สงครามโควิดกำลังเข้าช่วง ‘พักรบ’?

ข่าวเกี่ยวกับโควิด-19 ช่วงนี้ต้องรับฟังและกลั่นกรองด้วยสติและข้อมูลอย่างระมัดระวัง เพราะถ้ารับรู้ข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปอาจจะเกิดความสับสนและงุนงงได้ง่าย

ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขบอกว่ากำลังตั้งเป้าการบริหารจัดการให้โรคระบาดนี้กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” ภายในปีนี้

ต่อมาผู้รู้ในวงการแพทย์บางคนตั้งคำถามว่า นิยามคำว่า “โรคประจำถิ่น” ว่าอย่างไร เพราะสายพันธุ์ Omicron ระบาดไปทั่วโลกแล้ว คงไม่กลายเป็นโรค “ประจำถิ่น” ได้ง่ายๆ

อาจจะกลายเป็น “โรคประจำฤดูกาล” ที่ไม่มีอาการรุนแรงเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ผ่านมา

แต่เกิดคำถามว่า ถ้าถอดโควิดออกจากโรคระบาดร้ายแรงแล้ว สิทธิของประชาชนในการได้วัคซีนและการรักษาฟรีจะถูกยกเลิกไปด้วยหรือไม่

ร้อนถึงกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาชี้แจงว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น และยังไม่มีการประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นในเร็วๆ นี้ เป็นเพียงการตั้งเกณฑ์เอาไว้เพื่อวางแผนให้บรรลุตามเป้าหมายนั้นเท่านั้น

เป็นจังหวะเดียวกับที่ตัวเลขคนติดเชื้อในประเทศวิ่งขึ้นเกินหมื่น 

ขณะที่อีกหลายประเทศในโลกก็รายงานตัวเลขคนติดเชื้อสูงขึ้นเช่นกัน

แต่อีกด้านหนึ่งหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปก็ประกาศว่าจะยกเลิกมาตรการควบคุมเข้มข้นส่วนใหญ่แล้ว

เพราะแม้ตัวเลขคนติดเชื้อจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนคนป่วยอาการหนักและเสียชีวิตก็เริ่มจะส่งสัญญาณขาลง

เป็นจังหวะเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยุโรปอาจอยู่ใกล้ช่วง "การหยุดยิง” (ceasefire) หรือ “พักรบ” หากเปรียบเป็นการทำสงครามกับโควิด-19 

และหากเป็นไปตามนั้น ก้าวต่อจากนั้นอาจจะถึงจุด “สันติภาพ” ที่ยาวนานก็ได้

ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก Hans Kluge ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำยุโรปบอกว่ามีปัจจัยที่ทำให้มีความหวังว่าสงครามกำลังจะใกล้สิ้นสุด คือสายพันธุ์ Omicron มีฤทธิ์ที่อ่อนลง

ตามมาด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่สูง และการสิ้นสุดฤดูหนาวที่ใกล้จะมาถึง 

ปัจจัยเหล่านี้เมื่อรวมกันเข้าก็อาจจะนำไปสู่ "การสงบศึกที่ยาวนาน” ได้

แต่ผู้บริหาร WHO คนนี้ย้ำว่า เขาไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่โดยสิ้นเชิง

แต่เขาเชื่อว่านี่เป็นจังหวะที่ให้ความหวังมากที่สุดตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดเป็นต้นมา

แต่ก็ย้ำว่าประเทศต่างๆ จะต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อไป

และต้องจับตาว่ามีการกลายพันธุ์ใหม่ที่น่ากังวลวันนี้และวันหน้าหรือไม่

เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายหรือยกเลิกข้อจำกัด Covid-19 โดยสิ้นเชิง 

รัฐบาลสวีเดนกำหนดให้วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่โรคระบาดใหญ่เข้าสู่ “ระยะใหม่” ในประเทศ 

โดยได้ยกเลิกข้อจำกัดหลายประการ

อีกทั้งผ่อนคลายหลายมาตรการ เช่น ไม่ต้องมีใบรับรองวัคซีน

และไม่บังคับให้ต้องใส่หน้ากากอนามัยในการเดินทางด้วยการขนส่งสาธารณะ

ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุโรปใหม่ๆ สวีเดนไม่ยอมสั่งล็อกดาวน์

ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตในประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียอยู่ที่ 16,000 รายนั้นสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของยุโรป 

แต่ก็สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์ ฟินแลนด์ และเดนมาร์กอย่างมาก

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โคเปนเฮเกนและนอร์เวย์เดินตามสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ด้วยการประกาศยกเลิกการจำกัดข้อจำกัดของ Covid-19 เกือบทั้งหมด 

วันรุ่งขึ้นฝรั่งเศสเริ่มผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง เพราะอัตราผู้ป่วยรายวันค่อยๆ ลดลง 

แต่เยอรมนียังมีความระแวดระวังพอสมควร

เพราะมีรายงานอัตราการติดเชื้อเป็นประวัติการณ์ 

และยังให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 สำหรับคนที่เข้าข่ายความเสี่ยงสูง

ในประเทศไทย อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์บอกว่าตัวเลขโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นไม่สำคัญเท่ากับจำนวนคนนอนป่วยและเสียชีวิต

คุณหมอบอกว่าการประเมินสถานการณ์ต้องไปพิจารณาตามเส้นกราฟแบบจำลองการคาดการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ 

โดยมีการคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงถึง 3 หมื่นราย 

แต่หลายวันที่ผ่านมา ตัวเลขติดเชื้อใหม่อยู่ที่เกินหมื่นมาเล็กน้อย

“อย่างที่ทราบกันดีว่า โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่ติดง่าย ตัวเลขจึงเป็นไปตามที่คาดการณ์ และอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ตามมาตรการต่างๆ” นพ.โอภาสกล่าว

นักข่าวถามว่าพอจะมีหลักเกณฑ์หรือข้อมูลเบื้องต้นให้ประชาชนสามารถวิเคราะห์ หรือพิจารณาเบื้องต้นเองได้หรือไม่ว่า สถานการณ์โควิดแนวโน้มจะน่ากังวลเมื่อไหร่ 

นพ.โอภาสกล่าวว่า ประการที่ 1 คือ จำนวนผู้ติดเชื้อ แต่ด้วยโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่แพร่งายแพร่เร็ว จึงต้องพิจารณาปัจจัยเรื่องผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิต

ประการที่ 2 การพิจารณาตัวเลขผู้ป่วยอาการหนัก เช่น ปอดอักเสบ มีโอกาสเสียชีวิต ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ กลุ่มนี้มีความเสี่ยงเชื้อลงปอด ทางเดินหายใจล้มเหลว  

และประการที่ 3 จำนวนผู้เสียชีวิต 

ตอนนี้ที่ตั้งเป้าให้ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตมีอัตราจำนวนน้อยที่สุด โดยตัวเลขติดเชื้อขณะนี้ยังไม่ค่อยกังวลมากนัก 

ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบประมาณกว่า 500 ราย และมีจำนวนผู้ใส่ท่อช่วยหายใจอีก ขณะที่เสียชีวิตประมาณ 20-30 ราย 

ซึ่งตัวเลขประมาณนี้เมื่อเทียบกับสัดส่วนผู้ติดเชื้อ ยังไม่ถึงเส้นกราฟสีแดง

“สิ่งสำคัญการป้องกันการติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้นยังต้องดำเนินการต่อเนื่อง

ซึ่งตอนนี้มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น คนก็เริ่มผ่อนคลาย มีการจัดงานเลี้ยง งานแต่ง งานบวช หรืองานศพ

ส่วนใหญ่การติดเชื้อจะพบในคลัสเตอร์เล็กๆ ซึ่งจะใกล้ชิดกัน และไม่สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งการรับประทานอาหารร่วมกันยังเป็นปัจจัยการติดเชื้อที่ต้องระวัง 

นพ.โอภาสยืนยันว่า ตัวเลขก็เป็นไปตามแบบจำลองสถานการณ์โควิด ซึ่งยังอยูในเส้นกราฟสีเขียว 

ความหวังคือตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไป สถานการณ์โควิดในไทยจะเข้าสู่ภาวะที่ควบคุมได้

ส่วนจะถึงจุดเป็น “โรคประจำถิ่น” หรือไม่ 

หรือจะเข้าสู่ช่วง “พักรบ” หรือไม่

ยังมีปัจจัยไม่แน่นอนที่ไม่มีใครทำนายอย่างมั่นใจได้แน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ