น้ำมัน $100 เหรียญต่อบาร์เรล?

ราคาน้ำมันใกล้จะแตะ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้ว...เดือดร้อนสำหรับผู้บริโภคไปทั่วโลก

ผลชัดเจนคือ กระทบเศรษฐกิจ ดันเงินเฟ้อขึ้น ข้าวของแพงและทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง เพียงเดือนมกราคมเดือนเดียวราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นมากกว่าร้อยละ 15

พุ่งทะลุ 90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความกลัวว่ารัสเซียจะบุกยูเครน

ที่น่ากังวลคือ นักวิเคราะห์พลังงานหลายคนคาดการณ์ว่า น้ำมันจะแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้ในไม่ช้า

และหากความปั่นป่วนยังไม่ลดลงก็อาจจะวิ่งขึ้นไปที่ 120 เหรียญฯ ได้  ต่อให้รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับความนิยมมากขึ้น และการระบาดของโควิด-19 ยังคงอยู่ ก็อาจจะยังไม่อาจสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันได้

Exxon Mobil และบริษัทน้ำมันอื่นๆ ที่นักวิเคราะห์ Wall Street มองว่าเป็น “ไดโนเสาร์ใกล้สูญพันธุ์” เมื่อหนึ่งปีก่อนนั้น วันนี้กลับทำกำไรมหาศาลในรอบหลายปี

มีคำถามว่าทำไมราคาน้ำมันจึงพุ่งขึ้นอย่างฉับพลันเช่นนี้?

การระบาดของโควิด-19 กดดันราคาพลังงานในปี 2020 กระทั่งเกิดปรากฏการณ์ราคาน้ำมันมาตรฐานของสหรัฐต่ำกว่าศูนย์เป็นครั้งแรก

ราคาลดลงเร็วกว่าและมากกว่าที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดไว้ส่วนใหญ่

เหตุเพราะอุปทานไม่สอดคล้องกับอุปสงค์

บริษัทน้ำมันของตะวันตกเจาะบ่อน้ำมันน้อยลง

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากนักลงทุนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุปทาน

ผู้บริหารในอุตสาหกรรมน้ำมันบางคนบอกว่า กำลังพยายามที่จะไม่ทำผิดพลาดแบบเดียวกับที่เคยทำมาแล้วในอดีต

นั่นคือเมื่อปั๊มน้ำมันขึ้นอย่างมากมายตอนราคาสูงก็มีผลทำให้ราคาดิ่งเหวในเวลาต่อมา เพราะมีสต๊อกล้น

อีกสาเหตุหนึ่งมาจากประเด็นที่ประเทศอื่นๆ เช่น เอกวาดอร์ คาซัคสถาน และลิเบียเจอภัยธรรมชาติและความปั่นป่วนทางการเมือง

ทำให้มีการกดปริมาณการผลิตในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ในเวลาเดียวกันด้านอุปสงค์ก็ปรับตัวขึ้น เพราะผู้คนทั่วโลกกำลังเรียนรู้ที่จะรับมือกับโควิด และเพราะความต้องการที่ “อั้น” ไว้ ทำให้ผู้คนต่างกระตือรือร้นที่จะจับจ่ายซื้อของและท่องเที่ยว

และเพราะกลัวจะแพร่หรือติดเชื้อ คนจำนวนไม่น้อยก็เลือกที่จะขับรถมากกว่าใช้บริการขนส่งสาธารณะ

นั่นหมายถึงการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แต่เอาเข้าจริงๆ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดและเร่งด่วนที่สุดคือเรื่องของ “ภูมิรัฐศาสตร์”

พอมีข่าวเรื่องรัสเซียอาจบุกยูเครน ก็เกิดปฏิกิริยาทันที

ความกลัวว่าจะเกิดความวุ่นวายส่งให้ราคาวิ่งขึ้นใกล้ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเกือบจะทันที

ต้องไม่ลืมว่ารัสเซียผลิตน้ำมันได้ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 10 บาร์เรลที่ใช้ทั่วโลกในแต่ละวัน

หากเกิดการหยุดชะงักของการขนส่งของรัสเซียที่ขนส่งผ่านยูเครน หรือหากมีการก่อวินาศกรรมของท่อส่งอื่นๆ ในยุโรปเหนือ จะมีผลทำให้เกือบทั้งทวีปตกอยู่ในภาวะ “พิการ” ทันที

นั่นย่อมทำให้เกิดการบิดเบือนของห่วงโซ่อุปทานพลังงานทั่วโลก

เพราะส่วนอื่นๆ ของโลกไม่มีกำลังสำรองเพื่อทดแทนน้ำมันของรัสเซีย

แม้ว่าการขนส่งน้ำมันของรัสเซียจะไม่หยุดชะงัก แต่หากสหรัฐฯ และพันธมิตรประกาศมาตรการคว่ำบาตรหรือควบคุมการส่งออกกับรัสเซีย น้ำมันจากรัสเซียก็จะหดหายทันที

อีกด้านหนึ่ง หากเกิดการหยุดชะงักของการส่งออกก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไปยังยุโรป ก็อาจทำให้ระบบสาธารณูปโภคบางแห่งต้องผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

นั่นหมายถึงการเผาน้ำมันมากกว่าการใช้ก๊าซ และนั่นแปลว่าจะเพิ่มความต้องการและราคาทั่วโลก

ถ้าอย่างนั้นก็ต้องถามว่า สหรัฐฯ และพันธมิตรจะทำอะไรได้บ้างหากการผลิตของรัสเซียหยุดชะงัก?

คำตอบก็คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป และแม้แต่จีนก็สามารถปล่อยน้ำมันดิบออกจากแหล่งสำรองทางยุทธศาสตร์ได้มากขึ้น

ถ้าทำอย่างนั้นจริงก็อาจพอช่วยผ่อนคลายปัญหาได้บ้าง – ถ้าวิกฤตนี้เป็นแค่เรื่องระยะสั้น

แต่ถ้าอุปทานของน้ำมันรัสเซียต้องหยุดชะงักหลายเดือนหรือเป็นปีล่ะ?

ปริมาณน้ำมันสำรองของโลกจากแหล่งอื่นไม่พอแน่นอน

นั่นแปลว่าบริษัทน้ำมันของตะวันตกที่สัญญาว่าจะไม่ผลิตน้ำมันมากเกินไปอาจจะเปลี่ยนใจ ถ้ารัสเซียไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดหาน้ำมันให้มากเท่าที่ควร

แรงจูงใจคือกำไรมหาศาลอันเกิดจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ในระยะสั้น

มีคำถามว่า OPEC ทำอะไรอยู่?

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้องค์กรของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) สูบน้ำมันออกจากบ่อมากขึ้น

แต่สมาชิกหลายชาติบอกว่าไม่มีโควตาการผลิตรายเดือน

บางประเทศอาจไม่มีความสามารถในการเพิ่มผลผลิตอย่างรวดเร็ว

สัปดาห์ก่อน สมาชิกกลุ่มโอเปกและพันธมิตรยอมเดินตามแผนเพิ่มการผลิตในเดือนหน้า ที่ประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ วอชิงตันก็มีแนวโน้มที่จะกดดันให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการผลิต

นักวิเคราะห์เชื่อว่าซาอุฯ มีกำลังการผลิตสำรองหลายล้านบาร์เรลต่อวันที่เอามาเยียวยาได้ในช่วงวิกฤต

ถ้าจะให้ราคาน้ำมันลดลง ต้องทำอะไร?

ราคาน้ำมันขึ้นและลงตามวัฏจักร แต่มีปัจจัยหลายด้านที่อาจทำให้ราคาลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ข้อแรกคือ การระบาดของโควิดยังไม่จบสิ้น

จีนได้ปิดหลายเมืองเพื่อหยุดการแพร่กระจายของไวรัส เศรษฐกิจชะลอตัว

หรือความต้องการพลังงานอาจไม่เพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างที่คาด

หรือรัสเซียกับชาติตะวันตกสามารถบรรลุข้อตกลง ทำให้ลดความตึงเครียดในวิกฤตยูเครน

หรือหากสหรัฐฯ และพันธมิตรสามารถฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 กับอิหร่าน ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ละทิ้งได้

หากเกิดข้อตกลงนี้ได้จริงก็จะทำให้อิหร่านขายน้ำมันได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา

อิหร่านมีความสามารถที่จะส่งออกได้หนึ่งล้านบาร์เรลขึ้นไปต่อวันถ้ามีการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ได้

และในที่สุด ถ้าราคาน้ำมันสูงเกินไปก็อาจจะทำให้อุปสงค์ลดลงพอที่จะกดราคาลงได้เช่นกัน

และหากมีแรงจูงใจทางการเงินที่จะให้ผู้คนหันไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม

เช่น หากไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะถูกกว่าน้ำมันเบนซินต่อกิโลเมตร ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็วในยุโรป, จีนและอเมริกา

หากปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั่นแหละ เราจึงพอจะเห็นสัญญาณราคาน้ำมันลดลงได้

หากผิดไปจากนี้ วิกฤตราคาน้ำมันก็จะยังประชิดติดเศรษฐกิจของเราอีกต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ