วิกฤตยูเครนไม่แผ่ว การทูตยังติดมุมอับ

ภาพถ่ายทางอากาศชุดนี้บอกเล่าถึงการระดมพลครั้งสำคัญของรัสเซีย...อันเป็นเหตุของความตึงเครียดในวิกฤตยูเครนวันนี้ที่ยังไม่ลดอุณหภูมิลง

ผมเฝ้าข่าว “วิกฤตยูเครน” ตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยใจระทึก

ไม่ได้ระทึกว่ารัสเซียจะบุกยูเครนหรือเปล่า

แต่ลุ้นว่าจะมีทางออกทางการทูตอย่างไรมากกว่า

เพราะผมไม่เชื่อว่ารัสเซียต้องการจะเปิดศึกสงคราม และสหรัฐฯ ก็คงไม่โง่พอที่จะก่อให้เกิดการสู้รบจนทำให้ยูเครนกลายเป็น “กับดัก” ใหม่ของกองกำลังทหารของตน

บทเรียนเวียดนาม, อิรัก, อัฟกานิสถาน คงจะยังไม่หายไปจากแนวทางวิเคราะห์ของคณะที่ปรึกษาทั้งด้านการเมืองและทางทหารของโจ ไบเดน

แต่ไม่ติดตามข่าวให้ต่อเนื่องก็ไม่ได้

เพราะข่าวแต่ละชิ้นที่ออกมาจากสหรัฐฯ และอังกฤษช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นั้น ล้วนแล้วแต่สร้างความเครียดให้กับผู้คนที่เกาะติดสถานการณ์อย่างสูง

เช่นคำเตือนของประธานาธิบดีไบเดนให้คนอเมริการีบอพยพออกจากยูเครน

ถึงกับบอกว่าสถานการณ์ที่นั่นอาจจะเสื่อมทรุดลงได้อย่างรวดเร็วแบบ “บ้าคลั่ง” กันเลยทีเดียว

มิหนำซ้ำ “แหล่งข่าวในทำเนียบขาว” ที่สื่อสหรัฐฯ อ้างก็ยกระดับความตึงเครียดตลอดเวลา

เช่นข่าวที่บอกว่ารัสเซียมีกองทหารพร้อมที่จะบุกยูเครน "เมื่อใดก็ได้"

และขอให้พลเมืองอเมริกันควรออกจากยูเครนภายใน 48 ชั่วโมง

ข่าวอ้างทำเนียบขาวว่า การบุกรุกอาจเริ่มต้นด้วยการวางระเบิดทางอากาศ ซึ่งจะทำให้การเดินทางออกยากและเป็นอันตรายต่อพลเรือน

แต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าไม่จริง ตนไม่มีแผนจะบุกยูเครน เพียงต้องการให้สหรัฐฯ และนาโตเลิกแผนการที่จะให้ยูเครนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนาโตเท่านั้น

แล้วทหารรัสเซียกว่า 100,000 นายที่ประชิดติดชายแดนยูเครนล่ะ?

ปูตินบอกว่าเป็นการซ้อมรบตามวงรอบปกติกับเพื่อนบ้านเบลารุส

แต่สำนักข่าวสหรัฐฯ อ้างคำพูดของแหล่งข่าวทำเนียบขาวว่า

“ข่าวกรองสหรัฐฯ ยืนยันว่าปูตินได้ตัดสินใจจะบุกยูเครนแล้ว”

จะไม่ให้ต้องคอยติดตามข่าวจากวอชิงตัน, มอสโก, เคียฟ, ลอนดอน และเบอร์ลินกับปารีสได้อย่างไร

เพราะอีกหลายประเทศก็ได้ออกประกาศให้พลเมืองของตนออกจากยูเครน

ไม่ว่าจะเป็นสหราชอาณาจักร แคนาดา เนเธอร์แลนด์ ลัตเวีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

กระทรวงต่างประเทศรัสเซียกล่าวหาประเทศตะวันตกว่าเผยแพร่ข้อมูลเท็จ

“เหยี่ยว” ตัวสำคัญด้านตะวันตกน่าจะเป็นเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

ที่ให้สัมภาษณ์ต่อเนื่องว่า ขณะนี้กองกำลังของรัสเซีย "อยู่ในฐานะที่จะสามารถใช้เปิดปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ได้แล้ว"

“เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถทำนายอนาคตได้ เราไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ตอนนี้ความเสี่ยงสูงพอแล้ว และภัยคุกคามก็เกิดขึ้นได้แบบฉับพลันทันทีได้เช่นกัน” เขากล่าว

ซัลลิแวนบอกว่ารัสเซียกำลังมองหา “ข้ออ้าง” ที่จะเปิดปฏิบัติการทางทหาร

และอาจเริ่มต้นด้วยการทิ้งระเบิดทางอากาศที่รุนแรงเพื่อปูทางสู่การรุกใหญ่

รัสเซียเดินหน้าซ้อมรบทางทหารในทะเลดำที่นักวิเคราะห์บางค่ายบอกว่า เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามเย็นเมื่อปี 1989

คนที่มาเพิ่มน้ำหนักให้กับคำเตือนนี้คือรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ที่บอกว่าการระดมทหารรัสเซียที่ชายแดนติดกับยูเครนเป็น “สัญญาณที่น่าหนักใจอย่างยิ่ง ทำให้เห็นว่ารัสเซียจงใจจะยกระดับความรุนแรงขึ้น”

และยังโยงจังหวะการรุกทางทหารของรัสเซียกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งอีกด้วย

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่การบุกรุกสามารถเริ่มต้นได้ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 20 กุมภาพันธ์)”

ไบเดนคุยกับผู้นำยุโรปตะวันตกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกวางแนวปฏิบัติการร่วมกัน เพื่อกดดันปูตินหากรัสเซียบุกยูเครนจริง

อเมริกาเตรียมส่งทหารอีก 3,000 นายจากฟอร์ตแบรกก์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ไปยังโปแลนด์ คาดว่าจะไปถึงในสัปดาห์หน้า

ไบเดนย้ำว่า ทหารอเมริกันจะไม่ถูกส่งไปสู้รบในยูเครน แต่เป็นการแสดงออกถึงการ “รับประกัน” ว่าวอชิงตันพร้อมจะป้องกันพันธมิตรของสหรัฐในวิกฤตยูเครนครั้งนี้

ผู้นำยูเครนบอกว่ารัสเซียพยายามจะปิดทางออกทะเล

รัสเซียบอกว่าการซ้อมรบกับเพื่อนบ้านเบลารุสเป็นเรื่อง “วงรอบ” ของกิจกรรมทางทหารปกติ และเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะมีกิจกรรมทางทหารภายในดินแดนของตน

แต่ภาพดาวเทียมที่ฝรั่งตะวันตกนำเสนอต่อสื่อหลายชุดตอกย้ำว่า การเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียครั้งนี้ “ไม่ธรรมดา”

ผู้นำฝรั่งเศสมาครงพยายามจะเล่นบท “ผู้ไกล่เกลี่ย” ด้วยการใช้ “การทูตวิ่งรอก” ไปเจอผู้นำรัสเซีย, ยูเครน, โปแลนด์ และอื่นๆ

แต่เขาก็ยอมรับว่าเพียงแค่บินโฉบไปมา และนั่งประชุมกันไม่กี่ชั่วโมงคงจะไม่สามารถจะแก้วิกฤตอันสลับซับซ้อนนี้ได้

               ทุกรายละเอียดและทุกความเคลื่อนไหวขณะนี้อยู่ในความสนใจของทั้งโลก

เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพลี่ยงพล้ำ หรือ “ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด” อาจจะเกิดอุบัติเหตุที่นำไปสู่สงครามรอบใหม่

ที่ไม่มีใครต้องการ

แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าทางออกคืออะไรเช่นกัน

หวังว่าจะคุ้มกับการอดหลับอดนอนของผมในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อเกาะติดทุกสื่อของตะวันตกและรัสเซีย

หวังว่าปูตินกับไบเดนจะ “ฉลาดพอ” ที่จะหาทางออกที่วันนี้ยังมองไม่เห็น

เพราะหากหาทางออกจาก “ทางตัน” ไม่ได้จริงๆ โลกวุ่นวายแน่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ