดนระหว่างยูเครนกับรัสเซียจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเอเชีย โดยจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย พยายามอย่างเต็มที่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกลากเข้าไปเกี่ยวโยงโดยตรงมากนัก

ยุโรปและออสเตรเลียเริ่มรู้สึกไม่สบายใจมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สงครามไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

จีนนั้นไม่ต้องสงสัยว่ายืนอยู่ข้างรัสเซีย แต่ปักกิ่งก็ไม่น่าจะสนับสนุนให้รัสเซียบุกเข้ายูเครนอย่างโจ๋งครึ่ม

ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก่อนพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว พร้อมออกแถลงการณ์ร่วมพิเศษ 5,300 คำที่บรรยายถึงมิตรภาพระหว่าง 2 ประเทศว่า "ไร้ขอบเขต"

ที่สำคัญ จีนออกมาต่อต้านการขยายตัวของนาโตเป็นครั้งแรก โดยสนับสนุนการคัดค้านของรัสเซียต่อการที่ยูเครนจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารของตะวันตก

ข้อความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ร่วม แม้จะไม่ได้ระบุชื่อยูเครนอย่างเปิดเผย แต่ก็ชี้ไปในทิศทางนั้น

 “ฝ่ายต่างๆ ได้ออกมาคัดค้านการขยายสมาชิกของนาโตเพิ่มเติม และเรียกร้องให้พันธมิตรแอตแลนติกเหนือละทิ้งแนวทางสงครามเย็นบนพื้นฐานของอุดมการณ์ เคารพในอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของประเทศอื่นๆ...”

ต้องไม่ลืมว่าจีนก็มีปัญหา “แยกดินแดน” ของตนในกรณีของซินเจียงและไต้หวัน

ดังนั้นปักกิ่งจึงออกมาสนับสนุนมอสโกไม่ได้เต็มปากในกรณีที่รัสเซียดูเหมือนจะสนับสนุนความพยายามแยกตัวของแคว้นดอนบาสออกจากยูเครน

ไต้หวันก็จับตาสถานการณ์ยูเครนอย่างใกล้ชิด เพราะมีความละม้ายคล้ายกับเหตุการณ์ที่นั่นในหลายมิติเช่นกัน

รัสเซียอ้างอิทธิพลเหนือยูเครน หรืออย่างน้อยก็ส่วนหนึ่งของยูเครน เหมือนที่ปักกิ่งอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ขณะที่สหรัฐฯ และนาโตโต้รัสเซียว่ากำลังคุกคามอธิปไตยของยูเครน และจะช่วยเหลือยูเครนให้ต่อสู้กับความพยายามจะรุกรานประเทศนั้น

ทำนองเดียวกันวอชิงตันก็เตือนจีนว่าหากใช้กำลังผนวกไต้หวัน สหรัฐฯ ก็มีพันธกรณีที่จะต้องช่วยเหลือเกาะแห่งนั้นในการปกป้องตัวเองจากการคุกคามของจีน

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน เรียกประชุมด้านความมั่นคงระดับสูงเมื่อปลายเดือนที่แล้วเพื่อหารือสถานการณ์ในยูเครน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน

หลังการประชุม เธอสั่งให้สภาความมั่นคงไต้หวันตั้งหน่วยเฉพาะกิจว่าด้วยเหตุการณ์ในยูเครนเพื่อติดตาม “ความเคลื่อนไหวในยูเครนตะวันออกและผลกระทบใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของชาติของเรา”

ไต้หวันมองตัวเองเหมือนยูเครนที่ต้องเผชิญกับ “ภัยคุกคามและการข่มขู่ทางทหารจากจีน” ไช่ อิงเหวิน ประกาศ

อินเดียก็ต้องใช้นโยบาย “เดินไต่เชือก” ระหว่างรัสเซียและอเมริกาในกรณีนี้เช่นกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว อินเดียตัดสินใจงดออกเสียงประเด็นเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

รัสเซียซึ่งได้รับการสนับสนุนจากจีนเพียงประเทศเดียว งดออกเสียง 3 ประเทศ ส่งผลให้มีการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเครนเมื่อวันที่ 31 ม.ค.

อินเดีย กาบอง และเคนยา ซึ่งล้วนแต่เป็นสมาชิกไม่ถาวรของสภานี้ งดออกเสียง การงดออกเสียงทำให้อินเดียหลีกเลี่ยงที่ต้องแสดงจุดยืนในประเด็นนี้

แต่รัสเซียก็ยังต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์เก่าแก่กับอินเดีย ซึ่งต้องถือว่าเป็นหุ้นส่วนทางด้านการเมืองที่มีมายาวนานตั้งแต่สมัยสหภาพโซเวียต

ส่วนญี่ปุ่นนั้นเดินหน้าแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับยูเครน

วิธีการแสดงออกว่าเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับกรุงเคียฟของญี่ปุ่นคือ มติของสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุว่า โตเกียว “เป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่ง และขอสนับสนุนให้ชาวยูเครนมีความสามารถที่จะปกปักรักษาอธิปไตยของประเทศและภูมิภาคของตนอย่างมีเสถียรภาพ”

แต่การลงมติในวันอังคาร (8 ก.พ.) ไม่ได้กล่าวถึงรัสเซียโดยตรง เพราะต้องการดำเนินนโยบายที่ “รอบคอบ” และเผื่อช่องทางของการปรับเปลี่ยนหากสถานการณ์เข้าสู่จุดเลวร้ายที่สุด นั่นคือการรุกรานยูเครน โดยรัสเซีย

ไม่ต้องสงสัยว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงของญี่ปุ่นต้องการให้โตเกียวแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวกว่านี้

แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ญี่ปุ่นก็คงจะต้องร่วมกับตะวันตกในการประกาศคว่ำบาตรรัสเซียหากสงครามปะทุขึ้น

เห็นหรือยังว่าชาติใหญ่ๆ ในเอเชียก็กำลังต้องแสดงจุดยืนเกี่ยวกับยูเครนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ