พปชร.ในกระแส 'ถ้ำนาคา'

ช่วงนี้กระแสดี

ไม่ใช่พรรคการเมือง

แต่เป็น "ถ้ำนาคา" ในอุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดบึงกาฬ

เห็นท่านผู้ว่าฯ "สนิท ขาวสอาด" เปิดตัวเลขเห็นแล้วขนลุก!

มกราคม-กุมภาพันธ์ ประมาณ ๒ เดือนมีนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่กว่า ๑.๕ แสนคน

สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ย้อนไปสมัยก่อนบึงกาฬยังไม่ดัง มีคนมาท่องเที่ยวเพียงปีละ ๒ แสนคน

ก็ไม่แปลกใจ นักท่องเที่ยวแห่กันไปจนกลับลงมาไม่ทัน

กระแส "ถ้ำนาคา" พุ่ง ขณะที่ "ไอ้ไข่เมืองคอน" หลังเจอพิษโควิด สถานการณ์ทรงๆ ยังไม่กลับมาพีกเหมือนเคย

มันสะท้อนให้เห็นครับว่า ประชาชน ต้องการที่พึ่งทางใจใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ

พรรคการเมืองทำแบบ "ถ้ำนาคา" หรือ "ไอ้ไข่" ได้หรือเปล่า เป็นที่พึ่งทั้งทางใจ ทางทรัพย์ ให้ประชาชน ที่เดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ณ เวลานี้

หลังจากปล่อยให้วิพากษ์วิจารณ์ร้อยแปดพันเก้า วานนี้  (๘ กุมภาพันธ์) "ลุงป้อม" พูดยาวกว่าปกติ

สรุปใจความได้ว่า

พลังประชารัฐไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ

"นายกฯ" ไม่ต้องเข้าพรรค เพราะเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่แล้ว

ไม่ต้องคุยเพราะรู้กันอยู่ รู้ว่าอย่างไรก็อยู่ ยืนยันว่ายังอยู่ด้วยกันและอยู่ด้วยกันมาตลอดไม่มีอะไรต้องเคลียร์เพราะอยู่ด้วยกันตลอด อยู่ด้วยกันมา ๕๐ ปีแล้ว

"อนุพงษ์" นั้นน้องผม มหาดไทย เป็นน้องผม แล้วผมจะไปอยู่ไปแย่งน้องได้อย่างไร

ไม่ได้คุยกับ "ธรรมนัส" เลย แต่คุยว่าออกไปแล้วต้องสนับสนุนรัฐบาล พูดชัดเจนไม่ต้องห่วงผมพูดอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น

ในภาพรวม "ลุงป้อม" ยืนยันว่า ยังคุมพลังประชารัฐได้อยู่ ไม่หนีไปไหน

ดูเหมือน "ลุงป้อม" จะตีกรอบชัดเจนขึ้น

พลังประชารัฐไม่มีปัญหา

ยังสั่งกลุ่มธรรมนัสได้ พูดอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น

ทั้งหมดนี้ จึงดูเหมือน "ลุงป้อม" เป็นศูนย์กลาง

ฝั่ง "ลุงตู่" ไม่ได้พูดเอง แต่ส่งโฆษกรัฐบาลมากระซิบแทน 

...ขณะนี้ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากเป็นพรรคที่สนับสนุนนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ส่วนการเมืองและการเลือกตั้งเป็นเรื่องของอนาคต

ขณะที่ทุกพรรคก็ต้องแก้ปัญหาการเมืองภายในพรรคของตัวเอง ทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ การเลือกตั้งเมื่อมาถึงเป็นเรื่องของประชาชนและเป็นเรื่องที่นายกฯ ต้องพิจารณาต่อไป...

มีความชัดเจนในความไม่ชัดเจน

วันนี้ยังอยู่กับพลังประชารัฐ

เลือกตั้งเมื่อไหร่ต้องพิจารณาต่อไป

ถ้าแบบนี้ "ลุงตู่" เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว

สรุปทั้งจากปาก "ลุงตู่-ลุงป้อม" การเมืองไม่มีคำว่าชัดเจนจนกว่าจะชัดเจน

เพราะสถานการณ์เปลี่ยนได้ตลอดเวลา

พรรคการเมืองมีขึ้นมีลง

ดู ประชาธิปัตย์ เป็นตัวอย่าง มีทั้งยุครุ่งเรืองสุดขีด และตกต่ำเรี่ยดิน

แต่ก็ดำรงอยู่ เพราะโครงสร้างพรรคมีความชัดเจน

หลายพรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองใหญ่ เป็นพรรคอันดับหนึ่ง แต่ช่วงการดำรงอยู่นั้นสั้นตามแต่เหตุผลของจุดกำเนิด  

เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา

ก่อตั้งปี ๒๔๙๘

ยุบปี ๒๕๐๐

มีอายุ ๒ ปี ๘๓ วัน

พรรคเสรีมนังคศิลา เอาชนะการเลือกตั้งในปี ๒๕๐๐  แบบถล่มทลาย ได้ ส.ส. ๘๓ คน จากจำนวน ส.ส.ในสภา ๑๖๐ คน

แต่เป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่าสกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์

เป็นพรรคจากการรัฐประหารและไปเพราะรัฐประหาร

 พรรคสามัคคีธรรม เป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้ง เมื่อปี ๒๕๓๕ 

ก่อตั้งต้นปี ยุบปลายปี

ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนแกนนำรัฐประหาร รสช.

มาถึง พลังประชารัฐ ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๖๑ ถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายทหารจากการรัฐประหาร ยาวนานกว่า ๒ พรรคแรก

แต่จะยาวแค่ไหน ก็อยู่ที่ฝีมือ "ลุงป้อม" 

ส่วน "ลุงตู่" ถือเป็นคนนอก ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค

ประเมินสถานการณ์ "ลุงป้อม" บอกว่าเลือกตั้งสมัยหน้า พลังประชารัฐมาแน่ ได้ ส.ส. ๑๕๐ ที่นั่งนั้น มีความเสี่ยงทำไม่ได้ตามที่พูดสูงมาก!

เพราะจะเกิดปรากฏการณ์เบี้ยหัวแตก 

ปัจจุบัน ขาข้างหนึ่งของ "ลุงป้อม" ยังต้องไปยืนที่พรรค เศรษฐกิจไทย แล้วไหนจะมีคนตาม "แรมโบ้อีสาน" ไปอีก

เวลานี้ "สามมิตร" เงียบกริบ เป็นความเงียบที่่น่าระแวงกันอยู่เหมือนกัน

จะกลับเพื่อไทยหรือเปล่า?

หรือเพื่อไทยปิดประตูตายไปแล้ว เพราะไม่มีพื้นที่ให้เบียดเหมือนเคย

แต่ถ้าวันไหน สามมิตร บอกว่า ขอบคุณ "ลุงป้อม" ที่กระเตงกันมาร่วม ๔ ปี วันนั้น พลังประชารัฐก็แทบไม่เหลือใคร

ฉะนั้นการเมืองวันนี้ยังสรุปยาก

 ใครอยู่ ใครไป นี่แค่เริ่มต้น

ธรรมชาติของนักการเมืองที่นั่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ จะไม่หาเรื่องให้ตัวเองสูญเสียอำนาจ เช่น "ธรรมนัส" ที่เดินเกมพลาด

หันไปดูพรรคร่วมรัฐบาล "ลุงตู่" เองต้องระวังหลังให้ดี

ถ้าทำใจได้ว่า การเมืองคือการประนีประนอมผลประโยชน์ให้ตกแก่ประชาชนมากที่สุด การเมืองที่ว่านี้ก็จะเป็นเกราะป้องกันในการทำงานการเมือง

กรณี ๗ รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยไม่เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นการประท้วง ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอวาระเพื่อพิจารณา ขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ของ กทม. เพื่อขยายสัญญาสัมปทานให้ บริษัท BTSC บริษัทในเครือ บริษัท บีทีเอส  กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ออกไปอีก ๓๐ ปี   เพราะกระทรวงคมนาคม แสดงความเห็นคัดค้านต่อการขยายสัญญาสัมปทานมาโดยตลอด

ถือว่าร้ายแรงในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน

กรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีปัญหาจุกจิกร้อยแปดพันเก้า มหาดไทยหนุน กทม. รบกับคมนาคม มาต่อเนื่อง

เรื่องเข้า ครม.เมื่อไหร่ก็มีปัญหาเมื่อนั้น

ใครบอกว่าเรื่องสภาล่ม จะเป็นเหตุให้ยุบสภาได้ ก็ฟังเอาขำๆ

แต่ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลคุยกันไม่รู้เรื่อง ยิ่งปลายอายุรัฐบาลแบบนี้ เคยเป็นเหตุให้ยุบสภามาแล้ว

ครับ...การเมืองไม่มีอะไรแน่นอนทั้งนั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เบื้องหลังผู้ลี้ภัย

เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี

วันนี้ของ "วันนอร์"

ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น

๒๕๖๘ อันธพาลการเมือง

ที่สุดแห่งปีในปีที่แล้วไม่มีใครเกิน "หมูเด้ง" เกิดมาเพื่อดังจริงๆ ไม่ใช่ดังธรรมดา แต่ดังข้ามทวีป คนรู้จักไปทั่วโลก

'ยิ่งลักษณ์' จะกลับมา

สิ้นปีแล้ว...แทนที่จะได้พักหูบ้าง "พ่อริ-ลูกยำ" สมุนตาม ชาวบ้านด่ากันขรม ยังไม่พออีกหรือ

'ทักษิณ' ไม่ไกลคุก

เหตุบ้านการเมืองก่อนสิ้นปี เป็นไปตามสภาพครับ คะแนนนิยมของ "แพทองโพย" ลดลง ตามนิด้าโพล ที่เขาสำรวจ คะแนนนิยมทางการเมือง ไตรมาสสุดท้าย ที่ ๒๙.๘๕ % จากไตรมาส ๓ ที่สูงกว่านิดหน่อย ๓๑.๓๕%