โจทย์หิน : ปฏิรูปครั้งใหญ่ ภาคการเงินไทย (1)

น่าสนใจมากครับกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากคนทั่วไปว่าด้วย “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” ในช่วง 1-28 ก.พ.2565

ผมถือว่านี่คือการ “ปฏิวัติ” ครั้งสำคัญของวงการการเงินไทย

และบทบาทของธนาคารกลางในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

เป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการปรับทิศทางของธนาคารกลางท่ามกลางกระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินที่กำลังมีผลกระทบไปทั้งโลก

ไทยเราก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่หนักหน่วงและรุนแรง

ข้อมูลที่ ธปท.นำเสนอผ่านท่านผู้ว่าฯ นั้นตอกย้ำว่าเราไม่ปรับไม่เปลี่ยนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

และแม้ว่าเราตระหนักถึงความสำคัญของการต้องปรับเปลี่ยน ก็ยังไม่แน่ว่าเราจะรู้ว่าจะไปในแนวทางไหน

และแม้จะตัดสินใจไปในทิศทางไหนแล้วก็ไม่มีอะไรรับรองว่าจะประสบความสำเร็จ

เพราะทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปตลอดเวลา...ไม่มีสูตรสำเร็จในอดีตหรือตำราเล่มไหนจะมาตอบได้ว่านี่คือเส้นทางที่ “ใช่” แต่เพียงเส้นทางเดียว

ข้อมูลที่ว่านี้มาจากคุณเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท.เอง

ท่านบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนอินเทอร์เน็ตแบงกิ้งในไทยเพิ่มจาก 36 ล้านบัญชี เป็น 121 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว

จำนวนธุรกรรมอินเทอร์เน็ตและโมบายแบงกิ้งเพิ่มจาก 800 ล้านรายการ เป็น 1.44 หมื่นล้านรายการ หรือเพิ่มขึ้น 18 เท่าตัว หรือคิดเป็น 300 ครั้ง/คน/ปี

และจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ปิดตัวลง 1,400 สาขา แตกต่างจากในอดีตที่ธนาคารพาณิชย์แข่งขันกันเปิดสาขา

อีกด้านหนึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีเงินที่ไหลเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อม หรือกองทุนความยั่งยืน (ESG-funds) ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว

เมื่อไม่นานมานี้ กว่า 50% ของสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของกองทุน Global AUM ต่างๆ ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลงทุนใน Net Zero Impact

ด้านคาร์บอนในปี 2050 และ 60% ของการส่งออกไทยจะถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้เล่นรายใหม่ๆ ในภาคการเงินไทยมากขึ้น

โดยสินเชื่อรายย่อยที่ของ Non-banks เติบโต 40% สูงกว่าสินเชื่อที่เติบโตของธนาคารแบบดั้งเดิม (Traditional banks) ที่เติบโต 24%

ขณะที่การเติบโตสินเชื่อทั่วโลกพบว่า สินเชื่อของผู้เล่นรายใหม่ประเภท FinTech เติบโต 500% และเติบโตสินเชื่อของ BigTech เช่น Alibaba ,Tencent และ Grab เป็นต้น มีการเติบโต 4,000%

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงใน 3 กระแสนี้คือเรื่องดิจิทัล เรื่องสิ่งแวดล้อม และผู้เล่นใหม่ จะมีผลกระทบต่อภาคการเงินไทยอย่างเห็นได้ชัด

ทำให้เกิดคำถามที่ ธปท.ต้องไปหาคำตอบ เช่น

เมื่อแบงก์มีความจำเป็นในการเปิดสาขาลดลง ธปท.จะอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีสาขา หรือ Virtual bank เข้ามาเปิดให้บริการในไทยหรือไม่

และหากอนุญาตให้เปิด Virtual bank ธปท.จะมีนโยบายการกำกับดูแลอย่างไร

หรือกรณีที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเข้ากับกระแส Green หรือความยั่งยืน บทบาทของธนาคารพาณิชย์ไทยที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านในเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไร เร็วแค่ไหน และมีรูปแบบอย่างไร

หรือกรณีที่มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เช่น FinTech และ BigTech ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ธปท.จะกำกับดูแลอย่างไร และจะให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ เหล่านี้เข้ามาแข่งขันอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกำกับดูแล และทำให้การแข่งขันอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

เหล่านี้คือคำถามใหญ่มาก การแสวงหาคำตอบก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่ตั้งคำถามยากๆ อย่างนี้ก็ไร้อนาคตเช่นกัน

คำถามเหล่านี้เป็นที่มาว่า ทำไม ธปท.จึงต้องออกรายงานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน

ซึ่งเป็นรายงานที่เรียกว่า consultation paper คือ เป็น paper เพื่อการหารือ ไม่ใช่เป็น paper สไตล์แผนแม่บท 5 ปีเหมือนในอดีต

คุณเศรษฐพุฒิยอมรับว่า เพราะโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก หลายอย่างเป็นสิ่งที่คาดการณ์ลำบาก การที่เราจะระบุว่า เราจะเห็น 1 2 3 และทำ 4 5 6 มันเป็นอะไรที่ยาก และไม่เหมาะกับบริบทที่เราเจออยู่

ในรายงานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยฉบับนี้ยังมีการแบ่งปันมุมมองของ ธปท.ว่า ธปท.มองกระแสต่างๆ ที่จะมาอย่างไร จุดยืนในเรื่องต่างๆ เป็นอย่างไร

และสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นเป็นอะไร หรือสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็นมีอะไรบ้าง

รวมทั้งในรายงานภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยจะมีการระบุว่า มีเรื่องใดบ้างที่ ธปท.อยากรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และหาคำตอบเกี่ยวกับทิศทางที่เราจะไปในอนาคต

 “ทิศทางที่เราจะไปนั้น หลักการสำคัญอันหนึ่งคือ การรักษาสมดุลระหว่างนวัตกรรมกับความเสี่ยง อะไรที่เสี่ยงเยอะก็กำกับเยอะ อะไรที่ไม่ค่อยเสี่ยงก็ไม่ไปกำกับมากมายอะไร และอะไรที่จำเป็นต้องดูให้เข้ม ก็ต้องดูให้เข้ม เช่น การดูแลผู้ฝากเงิน เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปใดๆ ก็ตาม หัวใจสำคัญของการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไทยคือ ต้องดูแลผู้ฝากเงิน ทำให้ผู้ฝากเงินมั่นใจและมั่นคง

ผู้ว่าฯ ธนาคารกลางบอกว่า อะไรที่ไม่จำเป็นต้องเข้มมาก เพราะความเสี่ยงไม่มาก ก็ผ่อนปรนมากขึ้น เช่น FinTech ถ้าดูแล้ว ความเสี่ยงไม่ได้มาก ก็ผ่อนปรนได้

และสุดท้ายอาจมีบางอย่าง ซึ่งตอนนี้ประเมินความเสี่ยงลำบาก ดูไม่ค่อยออกว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน ดูไม่ออกว่าผลกระทบในวงกว้างจะมีมากแค่ไหน

เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล เราจะใส่สิ่งที่เรียกว่าราวกั้น หรือ guard rail เพื่อจำกัดความเสี่ยง

แต่พวกนี้อาจมีความยืดหยุ่น หากผ่านไปแล้ว ความเสี่ยงไม่ได้มากมายอะไร” คุณเศรษฐพุฒิบอก

การยอมรับความจริงว่านี่เป็น “โจทย์หิน” จึงเป็นยุดเริ่มต้นที่สำคัญ

เพราะทั้งโลกก็กำลังเผชิญกับ “โจทย์ยากๆ” อย่างนี้เหมือนกันทั้งสิ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ